posttoday

‘โกอินเตอร์’ เส้นทางดีไซเนอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก

24 ตุลาคม 2555

การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดโลกดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ความุมานะผสานแรงกดดันเป็นแรงผลัก

โดย...มีนา

การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดโลกดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ความุมานะผสานแรงกดดันเป็นแรงผลัก แบรนด์ไทยของคนรุ่นใหม่ที่ทำได้แล้ว 2 แบรนด์ ได้แก่ “Kloset Red Carpet” ของสาวนักการตลาด มลลิกา เรืองกฤตยา และแอกเซสซอรีกระเป๋าแบรนด์ “Boyy Bag” ของ วรรณศิริ คงมั่น กับนักออกแบบชาวอเมริกัน เจสซี ดอร์ซีย์ ที่เป็นที่รู้จักของผู้คนในแวดวงแฟชั่นและดาราฮอลลีวูดใช้กัน

ลองไปดูเส้นทางของพวกเธอว่ามีแนวคิดการบริหารแบรนด์อย่างไรให้ผงาดบนเวทีระดับโลกได้!

‘บอยย์ แบค’ ไม่ง่ายที่จะโกอินเตอร์

‘โกอินเตอร์’ เส้นทางดีไซเนอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก

 

กระเป๋าแบรนด์ไทยที่ก้าวขึ้นสู่ความเป็นอินเตอร์ขนาดเหล่าคนดังฮอลลีวูดยังอดใจไม่ไหวใช้กระเป๋าของพวกเขา อาทิ โคลเอ เซวิญญี ถือกระเป๋า Frank รุ่นที่ 2 นิโคล ริชชี ซาราห์ เจสสิกา ปาร์กเกอร์ และลู ดัวยง แฟชั่นไอคอนตัวยง ฯลฯ วรรณศิริ คงมั่น เริ่มเล่าถึงการสร้างแบรนด์ที่เกิดจากความหลงรักในกระเป๋า 6 ปีผ่านไปกลายเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงาน 5 คน และมีผู้คนจากทั่วโลกออร์เดอร์กระเป๋าผ่านเว็บไซต์ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะกระเป๋ารุ่น Slash ต่อให้รอนานแค่ไหนก็จะรอ

“บอยย์ เริ่มทำกระเป๋าและจดทะเบียนบริษัทที่นิวยอร์ก การทำแบรนด์ให้ก้าวสู่อินเตอร์จึงทำได้ง่ายกว่าแบรนด์ไทยอื่นๆ ที่มีบริษัทแม่อยู่เมืองไทย ฝันแรกที่ทำกระเป๋า คือ ไม่อยากมีช็อปของตัวเอง แค่อยากให้กระเป๋าบอยย์ไปขายได้ทั่วโลก เปิดช็อปเมืองไทยไม่เคยคิด เพราะยุค 6 ปีที่แล้วคนไทยไม่เปิดรับกระเป๋าแบรนด์ที่เขาไม่รู้จักอย่างซุปเปอร์แบรน์ แต่ตลาดเมืองนอกจะเปิดรับกับแบรนด์ใหม่ๆ มากกว่า หากเป็นการดีไซน์และการเลือกวัสดุที่ดีและเป็นตลาดที่กว้างมาก เมืองนอกเปิดรับยังดีไซเนอร์และแบรนด์ใหม่ๆ เพราะเป็นสิ่งตื่นเต้นสำหรับเขา”

เรียกว่าทำแบรนด์เริ่มต้นจากไม่มีเงินลงทุน แต่จะผลิตกระเป๋าแต่ละคอลเลกชันเพื่อมาโชว์ 1 เซตต้องใช้เงิน เธอจึงออกแนวคิดออกแบบกระเป๋าล็อตแรกเสร็จ เธอนำไปให้เพื่อนๆ ญาติๆ สั่งซื้อแล้วเก็บเงินก่อน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนในการทำกระเป๋าและทำคอลเลกชันนำเสนอตามช็อปต่างๆ ในนิวยอร์ก ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นเธอรุกการตลาดด้วยการเดินเข้าหาแมกกาซีนแฟชั่นของนิวยอร์ก หากบรรณาธิการชอบก็จะแนะนำต่อให้ห้างหรือร้านดังๆ จากจุดนั้นบอยก็ขยายช่องทางการจำหน่ายด้วยการทำเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าเมื่อเห็นกระเป๋าแล้วชอบ สามารถติดต่อซื้อผ่านเว็บไซต์ของบอยย์ ขอเข้ามาชมกระเป๋าของเธอ

‘โกอินเตอร์’ เส้นทางดีไซเนอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก

 

จุดเปลี่ยนของแบรนด์ เมื่อ “บอยย์ แบค” ได้ลงเซ็กชัน “ซันเดย์” ของนิวยอร์กไทมส์ นำภาพกระเป๋าของเธอไปลง และฉบับเดียวกันยังจัดอันดับให้ติด 1 ใน 7 ของดีไซเนอร์หน้าใหม่ ใน T Magazine ของนิวยอร์กไทมส์ เพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่เกิดในนิวยอร์ก รวมไปถึงดาราฮอลลีวูดเมื่อใช้กระเป๋าของเธอก็มีปาปาราซซีแอบถ่ายภาพแล้วนำมาลงแมกกาซีน จึงเหมือนจุดกระแสความนิยมให้เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ บอยย์ แบค มีโชว์รูมทั้งที่นิวยอร์กและปารีส และกำลังขยายโชว์รูมไปที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และกำลังจะขยายไลน์สินค้าออกไปเป็นแอกเซสซอรี เช่น แว่นกันแดด ผลิตที่อิตาลี ขนเฟอร์ หมวก และเสื้อยืดที่ฮอตไม่แพ้กระเป๋า

“บายเออร์จากเดนมาร์กมาดูกระเป๋าบอยย์ที่ปารีสแล้วก็สั่งซื้อเยอะมาก หลายร้านแย่งกัน ถ้าขายร้านนี้ห้ามไปวางขายร้านนู้น จนบอยแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็รู้ว่ามีนางแบบดังมากชาวเดนมาร์กชื่อ ฟรีญา ถือกระเป๋า Slash และมีสื่อถ่ายภาพเธอไปลงแมกกาซีน ลงแฟชั่นบล็อก จน Slash กลายเป็นกระเป๋าที่ฮิตฮอตมากในโคเปนเฮเกน ขายดีมา 3 ซีซันแล้ว ปีหน้าเราจะไปทำป๊อปอัพสโตร์ที่โคเปนเฮเกน ปัจจุบันกระเป๋า Slash ยังเป็นรุ่นที่ทำขายไม่ทัน ลูกค้าลงชื่อแล้วรอนาน 1 เดือน แต่ลูกค้ายินดีรอ”

อย่างไรก็ดี วรรณศิริ บอกว่า การสร้างแบรนด์ถือเป็นเรื่องยาก หนึ่งคือทุนน้อย จึงต้องเรียนรู้ระบบธุรกิจทุกวัน

“การทำแบรนด์สื่อมีอิทธิพลเยอะมาก จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้มากขึ้น อย่างนิวยอร์กไทมส์ก็มีอิทธิพลต่อแฟชั่นไปทั่วโลก ถือว่าโชคดี อีกทั้งทำแบรนด์ต้องมีเงินทุน เพราะการทำแบรนด์โกอินเตอร์ใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น การเดินทางไปรอบโลกเพื่อโชว์คอลเลกชัน มีโชว์รูมเพื่อโชว์สินค้า ก็ต้องมีค่าเช่าตลอดปีซึ่งแพงมาก ต้องมีเงินลงทุนทำกระเป๋าคอลเลกชันส่งไปโชว์ที่นิวยอร์ก 1 เซต จำนวน 20 ใบ 2 สีต่อแบบเพื่อโชว์ที่นิวยอร์ก อีก 1 เซต 20 ใบ ส่งไปโชว์ที่ปารีส ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนบาท ทั้งค่าขนส่ง ค่าภาษี ทุกอย่างต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุนทั้งหมด”

‘โกอินเตอร์’ เส้นทางดีไซเนอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก

 

ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่เมื่อมีความฝัน ต้องขยัน อดทน และมีสายป่านยาว

“ยุคนี้เจ้าของแบรนด์ต้องจ้างสไตลิสต์ให้เชียร์ให้เซเลบและดาราฮอลลีวูดที่เขาดูแลการแต่งกายถือหรือใส่เสื้อผ้าของเรา อีกทางก็ต้องส่งสินค้าให้บรรณาธิการแมกกาซีนใหญ่ ๆ ลองใช้ของเราไม่พอ เผลอๆ ยังต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ลงด้วย ทำการตลาดทุกอย่างเป็นธุรกิจไปหมด ยุคนี้ต้องทำสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้เอง เช่น กระจายภาพสินค้าไปทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ก็เป็นอีกช่องทางทำการตลาดหนึ่งที่ทำได้ด้วยตัวเองและน่าสนใจ”

‘Kloset Red Carpet’ สร้างสรรค์แบรนด์ให้อยู่ในกระแสเสมอ

ปัจจุบัน “โคลเซท เรด คาร์เปท” แบรนด์ไทยเจาะตลาดอินเตอร์ มีจำหน่ายแล้วใน 16 ประเทศ และมีลูกค้ากว่า 40 รายทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส อเมริกา อิตาลี และทางแถบเอเชีย เช่น ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ ยังไม่นับรวมแฟนพันธุ์แท้ชาวไทยที่คลั่งไคล้แบรนด์โคลเซท หากไม่มีงบมากนักในการซื้อเสื้อผ้า ขอให้มีผ้าพันคอลายปรินท์เก๋ๆ ของโคลเซทก็พอ จนเกิดเป็นกระแส “ผ้าพันคอโคลเซท” ฟีเวอร์ วางจำหน่ายปุ๊บหมดปั๊บ ไม่นับรวมกระแสการก๊อบปี้ทั้งแบบและเนื้อผ้าขายเกลื่อนตลาดแฟชั่นเมืองไทย กระแสต่างๆ ล้วนการันตีถึงความนิยมถึงขีดสุด

กว่าจะได้รับความนิยมดังเช่นทุกวันนี้ มลลิกา เรืองกฤตยา กรรมการผู้จัดการบริษัท โคลเซท ดีไซน์ ต้องใช้เวลาสร้างแบรนด์นานถึง 10 ปี มลลิกา เล่านึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งเป็นเพียงร้านขายเสื้อผ้าเล็กๆ ในสยามสแควร์ เขยิบเข้าห้างเพื่อประกาศสู่แฟชั่นงานฝีมือที่ประณีต

“สิ่งที่ทำให้เราได้รับความนิยม เพราะเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ไทยยังไม่มีผู้สร้างแบรนด์ที่เป็นเจเนอเรชันใหม่ เราขึ้นห้างอย่างเซน เพราะอยากให้คนรับรู้และจับตามองว่าเราสร้างแบรนด์อย่างจริงจังด้วยการทำแฟชั่นแค็ตตาล็อก” เซตแรกจำนวน 1,000 เล่ม มูลค่า 4.5 แสนบาท ซึ่งทางการวางแผนการตลาดแล้วถือเป็นมาร์เก็ตติงคอร์สที่น่าลงทุน พอวางแค็ตตาล็อกไปปรากฏว่าได้ผลเกินคาด นิสิตนักศึกษาถือแค็ตตาล็อกมาซื้อของในร้าน คนรู้และเริ่มพูดถึง เริ่มรู้จักแบรนด์ สู่การมียอดขายที่ก้าวกระโดด

‘โกอินเตอร์’ เส้นทางดีไซเนอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก

 

ช็อปแรกสู่ช็อปที่ 2 ที่เกษร พลาซ่า เพื่อทำให้ชาวต่างชาติรู้จักแบรนด์และยอมรับแบรนด์ไทย จากนั้นเราเปิดช็อปที่เอ็มโพเรียม เซ็นทรัล ชิดลม เสื้อผ้าเราขายดีมาก จากที่เรานำผ้าทั่วๆ ไปที่มีในตลาดมาตัดเย็บ เราเริ่มพัฒนาแบรนด์ด้วยการออกแบบและพิมพ์ลายผ้าของเราเอง เพราะเจอปัญหาก๊อบปี้แบรนด์ ประกอบกับได้ฟีดแบ็กจากลูกค้า เห็นลายผ้าเหมือนกันที่แบรนด์อื่น ถูกกว่าแบรนด์เราตั้งเยอะ เราเลยลงทุนสร้างออกแบบลายผ้าของตัวเอง เมื่อต้นทุนการผลิตสูงจากเสื้อผ้าชุดละ 2,000 บาท ต้องเพิ่มเป็น 4,000 บาท ลูกค้าก็ยังเยอะ และเรามีที่ยืนที่ชัดเจน”

การเกาะติดกระแสความต้องการของลูกค้าตลอด 10 ปี คือ ทุกๆ 1 อาทิตย์ เธอกำหนดให้ทีมออกแบบต้องไปอยู่หน้าร้านเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าลูกค้าชอบหรือต้องการอะไร จนเกิดเป็นไลน์ผลิตผ้าพันคอ ซึ่งขายดีมากๆ เพราะแก้มมีหลักง่ายๆ ในการออกแบบ คือ เมื่อออกสินค้ามาแล้วต้องขายได้ ไลน์ผ้าพันคอเกิดจากเสื้อผ้าของเธอมีราคาที่สูง จนกลุ่มนิสิตนักศึกษาไม่มีกำลังซื้อ เธอจึงออกแบบผ้าพันคอลายเฉพาะโคลเซท เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า และกำหนดราคาอยู่ที่ 890 บาท ซึ่งเด็กๆ จับต้องได้ ดีมานด์เริ่มเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ คนมีลายที่ 1 อยากมีลายที่ 2 จนกลายเป็นของสะสม

“เราผลิตผ้าพันคอจาก 200 ผืน เพิ่มเป็น 400 ผืน พยายามไม่ผลิตมากกว่านี้ จนคนเมาท์ว่าที่ผลิตออกมาน้อยๆ เพื่อสร้างกระแสให้คนแย่งกัน แต่จริงๆ แล้วความต้องการคนเพิ่มมากเป็นทวีคูณต่างหาก ที่เราไม่อยากผลิตเยอะเพื่อรักษาภาพลักษณ์ ไม่ใช่ว่าเข้ามาซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ เราต้องสร้างความพิเศษให้แบรนด์ ต่อมาเราทำไลน์เครื่องเขียน เช่น กล่องดินสอ ยางลบ สมุดโน้ต ร่ม กระเป๋าผ้า ซึ่งขายดีเหมือนกัน”

หัวใจหลักของการสร้างแบรนด์ มลลิกา บอกว่า อยู่ตรงต้องมีการ “แสดงตัว” และมี “เอกลักษณ์” แบรนด์ที่ชัดเจน และพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะแฟชั่นมี “อิน” และ “เอาต์” แต่จะทำอย่างไรให้แบรนด์อยู่ในกระแสได้ตลอดเวลา “เดิมสไตล์โคลเซทเป็นผู้หญิงที่หวานมากๆ ระยะหลังแฟชั่นเปลี่ยนนิยมลุคมัสคิวลีน แต่เราก็ยังคงออกแบบหญิงสาวสไตล์สาวหวาน 30% อีก 30% ตามเทรนด์ และอีก 30% คงความเป็นแบรนด์เอาไว้”

วิธีผลักดันสู่งานอินเตอร์ มลลิกา ใช้วิธีออกงานแฟร์ เพราะการเปิดตลาดออกสู่เมืองนอกเองเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะนักออกแบบชาวเอเชียจะประสบความสำเร็จโดยมีเบสการผลิตอยู่ประเทศตนเองเป็นเรื่องยาก หากมีหน้าร้านเป็นของตัวเองต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างไรก็ดี เธอกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ไปขยายตลาดที่ออสเตรเลียเร็วๆ นี้

สำหรับนักออกแบบหน้าใหม่ๆ ที่อยากประสบความสำเร็จเหมือนโคลเซท มลลิกา แนะนำก็คือ ต้องชอบและทุ่มเทกับสิ่งที่รักจริงๆ และต้องเชื่อในศักยภาพของการสร้างสรรค์ และรักที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา “แก้มคิดว่านักออกแบบรุ่นใหม่ๆ โชคดีกว่ารุ่นแก้ม ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์การสร้างแบรนด์ในยุค 10 ปีที่แล้ว ยุคนี้คนยอมรับเสื้อผ้าแบรนด์ไทยมากขึ้นแล้ว”