posttoday

ยอดช่างภาพสงครามเกาหลี เดวิด ดักลาส ดันแคน

05 ธันวาคม 2555

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กล้องไลก้า รุ่นเลกซัสโกลด์ ที่ออกมาในปี ค.ศ. 1929 แบบลิมิเต็ด เอดิชัน เพียง 95 ตัวเท่านั้น

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กล้องไลก้า รุ่นเลกซัสโกลด์ ที่ออกมาในปี ค.ศ. 1929 แบบลิมิเต็ด เอดิชัน เพียง 95 ตัวเท่านั้น

โดย...อฐิณป ลภณวุษ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กล้องไลก้า รุ่นเลกซัสโกลด์ ที่ออกมาในปี ค.ศ. 1929 แบบลิมิเต็ด เอดิชัน เพียง 95 ตัวเท่านั้น ระหว่างปี 1929–1931 อันเป็นสมบัติของ เดวิด ดักลาส ดันแคน ช่างภาพที่บุกเบิกภาพถ่ายแบบ photojournalist ให้ออกมาในโทนที่มากไปด้วยอารมณ์แบบล้นเหลือ ออกมาประมูลขายที่สถาบันประมูลในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ไปได้ในราคา 1.6 ล้านยูโร

ก่อนหน้านี้ กล้องไลก้า รุ่นโอซีรีส์ จากปี 1923 ของเขา ได้ทุบสถิติการประมูลกล้องเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้ประมูลกล้องที่ดูเหมือนใหม่แกะกล่องตัวนั้นไปในราคาถึง 2.16 ล้านยูโร

ทั้งสองตัวเป็น 2 ใน 4 กล้องไลก้า สมบัติส่วนตัวที่ใช้ทำมาหากินของ เดวิด ดักลาส ดันแคน ช่างภาพชาวอเมริกันที่ได้ชื่อมาจากภาพถ่ายบรรดาทหารหาญในสงครามเกาหลี ผลงานในครั้งนั้นที่ทำงานร่วมกับนิตยสาร Life ทำให้เขากลายเป็นช่างภาพผู้สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

ยอดช่างภาพสงครามเกาหลี เดวิด ดักลาส ดันแคน

 

เดวิด เกิดที่แคนซัส ซิตี รัฐมิสซูรี เมื่อ 23 ม.ค. 1916 ตั้งแต่วัยเด็กเขาสนใจกิจกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นพิเศษ ทำให้เด็กน้อยได้รับการเลื่อนชั้นจากอีเกิล สเกาต์ สู่ บอย สเกาต์ ได้ ตั้งแต่อายุยังน้อยมาก เขาเคยเล่าไว้ว่า ภาพสไลด์พรีเซนเทชัน ของนักล่าสัตว์และนักฟิสิกส์ ริชาร์ด แอล. ซัตตัน ที่นำมาฉายให้ดูในโรงเรียนประถมของแคนซัส เป็นสิ่งแรกที่ทำให้เขาหันมาสนใจการถ่ายภาพ และการเดินทางท่องโลก

ช่างภาพดังเข้าเรียนทางด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา เมืองทัคสัน รัฐแอริโซนา เป็นเวลาสั้นๆ ระหว่างนั้นเขาเริ่มจับกล้องเป็นช่างภาพสมัครเล่นด้วย ครั้งหนึ่งเดวิดสามารถจับภาพ จอห์น ดิลลิงเจอร์ โจรปล้นแบงก์ตัวเอ้ขณะกำลังพยายามหลบเข้าในโรงแรมแห่งหนึ่งได้โดยบังเอิญ โดยจอห์นนั้นถือกระเป๋าเจมส์บอนด์ใบใหญ่มาด้วย คาดว่าจะบรรจุเงินที่ปล้นมานั่นเอง แต่น่าแปลกมากที่เมื่อเขานำฟิล์มไปส่งให้ตำรวจ ฟิล์มที่เป็นหลักฐานชั้นดีกลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่ยังไม่เคยอัดเป็นภาพออกมาเลยด้วยซ้ำ

เดวิดย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไมอามี โดยจบเอกสัตววิทยาและภาษาสเปน ในปี 1938 ที่ไมอามีนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นการจริงจังเอาดีกับอาชีพช่างภาพหนังสือพิมพ์มากขึ้น โดยเขาได้ทำงานเป็นบรรณาธิการด้านภาพ และเป็นช่างภาพเองด้วยของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นเขายังเริ่มขายภาพให้หลายๆ สื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง The Kansas City Star รวมถึงสื่อดังๆ อย่างนิตยสาร Life และนิตยสาร National Geographic ด้วย

หลังเกิดเหตุการณ์ญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ เดวิดเข้าประจำการเป็นนาวิกโยธิน สหรัฐ และได้รับการบรรจุให้เป็นช่างภาพบันทึกเหตุการณ์รบ หลังการฝึกในแคลิฟอร์เนียและฮาวาย เขาถูกส่งไปแนวหน้าที่เซาท์แปซิฟิก เพื่อติดตามกองกำลังสหรัฐไปบันทึกภาพที่แนวหน้าของสงครามโลกครั้งที่ 2

ยอดช่างภาพสงครามเกาหลี เดวิด ดักลาส ดันแคน

 

การเป็นช่างภาพในสนามรบ ทำให้ต้องอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุปะทะมากที่สุด ที่เซาท์แปซิฟิกนั้นไม่ค่อยมีเหตุเผชิญหน้ามากสักเท่าไร กว่าจะรู้ว่าตอนประจำการที่เกาะบูเกนวิลล์ ในปาปัว นิวกีนี นั้น พวกเขากำลังต่อสู้อยู่กับญี่ปุ่นก็อาศัยระยะเวลาหนึ่งทีเดียว จากนั้นเขาถูกส่งไปบันทึกเหตุการณ์สู้รบในโอกินาว่า ซึ่งก็ใช้เวลาอีกไม่นานญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้สงคราม

ผลงานระหว่างรบของเดวิด น่าประทับใจจน เจ. อาร์. อายเยอร์แมน หัวหน้าช่างภาพนิตยสาร Life ขณะนั้นต้องรีบดึงตัวไปทีเดียว โดยเขาได้ร่วมงานกับ Life ในเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างการประกาศอิสรภาพของอินเดียจากสหราชอาณาจักร เหตุความขัดแย้งในตุรกี ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และตะวันออกกลาง

ทว่าผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของเดวิดอยู่ที่สงครามเกาหลี ที่นอกจากทำงานให้นิตยสาร Life แล้ว เขายังรวมเล่มผลงานภาพถ่ายที่เกาหลีไว้ในหนังสือ This Is War! (1951) ภาพชุดที่เน้นอารมณ์สุดแสนดรามา โดยเฉพาะการไปตามเก็บภาพของภริยาม่ายรวมทั้งลูกๆ ของบรรดานาวิกโยธินที่สูญเสียชีวิตในสงครามเกาหลีทั้งหลาย ช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ขึ้นสูงสุดของเดวิด ดักลาส ดันแคน ก็ว่าได้

มาถึงสงครามเวียดนาม เขาออกหนังสือรวมภาพถ่ายมา 2 เล่ม คือ I Protest! (1968) และ War Without Heroes (1970) โดยในสนามรบครั้งนั้นที่เวียดนาม เดวิดปรับการทำงานของตัวเองใหม่ ไปเป็นช่างภาพอิสระไม่เกาะติดและทำงานรับใช้กองทัพสหรัฐอย่างเป็นทางการอีกต่อไป

ยอดช่างภาพสงครามเกาหลี เดวิด ดักลาส ดันแคน

 

นอกจากภาพถ่ายสงคราม เดวิด ดักลาส ดันแคน ยังรู้จักกันดีในนามช่างภาพของ ปาโบล ปิกัสโซ โดยเขาได้รับการแนะนำจากเพื่อนร่วมอาชีพ อย่าง โรเบิร์ต คาปา เดวิดพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่าย ปาโบล ปิกัสโซ ออกมาถึง 7 เล่ม ซึ่งนอกจากเป็นช่างภาพส่วนตัวแล้ว เขายังสนิทสนมกับศิลปินคิวบิสม์ชาวสเปนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่เป็นคนเดียวที่จิตรกรดังยอมให้ถ่ายภาพเขียนส่วนตัวที่ศิลปินไม่ต้องการเผยแพร่มากมาย

Yankee Nomad (1966) หนังสือรวมภาพถ่ายที่เรียกได้ว่า เล่าเรื่องราวทั้งชีวิตของเดวิด ดักลาส ดันแคน ได้รับการตีพิพม์ใหม่อีกครั้ง ในชื่อ Photo Nomad (2003) ขณะที่ The World of Allah (1982) เป็นอีกเล่มที่น่าสนใจ กับผลงาน 10 ปีในตะวันออกกลางที่เขาทำงานให้กับนิตยสาร Life

ความฝันตั้งแต่ชั้นประถมเป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง...