posttoday

ใช้ให้ล้ำกว่าเทคโนโลยี ใจ โกวินดานี

08 พฤศจิกายน 2555

ก้าวแรกที่เราเข้าสู่ห้องทำงานของ ใจ โกวินดานี (Jai Govindani) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Zodio.com

โดย...โยธิน อยู่จงดี

ก้าวแรกที่เราเข้าสู่ห้องทำงานของ ใจ โกวินดานี (Jai Govindani) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Zodio.com บริษัทผู้ผลิตแอพพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์นั้น เหมือนกับหลุดเข้ามาอยู่ในโลกภาพยนตร์ไซไฟที่เต็มไปด้วยจอมอนิเตอร์ คุณใจหันมายิ้มเล็กๆ ด้วยรู้ว่าเราคงไม่ใช่คนแรกที่รู้สึกประหลาดใจกับห้องทำงานของเขา ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงบอกกับเราว่า จอทั้งหมดเป็นจอมอนิเตอร์สำหรับทำงานทั้งหมด 2 จอบนสำหรับดูข่าวสารที่ต้องติดตาม จอที่เหลือเป็นจอสำหรับทำงานและดูความคืบหน้าของโปรเจกต์ต่างๆ เท่านั้นยังไม่พอ รอบตัวของใจยังเต็มไปด้วยแกดเจ็ตต่างๆ อีกหลายชิ้น ตั้งแต่ไอโฟน 3 เอส ไปจนถึงไอโฟน 5 รุ่นล่าสุด ไอแพดและแกดเจ็ตหน้าตาแปลกอีกหลายชิ้น

“ผมจำเป็นต้องใช้แกดเจ็ตหลายๆ อย่าง เพราะเราต้องทำงานเกี่ยวกับด้านนี้โดยตรง เพราะเราต้องเขียนแอพพลิเคชันสำหรับไอโฟนและแอนดรอยด์ ซึ่งเราจะต้องรันโปรแกรมได้ตั้งแต่ไอโฟน 3 เอส ไปจนถึงไอโฟน 5 ซึ่งผมต้องติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดว่าทำงานอย่างไร และเราจะเอาประโยชน์ตรงนั้นมาประยุกต์ใช้กับเราอะไรได้บ้าง” ใจ เล่าถึงความจำเป็นในการใช้แกดเจ็ตของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความชอบตั้งแต่สมัยเด็กๆ

คอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่พ่อเขาซื้อให้ไม่ถึงหนึ่งเดือน เขาแกะเครื่องในออกทุกชิ้น เอามาวางกองไว้กับพื้นแล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ เขามีความรู้สึกลึกๆ ว่าคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ สั่งให้ทำอะไรก็ทำได้ เอาไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งเราน่าจะได้ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าการเข้าเว็บหรือทำอะไรได้มากมายกว่านั้น ใจจึงตัดสินใจเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ด้านการออกแบบโปรแกรม แล้วเขาก็สามารถออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้อย่างที่เขาเคยนึกฝันไว้

แต่ในโลกความเป็นจริง เขารู้ตัวดีว่าหากเรียนคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวจะทำงานในโลกความเป็นจริงได้ยาก จึงตัดสินใจเรียนวิชาธุรกิจเป็นวิชาเสริม ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจแล้ว ยังทำให้เขาเป็นคนที่พูดภาษาคอมพ์ให้คนอื่นเข้าใจได้

“คนที่เรียนคอมพิวเตอร์มาส่วนใหญ่มักจะพูดภาษาคนปกติไม่ค่อยเป็น ทำให้มีปัญหาในโลกของการทำงานค่อนข้างมาก คือลูกค้าที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เก่ง ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนเทคนิคเชียลก็แก้ปัญหาเป็นอย่างเดียว แต่ไม่สามารถอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจหรือรับฟังปัญหาของลูกค้าได้

ใช้ให้ล้ำกว่าเทคโนโลยี ใจ โกวินดานี

 

สุดท้ายก็คือ คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ ปัญหาการใช้งานโปรแกรมต่างๆ ในองค์กรจึงเกิดขึ้น ไอทีก็อยากได้เซิร์ฟเวอร์แรงๆ แต่ฝ่ายธุรกิจก็อยากรู้ความจำเป็นว่าเขาต้องจำเป็นขนาดไหน สุดท้ายมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าไอทีเรารู้ความต้องการของลูกค้า จับจุดลูกค้าถูกและรู้จักแก้ไขให้โปรแกรมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตรงความต้องการเขามากขึ้น ธุรกิจก็จะพัฒนาร่วมกันไปได้ไกล” ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงปัญหาการทำงานของคนไอทีในทางธุรกิจ แต่ตัวเขาเองก็ประสบความสำเร็จในการจับจุดความต้องการของลูกค้าที่ชอบเดินทาง ค้นหาข้อมูลร้านค้าในที่ต่างๆ ด้วยการเปิดเว็บไซต์โซดิโอดอตคอมด้วยตัวเขาเอง

ในแต่ละวันของใจนั้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยห่างจากแกดเจ็ตต่างๆ เลย เขาเล่าติดตลกปนให้เทคนิคการใช้งานแกดเจ็ตกับเรานิดๆ ว่า เราต้องพยายามใช้ไอทีเข้ามาช่วยในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เริ่มตั้งแต่เช้ามาก็เปิดเช็กอีเมลก่อนเป็นอันดับแรก วันหนึ่งจะมีอีเมลเข้ามาหาเยอะมากประมาณ 4-5 ร้อยเมลต่อวัน ซึ่งต้องตั้งฟิลเตอร์กรองความสำคัญของอีเมลออก เช่น ส่งมาจากเพื่อนร่วมงาน คนสนิท หรือเมลที่เกี่ยวกับงานก็จะมีความสำคัญที่เราต้องอ่าน แต่ถ้าอะไรที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ความสำคัญและกวาดสายตาไปแล้วไม่น่าสนใจ เราก็จะลบทิ้งออกไป

ออกจากบ้านมาก็จะเชื่อมเครื่องไอแพดกับเครื่องที่ทำงานและที่บ้านผ่านโปรแกรมรีโมตเดสก์ท็อป เสมือนหนึ่งเราได้เดินทางมาถึงที่ทำงานแล้วทั้งๆ ที่ตัวเองกำลังเดินทางอยู่ เราสามารถรีโมตหน้าจอควบคุมเครื่องที่ออฟฟิศเพื่อดูการเขียนโปรแกรมและงานต่างๆ ที่ต้องใช้เครื่องออฟฟิศทำงาน หากลูกค้าต้องการไฟล์ขนาดใหญ่ด่วน ผมก็สามารถรีโมตเข้าเครื่องที่ทำงานและส่งไฟล์นั้นให้กับลูกค้าทางอีเมลหรือโยนเข้าดร็อปบ็อกซ์ได้เลยทันที ซึ่งความเร็วที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับอินเทอร์เน็ตที่บ้านและที่ทำงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องไอแพดที่ผมใช้ ผมสามารถสั่งให้เครื่องรันโปรแกรมหรือตั้งเวลาในการประมวลผลรอได้เลยก่อนที่ตัวผมจะเดินเข้าถึงที่ห้องทำงาน ทำให้ผมประหยัดเวลาทำงานลงไปได้มากและนี่คือการทำงานแบบในโลกออนไลน์จริงๆ โดยที่ตัวเราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่เราสามารถทำงานได้เหมือนกับนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานของตัวเอง

“ผมมองว่าเทคโนโลยีมีหน้าที่เสริมชีวิตเราในอนาคต แต่วันข้างหน้าเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากเหมือนปัจจุบัน เพราะมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมยุคใหม่ โดยไม่รู้สึกว่านี่คือเทคโนโลยี แต่เราจะไปโฟกัสเรื่องการสื่อสาร เรื่องคอนเทนต์กันมากกว่า ในวันนั้นทุกเช้าเมื่อเราพูดคำว่า เปิดอ่านข่าว เราจะไม่ได้ยึดติดกับคำว่าหนังสือพิมพ์หรืออ่านบนไอแพด หรือบนแพลตฟอร์มอื่นๆ เราจะดูแค่ว่าเราอ่านข่าวเท่านั้น และผมเชื่อว่าอนาคตเราจะใช้เทคโนโลยีจนเป็นเรื่องปกติ” ใจ เผยถึงมุมมองเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและอนาคตที่เราจะไม่ได้ยึดติดกับอุปกรณ์ใดๆ อีกต่อไป

ทำให้เรารู้ว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่อยู่ที่เนื้อหาและประโยชน์ในการใช้งานมากกว่า ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีได้เต็มประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน