posttoday

นักบริหารรุ่นใหม่แนวคิดบวก เสาวภาคย์ ถนอมศักดิ์กุล

24 ธันวาคม 2555

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ต้องการที่อยู่อาศัยที่สะท้อนความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง เสาวภาคย์ ถนอมศักดิ์กุล

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ต้องการที่อยู่อาศัยที่สะท้อนความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง เสาวภาคย์ ถนอมศักดิ์กุล

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ มัสท์ ดีเวลลอปเมนท์ จึงคิดทำโครงการ “Zenmura” บ้านจัดสรรย่านสมุทรปราการ โลเกชันน้ำไม่ท่วมใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งเป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเก๋และไม่เหมือนใคร กับบ้านที่ตกแต่งสไตล์สมัย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ จำนวน 89 ยูนิต เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งก่อนสร้างทำการวิจัยแล้วพบว่าเทรนด์การเลือกที่อยู่อาศัยของนักบริหารรุ่นใหม่คือชอบบ้านที่มีดีไซน์สวยและอยู่สบาย

บริษัท เอ มัสท์ฯ เกิดจากการรวมตัวของผู้บริหารรุ่นใหม่ 4 คน ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์นานกว่า 10 ปี นำจุดยืนของแต่ละคนมาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มองบ้านไม่ใช่เป็นเพียงที่อยู่อาศัย แต่เป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของชีวิต เธอจึงคิดสร้างบ้านภายใต้ปรัชญาของบริษัท คือประสบการณ์การใช้ชีวิตอย่างมีสุนทรียภาพ จุดนี้ทำให้เกิดจินตนาการความสุข ต่อไปคืองานดีไซน์ต้องมีความโดดเด่น แตกต่าง มีความเป็นยูนีกสูง สินค้าต้องดีและมีคุณภาพ และเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าไปแล้วต้องคุ้มค่าเหนือกาลเวลา จึงออกมาเป็นเซนมูรา

“แม้บริษัทเป็นน้องใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมผู้บริหารในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี จึงนำประสบการณ์ในแต่ละด้านมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์บ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์โมเดิร์นเซน ภายใต้แนวคิด เรื่องบ้านเราคิดให้ครบ เรื่องการใช้ชีวิตคุณเป็นคนกำหนด เนื่องจากเรามีความเชื่อว่า ความต้องการพื้นฐานของคนในการใช้ชีวิต ทุกคนต้องการสังคมในแบบของตนเอง ดังนั้นที่ Zenmura แห่งนี้จึงเป็นสังคมเล็กๆ ให้คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกันได้มาอยู่รวมกัน เข้ามาอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกสงบ เพราะบ้านเราจัดตามสมดุล คือ นิ่ง ง่าย เงียบ ชีวิตก็จะมีสมดุล เป็นมิติของงานสถาปัตยกรรม เน้นเส้นแนวตั้งกับแนวนอน เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เมื่อคนเราพักผ่อนอย่างมีความสุขในบ้านก็จะมีแรงไปทำงานนอกบ้าน”

กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ คือ คนรุ่นใหม่วัย 3035 ปี หน้าที่การงานมั่นคง ที่ชอบความเรียบง่าย สร้างพื้นที่ส่วนตัวให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยจริง พร้อมทั้งเปิดทุกมุมมองของบ้านให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสสวนรอบบ้าน นอกจากนี้การจัดวางผังบ้านยังคำนึงถึงพื้นที่และประโยชน์ใช้สอย แบ่งสัดส่วนของโซนสำหรับครอบครัวและโซนสำหรับรับแขกไว้อย่างลงตัว “กลุ่มลูกค้าของเราคือเจนเนอเรชันใหม่ บางคนเป็นเจ้าของโรงงานเหล็กแต่ชอบงานศิลปะ มีมัณฑนากรที่ชื่นชอบงานศิลปะ คือลูกค้าจะเป็นกลุ่มที่ชอบงานศิลปะ และมีความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง”

สำหรับแนวคิดในการทำงาน เสาวภาคย์ เป็นเจ้านายที่มีแนวคิดแง่บวกในการบริหารคน เธอมีความเชื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ทุกคนไม่มีใครอยากเกิดมาแล้วเป็นคนไม่ดี หากทำอะไรผิด ไม่ต้องกังวล ให้มองข้อผิดพลาดเป็นครูสอน ดังนั้นหากทำผิดให้ยอมรับ ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถเป็นครูซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือลูกน้องก็ต่างเป็นครูซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งทำงานต้องกล้าตัดสิน หากเกิดความผิดพลาดก็มาหาทางแก้ไข

“ความผิดพลาดอย่าซุกไว้ใต้พรม ต้องเอามาพูดคุยกัน ถ้าเราจะเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ เราอย่าสั่งอย่างเดียว พอเกิดความผิดพลาดก็ดุลูกน้อง เวลาที่เขาอยากได้คำแนะนำ ลูกน้องจะไม่กล้าเข้ามาหา ควรพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา ทำงานยังต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง ต้องให้เกียรติกัน หากเราให้เกียรติกันแสดงว่าเรามีเกียรติแล้ว ซึ่งการทำงานการให้เกียรติสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ”

ทำงานในระดับผู้บริหาร เสาวภาคย์ ยอมรับว่า ต้องมีความเครียดบ้าง แต่เธอพยายามทำจิตใจให้ผ่องแผ่ว คือพยายามไม่เครียด โดยเธอมีวิธีบริหารจิตใจตัวเอง คือ คิดบวกตลอดเวลา คิดเสมอว่าไม่มีใครอยากทำงานผิดพลาด อีกทั้งหากยึดหลักธรรมะและฝึกโยคะก็จะยิ่งช่วยทำให้จิตใจสงบ โดยเธอฝึกโยคะที่บ้าน ฝึกวันละ 2 วัน วันละ 2 ชั่วโมง ฝึกมา 1 ปีแล้ว พบว่ากล้ามเนื้อก็ยืดหยุ่นเบาสบายตัว

“ฝึกโยคะแล้วดีมาก ระบบขับถ่ายดีมากๆ ลดอาการปวดหัวจากการนั่งทำงานนาน ๆ” ผู้บริหารคิดบวกฝากทิ้งท้าย

5 แรงบันดาลใจทำงาน

คำสอนของพ่อ : คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันมาจากเมืองจีน ท่านจะสอนเรื่องความขยัน อดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู และอีกสิ่งที่สอนเรามาตลอด มี 3 ข้อ คือ ตื่นเช้าๆ แสดงถึงความขยันทำมาหาเลี้ยงชีพ สองคือกินดีอยู่ดี เราจะได้มีร่างกายแข็งแรงทำมาหาเลี้ยงชีพได้ สุดท้ายคือทำการค้า แม้คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ศึกษาสูง และท่านไม่ได้ให้วัตถุ แต่เป็นประสบการณ์ชีวิตให้ลูก พ่อแม่ขยันมากและจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ธรรมะ : การมองโลกแง่ดี คือหลักธรรมะข้อดี จงคิดทุกคำที่พูด แต่ไม่พูดทุกคำที่คิด ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งหาย เพราะการที่เราให้อะไรกับคน เราจะได้อะไรตอบกลับมามากมาย นั่นคือความสุขใจ เราเคยถามพระว่า คนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี แต่ทำไมเขาจึงได้รับการยอมรับจากสังคม อย่างนี้บาปบุญคุณโทษก็ไม่มีสิ ท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งเป็นพระที่ดิฉันนับถือก็ตอบว่า แสดงว่าเขายังมีกรรมดีอยู่ หลักการทำดีของคนคืออย่าเติมเกลือลงไปในตุ่มพฤติกรรมของเรา ให้เติมน้ำลงไปในตุ่มน้ำของเรา น้ำก็จะไม่เค็ม นั่นคือการมีน้ำใจกับผู้อื่น ตุ่มพฤติกรรมของแต่ละคนก็จะมีเค็มมากเค็มน้อย แต่เกลือก็ยังมีอยู่ ดังนั้นเวลาทำงานให้มีสติคิด

นาฬิกา : ความหมายของนาฬิกา คือเวลาซึ่งทุกคนมีเท่ากัน ทุกคนต้องบริหารจัดการให้ลงตัวกันเอง แต่ดิฉันมีความคิดว่าเข็มนาฬิกามีทั้งหมด 3 เข็ม แต่คนจะละเลยไม่ดูเข็มวินาที ดังนั้นคนเราอย่าทำงานจนเครียดมากเกินไป หมั่นดูแลตัวเอง และอย่าลืมดูแลครอบครัวของเราด้วย เวลาโกรธให้หายใจลึกๆ ยาวๆ เรียกว่าเป็นการฝึกสมาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องฝึกฝน

โทรศัพท์มือถือ : ชิ้นนี้ช่วยในการทำงาน ดิฉันรู้สึกทึ่งกับ สตีฟ จอบส์ มากๆ เขานับถือนิกายเซน การดีไซน์สินค้าของสตีฟก็ยึดถือตามหลักนิกายเซน คือ เรียบและง่าย ซึ่งงานออกแบบของสตีฟถือเป็นนวัตกรรมทางปัญญา ก่อนผลิตนวัตกรรมใดก็ตามสตีฟไม่ต้องทำวิจัย เพราะเขารู้ว่าลูกค้าอยากได้อะไร แต่ลูกค้าบอกไม่ได้ว่าอยากได้อะไร เขาจึงดีไซน์แกดเจ็ตออกมาเรียบง่ายมากๆ คล้ายนิกายเซน น้อยปุ่มแต่มีดีไซน์

หนังสือ : ปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต 87 ข้อ ของ ดร.เทียม โชควัฒนา ดิฉันจะเอาปรัชญาของ ดร.เทียม ไปเผยแพร่ให้ลูกน้องอ่านวันละข้อ ข้อที่ชอบคือ เร็ว ช้า หนัก เบา คือในการบริหารงาน เราต้องจัดความสำคัญก่อน อันไหนต้องทำเร่งด่วน บางจังหวะควรจะต้องมุ่งมั่นจริงจังกับงานไหน งานบางชิ้นเราไม่ต้องลงรายละเอียดมากก็ได้ หรือข้อคิดเรียนรู้สิ่งใดให้เรียนรู้จากคน เพราะเรื่องราวทุกอย่าง คนเป็นผู้สร้างขึ้น คนเป็นขุมทรัพย์ให้เราได้เรียนรู้ เป็นต้น