posttoday

Roadside Thailand เรื่องสนุกริมทาง

03 ธันวาคม 2555

การเดินทางมักตามมาด้วยความสนุก และทุกๆ เส้นทางมักมีความสนุกเกิดขึ้นมากน้อยก็ว่ากันไป

การเดินทางมักตามมาด้วยความสนุก และทุกๆ เส้นทางมักมีความสนุกเกิดขึ้นมากน้อยก็ว่ากันไป

โดย...โจ เกียรติอาจิณ

การเดินทางมักตามมาด้วยความสนุก และทุกๆ เส้นทางมักมีความสนุกเกิดขึ้นมากน้อยก็ว่ากันไป

“ก้อย-กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์” พิสูจน์มาแล้ว ทั้งยังแบ่งปันความสนุกมาสู่คนอื่นๆ ผ่านตัวอักษรและภาพลายเส้น

“Roadside Thailand เรื่องริมทาง” คือผลผลิตนั้น

156 หน้า ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือยาวเป็นพืด สิ่งน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือการที่ก้อยเปลี่ยนตัวหนังสือให้มาอยู่ในรูปแบบภาพลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สลับไปมากับตัวหนังสือ หน้าเว้นหน้า หรืออาจจะสองสามหน้า แล้วก็ปรากฏเป็นภาพลายเส้น

“ถ้าดูดีๆ มันไม่สวยหรอกค่ะ”ก้อยบอก แต่ในน้ำเสียงนั้นออกจะถ่อมตัวอยู่ไม่น้อย “แล้วมันก็อาจจะผิดหลักของการวาดที่ถูกต้อง เพราะหนูไม่ได้เรียนจบมาด้านนี้โดยตรง อาศัยชอบและฝึกเอาเอง ก็เคยไปลงเรียนติวตอนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็เลิกไป เพราะมาเลือกเรียนภาษา” (เธอจบปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

Roadside Thailand เรื่องสนุกริมทาง

 

เรื่องราวริมทางที่ก้อยนำมาเล่า เกิดขึ้นบนรายทางที่เธอลงทุนดั้นด้นไปสัมผัสมากับตัว โดยแรงบันดาลใจสำคัญมาจากภาพยนตร์อินดี้ Desert Blue (ปี 1998 มอร์แกน เจ.ฟรีแมน กำกับ คริสตินา ริกซี, เคซี เอฟเฟล็ก แสดงนำ) ที่เธอประทับใจ ทำให้เธอปิ๊งไอเดียอยากเขียนหนังสือไปพร้อมๆ กับวาดรูป

บางคราเธอก็ยกแก๊งไปกับเพื่อนซี้ บ่อยครั้งบางเส้นทางนั้นเธอมีพ่อแม่เคียงกาย แต่ส่วนใหญ่เธอไปคนเดียว ลุยเดี่ยวตามสไตล์ผู้หญิงอารมณ์ศิลป์

“ว่าไปแล้วความเป็นผู้หญิงนี่แหละค่ะ คือข้อจำกัด คนก็จะงงๆ ว่าเป็นผู้หญิงมาทำอะไร แต่ก็ยังไม่เคยเจออะไรรุนแรง หรือเลวร้าย เพราะคนไทยน่ารัก อย่างมากก็ปฏิเสธแบบนวลนุ่ม หนูก็เกรงใจแล้วล่ะ โดยเฉพาะร้านอาหาร นั่งวาดรูปนานๆ ก็เกรงใจเจ้าของร้าน หนูก็เลยชอบไปที่สงบ คนพลุกพล่านน้อย จะได้มีเวลานั่งวาดนานๆ”

เหนือ ใต้ ออก ตะวันตกจรดตะวันออก ไปถึงอีสานบ้านเฮา ก้อยย่ำมาหมด จนได้สารพัดเรื่องเล่าริมทางที่หลายคนมองข้าม มองผ่าน บ้างก็มองว่าไร้สาระ ของใหญ่ไซส์บิ๊ก ร้านปะยาง ป้ายงานวัด มอเตอร์ไซค์ในซอก ถนนเย็บผ้า รถไฟฟรี งานกราฟฟิกชาวบ้าน

“พอหนูได้มีโอกาสลงพื้นที่ ไปเจอชาวบ้าน ก็เลยพบว่ามันมีเรื่องราวอีกมากมายและอีกหลายแง่มุมที่ทับซ้อนกันอยู่ ตอนแรกตั้งใจว่าจะทำเป็นธีมของใหญ่ในเมืองไทย เพราะหนูคิดว่ามันเยอะมากกกก ไปทางไหน จังหวัดไหนก็มี แต่ไปจริงๆ กลับเจอเรื่องคน หนังสือก็เลยมีทั้งเรื่องของใหญ่และเรื่องคน หลังจะออกดรามานิดๆ”

วิธีการถ่ายทอดเรื่องเล่า ก้อยใช้ภาษาที่ไม่ยาก อ่านสบาย อ่านเพลิน เพราะเธออยากให้เรื่องเล่าเป็นสารคดีที่ไม่หนักเกินไป ประหนึ่งกำลังนั่งฟังเธอเล่าข้างๆ หู ลีลาน่ารักน่าชังแม้จะไม่สวิงสวายชวนให้รู้สึกแซบหลาย (คล้ายนั่งโซ้ยส้มตำปูปลาร้า) ทว่า ทุกๆ เรื่องเล่าที่หลุดมาจากปากก้อย ก็สะท้อนวิธีคิดแบบคนมองโลกในแง่บวกได้ดี

ก่อนหน้าที่ก้อยจะมี “Roadside Thailand เรื่องริมทาง” (สำนักพิมพ์สปริงบุ๊คส์) เธอเคยประเดิมงานเขียนเล่มแรกชื่อ “ฟินแลนด์ บาย แฮนด์” (สำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน) รวมเรื่องราวและเรื่องเล่าสมัยที่เธอไปเรียนอยู่ฟินแลนด์ (ปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ สาขาดิจิตอล คัลเจอร์ มหาวิทยาลัยยูวาสกูลา) ขณะที่หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณกำลังถืออยู่ในมือ เธอตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องริมทางทั่วฟ้าเมืองไทย เน้นสนุก อ่านเอาฮา แต่ว่ารื่นรมย์ไปกับนานาเรื่องเล่าและภาพลายเส้น

“คนไทยมีความเป็นศิลปินสูงมาก มีคนเก่งอยู่เยอะ หนูว่าเป็นเมืองแห่งศิลปินจริงๆ เลยละค่ะ บางทีอาจจะซ่อนตัวอยู่ในมุมที่เรามองไม่เห็น ทั้งๆ ที่ก็อยู่ริมทางนั่นล่ะ แต่คนมองข้ามก็เลยไม่เห็นความเป็นศิลปินคนเหล่านั้น”