posttoday

Change Management สำหรับพนักงานต่างวัย ต่างใจ (ตอน1)

04 กุมภาพันธ์ 2556

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Change Management สำหรับพนักงานต่างวัย ต่างใจ (ตอน1)หากมองย้อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติกลับไปนับหลายพันปี จนถึงสมัยที่ไดโนเสาร์ยังเดินเล่นอยู่ในสวนหลังถ้ำ เราจะตระหนักได้เลยว่าสัตว์โลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หากปรับไม่ได้ก็ต้องสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์และสัตว์อีกหลายชนิดที่หาดูไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ส่วนมนุษย์เราที่อยู่ยงคงกระพันมาได้ ก็ผ่านการปรับตัวมาหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งโน้นแน่ะ จนเดี๋ยวนี้น้ำแข็งกำลังละลายหมดแล้ว

ดังนั้น หากมีใครลุกขึ้นมาพูดว่า คนเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกผู้เขียนจึงไม่ค่อยอยากจะเชื่อ ของอย่างนี้มันอยู่ที่ “ใจ” เสียมากกว่า หาก “ใจ” เห็นด้วยเป็นปฐม หาก “ใจ” อยากจะทำ เรื่องอื่นมันค่อยๆ ตามมาเอง แม้ว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวได้ไม่เท่ากัน มีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ไม่เท่ากันก็ตามที ซึ่งความจริงประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ประเด็นท้าทายความสามารถของผู้นำและผู้บริหารทั้งหลายก็คือ “ทำอย่างไรจึงจะจูงใจและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเชื่อว่า 1) การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องจำเป็น 2) พนักงานมีความรู้ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และ

3) ผู้บริหารทุกระดับทำตัวเป็นแบบอย่าง (Role Model) ที่ดีของการเปลี่ยนแปลงและพร้อมให้การสนับสนุนพนักงานในการเปลี่ยนแปลง (เช่น ให้ทรัพยากร มอบหมายอำนาจการตัดสินใจ ให้การฝึกอบรม เป็นต้น) จนบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้มีเพียง 3 ประเด็นที่ผู้บริหารต้องทำให้ได้ จึงจะ “ได้ใจ” พนักงาน แต่โดยมากมักทำไม่ค่อยได้ ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ คือ

1.ผู้บริหารขาดความเข้าใจถึงกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ประกอบด้วยมิติ 2 มิติ คือ มิติของการบริหารโครงสร้างหลักของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงการบริหารการเงิน การปฏิบัติการ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี กฎหมาย เป็นต้น อีกมิติหนึ่ง คือเรื่องของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นส่วนใหญ่ อันจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะในการสื่อสาร โน้มน้าวจิตใจ เจรจาต่อรอง บริหารการเมือง และแรงต่อต้านในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้บริหารมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงทำให้บริหารการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเจอทั้งแรงต่อต้านแบบเปิดเผยและแบบคลื่นใต้น้ำ

2.ผู้บริหารใจร้อนอยากเห็นผลเร็วๆ เลยเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีบริหารแบบ “สั่งการ” หรือ “สั่งจากบนสู่ล่าง” (TopDown Management) โดยไม่ค่อยเปิดหรือไม่เปิดโอกาสให้พนักงานให้ได้แสดงความเห็น ให้ข้อแนะนำ หรือถามข้อข้องใจ ทั้งๆ ที่พนักงานหลายคนมักรู้งานและเห็นปัญหาภาคสนามมากกว่าผู้บริหารที่วันๆ อยู่แต่ในหอคอยงาช้าง เป็นแบบนี้ก็มักจะล่มเสียกลางคัน

3.ผู้บริหารขาดจิตวิทยาและศิลปะในการทำความเข้าใจ ว่าในองค์กรนั้นประกอบด้วยคนต่างกลุ่ม ต่างระดับ ต่างวัย และต่างใจ การที่จะใช้วิธีบริหารแบบ “One Size Fits All” (ใช้วิธีการแบบเดียวกันกับทุกคน โดยคิดว่าทุกคนเหมือนกัน) ย่อมยากที่จะ “ได้ใจ” พนักงาน ยิ่งพนักงานบางกลุ่มรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งผลอันไม่น่าพึงปรารถนาสำหรับตัวเขา และแผนกของเขา พวกเขาจะรวมตัวกันต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และเผลอๆ อาจ “งัด” ผู้บริหารหลุดจากเก้าอี้ก็ได้

ยุคสมัยเปลี่ยนไป จะมาใช้วิธีเผด็จการแบบโต้งๆ หรือเผด็จการแบบเคลือบน้ำตาลโรยไอซิง พนักงานเขามีการศึกษาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้บริหาร เขาจึงรู้ทันผู้บริหาร ดังนั้นเราจงมาใช้วิธีที่นุ่มนวลโปร่งใสให้มากที่สุด และให้เกียรติพนักงานจะไม่ดีกว่าหรือคะ? สัปดาห์หน้าเรามาคุยกันต่อกันนะคะ ว่าจะบริหารพนักงานต่างวัย ต่างใจให้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไร จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด