posttoday

โพสต์ทูเดย์ กระจกสะท้อนสังคม ในยุคดิจิตอล

07 กุมภาพันธ์ 2556

วันที่ 7 ก.พ. ปี พ.ศ. 2546 เป็นวันที่ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับปฐมฤกษ์เข้าสู่อ้อมกอดท่านผู้อ่านผู้มีอุปการคุณเป็นวันแรก

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 7 ก.พ. ปี พ.ศ. 2546 เป็นวันที่ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับปฐมฤกษ์เข้าสู่อ้อมกอดท่านผู้อ่านผู้มีอุปการคุณเป็นวันแรก นับถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปี เป็น 10 ปีที่ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เป็นกระจกสะท้อนสังคม เป็นปากเสียงให้ประชาชน เราภูมิใจที่ได้บำเพ็ญกิจเพื่อสาธารณชน

ด้วยสโลแกน หนังสือพิมพ์ธุรกิจที่ให้ความรู้สึกใหม่ โพสต์ทูเดย์ ได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการสื่อสารมวลชนในประเทศแบบไม่เคยมีมาก่อน เช่น ข่าวจบในหนึ่งหน้า ภาพข่าวที่ตื่นตา ข่าวของโพสต์ทูเดย์จึงกระชับ อ่านง่ายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวถึงปัจจุบัน

ก่อนจะคลอดเป็นรูปเป็นร่างในนามโพสต์ทูเดย์ ดังที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยจนเป็นเพื่อนคู่คิดถึงปัจจุบันนั้น คณะทีมงานที่ริเริ่มหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย แต่ทำงานกับ นสพ.บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำของประเทศ ได้แก่ พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการผู้อำนวยการ นสพ.บางกอกโพสต์ เป็นหัวหน้าโครงการ พัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ นสพ.บางกอกโพสต์ สมาน สุดโต ฯลฯ พร้อมกับทีมงานฝ่ายขายโฆษณาและฝ่ายผลิต ประชุมหารือเป็นเวลาเกือบ 1 ปีใน พ.ศ. 2545 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในเครือบางกอกโพสต์อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากเคยมีมาระยะหนึ่ง) หลังจากที่ประเทศฟื้นจากต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจเข้าสู่ยุครีฟอร์ม และนักธุรกิจกระหายข่าวสาร

เมื่อศึกษาอย่างรอบด้านได้คำตอบว่า การมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันเพิ่มอีกฉบับหนึ่ง เป็นการตอบโจทย์หลายเรื่องในยุคการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ที่สื่อค่ายต่างๆ มักมีสื่อคู่กัน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้า เพิ่มทางเลือกให้ผู้อ่านและผู้มีอุปการคุณ เพื่อชิงความได้เปรียบในการทำตลาด

ดังนั้น การมีสื่อในมือเพียงฉบับเดียว เช่น บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จึงถือว่าค่อนข้างเสี่ยง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เป็นยุคสื่อสารไร้พรมแดน เป็นยุคขยายตัวทางธุรกิจ ในขณะที่โลกหมุนไปเร็วและแคบลง จนเป็นที่กล่าวกันว่าผู้ที่รู้ข่าวสารก่อนย่อมได้เปรียบ จึงทำให้ประชาชนต้องการสื่อสารที่รวดเร็ว ทันสมัย เข้าใจง่าย เป็นคู่มือในการทำธุรกิจ และดำเนินชีวิตแต่ละวัน

เมื่อดูศักยภาพการผลิต บริษัท โพสต์ พับลิชชิง มีศักยภาพสูง พร้อมรองรับงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือบุคลากร ดังที่มีรายงานว่า แท่นพิมพ์ระบบใหม่ (ของบริษัท) ทำให้สามารถเพิ่มสีสันในการพิมพ์สิ่งพิมพ์ของบริษัทได้มากขึ้น ซึ่งความสามารถของแท่นพิมพ์ในตอนนั้นพิมพ์หนังสือพิมพ์ได้ 3 หมื่นฉบับต่อชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาปิดข่าวแต่ละวัน ถ้าปิดข่าวเร็ว จะพิมพ์ได้มากขึ้น)

เมื่อทุกฝ่ายเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องมีหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ เน้นคุณภาพ อ่านง่าย และทันสมัยในตลาด พวกเราจึงมองคู่แข่งว่ามีใครบ้าง พบว่ามีคู่แข่งไม่มาก และสามารถแข่งขันได้ เพราะเรามีปณิธานแน่วแน่ว่าจะเสนอความแตกต่าง และให้ผู้อ่านมากกว่า พร้อมทั้งมีบทวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อช่วยให้ผู้อ่านรู้เท่าทัน และกำหนดแนวรุกแนวรับได้ทันท่วงที

เมื่อกำหนดเข็มและแนวทางเป็นรูปธรรมดังนี้ จึงใช้ห้องหนึ่งที่อาคารชั้น 3 อาคารบางกอกโพสต์ ประชุมหาทีมงานมาทำหนังสือเศรษฐกิจฉบับใหม่ ตามแนวคิดที่กำหนดไว้ เมื่อได้บุคลากรจึงเริ่มทำฉบับทดลอง โดยใช้ชั้น 2 ของอาคารบางกอกโพสต์เป็นสำนักงานกองบรรณาธิการ และเป็นสำนักงานถาวรถึงปัจจุบัน

ส่วนชื่อหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ทางบริษัทตั้งรางวัลอย่างงาม ประกาศให้พนักงานใหม่ และพนักงาน นสพ.บางกอกโพสต์ เสนอ ในที่สุดเลือกได้ชื่อ โพสต์ทูเดย์ ผู้ที่คว้ารางวัลนี้ได้แก่ อุดม เหลืองสุขเจริญ หัวหน้า SubEditor ของโพสต์ทูเดย์ กับคณะ ในขณะที่โลโก้โพสต์ทูเดย์ ที่เป็นสัญลักษณ์หนังสือพิมพ์คุณภาพ สำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นฝีมือ วุฒิกร บูรณะนนท์ ผู้จัดการสิ่งพิมพ์พิเศษ

เรื่องที่น่าจดจำในช่วงที่ทำฉบับทดลองในเดือน ม.ค. 2546 เมื่อเกิดเรื่องระทึกใจคนไทยผู้รักชาติ ที่ชาวเขมรบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ดังที่ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 1 ฉบับทดลองที่ 20 วันพฤหัสบดีที่ 30 ม.ค. ปี พ.ศ. 2546 พาดหัวไม้ว่า เขมรเผาสถานทูตไทย เมื่อเกิดเหตุเลวร้ายระหว่างประเทศเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทางขึงขังมาก และในที่สุดได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศทันที

เมื่อเราออกฉบับจริง หรือฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2546 เราเสนอข่าวเอกซ์คลูซีฟ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่อง นโยบายเร่งด่วนทักษิณ รื้อใหญ่ที่ดินทั่วประเทศ เป็นข่าวเปิดตัว พร้อมกับข่าวอื่นๆ ที่แบ่งออกเป็น 5 เซ็กชัน สร้างความตื่นตาตื่นใจในวงการข่าวและผู้อ่านมาก

สังคมทูเดย์ ในหน้า 12 ฉบับปฐมฤกษ์ บรรเลงโดย อั๋นเอง บอกเล่าบรรยากาศการเปิดตัวหนังสือพิมพ์ในคืนวันที่ 6 ก.พ. ที่จัดขึ้นที่ เพลนนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าได้รับการต้อนรับจากสังคมทุกระดับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งมีทั้งนักการเมืองระดับคีย์แมน นักธุรกิจระดับหัวกะทิ และเอเยนซีต่างๆ แน่นห้องประชุม

ในช่วง 10 ปี โพสต์ทูเดย์ ทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนอย่างเต็มความสามารถ มิได้หยุดยั้งแม้จะเกิดภัยธรรมชาติ หรือความไม่สงบทางการเมือง แต่เราทำงานมากขึ้น เกาะติดข่าวในทุกมิติ โดยส่งทีมข่าวจากส่วนกลางลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลให้ครบทุกด้าน เช่น กรณีคลื่นยักษ์สึนามิ (26 ธ.ค. 2547) ส่งผลกระทบในพื้นที่ 9 จังหวัด เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินแบบที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ทีมข่าวเราอยู่กับผู้ประสบภัยทันทีเช่นกัน

ในช่วงดังกล่าว โพสต์ทูเดย์ มองรอบด้านถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงเสนอสกู๊ปข่าว นายทุนเข้าฮุบพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติ ทำให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้เข้ามาดูแลอย่างทันท่วงที ช่วยชาวบ้านพ้นทุกข์ ไม่ตกเป็นเหยื่อนายทุน

ในสถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ โพสต์ทูเดย์ ยังมุ่งมั่นรับใช้ผู้อ่านโดยไม่ท้อถอย แม้ว่าจะประสบปัญหาในการทำงานอย่างมาก เช่นในช่วงเกิดความวุ่นวายทางการเมือง (เริ่มเมื่อเดือน เม.ย. 2553) ถึงขนาดที่กระแสไฟฟ้าที่โพสต์ทูเดย์ถูกตัด ไม่สามารถทำงานได้ แต่ทางทีมงานได้ทุ่มเทความพยายามทำงานผ่านแสงเทียนไข และใช้ไฟฟ้าสำรองจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อเปิดคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่อง ทำให้เราสามารถปิดข่าวหนังสือพิมพ์ในวันดังกล่าวได้ 4 หน้า และส่งให้ท่านผู้อ่านได้เช่นเดิม และที่ต้องจารึกไว้ในช่วงดังกล่าวด้วย คือชีวิตนักข่าวและช่างภาพมีความเสี่ยงมากเมื่อลงพื้นที่ กองบรรณาธิการจึงจัดหาเสื้อเกราะและหมวกกันน็อคให้ใช้ เพื่อปลอดภัยไว้ก่อน

ในช่วงวิกฤตทางการเมืองเช่นกัน โพสต์ทูเดย์ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการสื่อ เมื่อเสนอบทบรรณาธิการที่หน้าหนึ่ง เพื่อแสดงจุดยืน และชี้ทางออกอย่างสันติให้แก่สังคม

เมื่อเกิดมหาอุทกภัย (ต.ค. 2554) บุคคลในกองบรรณาธิการของโพสต์ทูเดย์กว่าครึ่งที่ได้รับผลกระทบ เราได้แก้ปัญหาเพื่อให้พนักงานได้ทำงาน จึงดัดแปลงห้องประชุมให้เป็นห้องพักชั่วคราวของนักข่าว ช่างภาพ และพนักงานกองบรรณาธิการ ทุกคนจึงทำงานได้ตามปกติ ผู้อ่านจึงได้อ่านข่าวของเราทุกวัน

ในหน้าที่พสกนิกรชาวไทยที่มีความจงรักภักดี โพสต์ทูเดย์ ได้ตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เต็มพระองค์ที่หน้าหนึ่ง ในโอกาสเฉลิมฉลองในการพระราชพิธีต่างๆ เสมอ จนได้รับความชื่นชมจากทุกภาคส่วน

ตลอดเวลา 1 ทศวรรษ ข่าวโพสต์ทูเดย์ ได้รับการอ้างอิงตามสื่อวิทยุและทีวี ในช่วงดีเจเล่าข่าวตอนเช้า และประชาชนคนอ่านให้การสนับสนุนต่อเนื่อง เป็นกำลังใจแก่ทีมงานเป็นอย่างยิ่ง แต่เรามิได้หยุดนิ่ง และเพลิดเพลินกับสิ่งที่มีอยู่ หากแต่พัฒนารูปแบบและปรับปรุงเนื้อหาสาระเสมอ จึงเห็นหลายสิ่ง หลายคอลัมน์ เปลี่ยนหน้าตาไปตามกาลเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านเท่านั้น

เมื่อมีการพัฒนาตามลำดับ ทีมงานก็เพิ่มตามไปด้วย ในปีแรกเรามีบุคคลประจำกองบรรณาธิการเพียง 47 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 151 คน

มิใช่แต่เท่านั้น ผู้บริหารกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ พิสูจน์ให้เห็นว่ามีศักยภาพสูง เมื่อได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทโพสต์ พับลิชชิง เช่น แต่งตั้ง พัฒนพงศ์ จันทรานนทวงศ์ บรรณาธิการคนแรกของโพสต์ทูเดย์ ให้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ นสพ.บางกอกโพสต์ แต่งตั้ง ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการข่าว ให้มาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ แต่งตั้ง ภัทระ คำพิทักษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวการเมือง ให้มาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการข่าว และแต่งตั้ง มนตรี ปูชตรีรัตน์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ให้มาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ นสพ. M2F หนังสือพิมพ์ภาษาไทยน้องใหม่แจกฟรี ในเครือบางกอกโพสต์

ในวาระที่ย่างขึ้นปีที่ 11 นสพ.โพสต์ทูเดย์ ที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมทีมงานที่ทรงไว้ซึ่งอาชีวปฏิญญาณ จะยึดมั่นในจริยธรรม มุ่งมั่นที่จะรักษาเข็มของ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ให้เป็นกระจกสะท้อนสังคมในยุคดิจิตอลอย่างเที่ยงตรง แน่วแน่ จะไม่เอนเอียงเพราะอคติ ไม่ว่าประเทศนี้จะมีกี่สีก็ตาม แต่เรา โพสต์ทูเดย์ จะเป็นสี (ศรี) ของประชาชนตลอดไป

(เล่าโดย สมาน สุดโต ที่ปรึกษากองบรรณาธิการ วันที่ 31 ม.ค. 2556)