posttoday

กฤษณ์ จันทโนทก ชีวิตนี้ต้องไม่ขาดทุน

23 ตุลาคม 2555

ผมพยายามจำกัดข้อด้อยของตัวเอง ด้วยการหาสิ่งอื่นมาทดแทน เพราะผมเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จ

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

“ผมพยายามจำกัดข้อด้อยของตัวเอง ด้วยการหาสิ่งอื่นมาทดแทน เพราะผมเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากตัวเอง 50% จังหวะโอกาสอีก 50% ในส่วนตัวผมเอง ผมทำเต็มร้อย แต่จังหวะโอกาสบางครั้งก็ต้องสร้างเงื่อนไขขึ้นมา เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ไม่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา”

คริส-กฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝากและการลงทุน และการประกันภัยธนพัทธ์ ดูแลและรับผิดชอบการบริหารงานด้านเงินฝาก การลงทุน และประกันภัยธนพัทธ์ ซึ่งมีฐานลูกค้ามากกว่า 5 ล้านราย และด้านบริหาร Exclusive Banking ซึ่งมีลูกค้ากว่า 1.5 หมื่นราย และมีพื้นที่ให้บริการ 19 แห่ง หนุ่มหล่อวัย 37 ปี เอ่ยประโยคธรรมดาแต่ฟังแล้วกินใจนี้ในระหว่างการสนทนาเพื่อทำความรู้จักอีกมุมหนึ่งของผู้บริหารหนุ่มที่ต้องบอกว่า ก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จในอาชีพไวกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันอยู่หลายก้าว

หนุ่มนักธนาคาร บอกว่า ตั้งแต่เด็กไม่ได้ตั้งเป้าว่าตัวเองจะต้องทำงานสายไหน เพียงแต่มีเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้ว่า ภายในอายุเท่าไรต้องสามารถประสบความสำเร็จได้ถึงระดับไหน แต่มีเป้าหมายในใจว่าโตขึ้นคงเป็นนักธุรกิจแน่ๆ ซึ่งในที่สุดจังหวะชีวิตก็นำพาให้ชีวิตมาอยู่ในวงการธนาคาร

“ตั้งแต่เรียนมัธยม เพื่อนที่สนิทจะรู้ เพราะเราจะบอกเพื่อนว่าเราอยากจะถึงจุดมุ่งหมายในเรื่องอะไรบ้าง พอเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยเราก็เริ่มตั้งเป้าชัดขึ้นว่า อายุสัก 25 ก็อยากเป็นผู้จัดการฝ่าย สัก 30 อยากเป็นรองผู้อำนวยการ ซึ่งแม้จะคุยกันกับเพื่อนเล่นๆ แต่ผมก็มีความตั้งใจจริงแฝงอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็โชคดีที่ผู้ใหญ่ให้โอกาส และทำได้ตามเป้าหมาย”

ย้อนกลับไปวันวาน คริสมองว่าตัวเองไม่เหมือนเด็กทั่วไป เพราะแม้จะเล่นเตะฟุตบอลตามประสา แต่ไม่ได้ชอบดูฟุตบอล ติดเกมกด ชอบอ่านการ์ตูน แต่เวลาที่เหลือกลับไปทุ่มอยู่กับงานอดิเรก อย่างการสะสมสิ่งของเป็นหลัก ซึ่งตอนเด็กๆ อาจจะไม่ได้มีเงินมากมาย ดังนั้นการจะสะสมอะไรต้องคิดว่า ถ้าอยากจะได้ชิ้นนี้ต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งมันเป็นการฝึกนิสัยการคิดวางแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการในตัวเองโดยไม่รู้ตัว

กฤษณ์ จันทโนทก ชีวิตนี้ต้องไม่ขาดทุน

 

จากจุดเริ่มต้นในตอนเด็กที่เริ่มจากเหรียญและแสตมป์ ไม่แน่เชื่อว่าที่สุดแล้วงานอดิเรกนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของหนุ่มคริสอย่างไม่น่าเชื่อ คริสเริ่มต้นเล่าถึงของสะสมที่มีว่า เริ่มจากแสตมป์ เหรียญ จนพอถึงจุดหนึ่ง ตอนนั้นน่าจะช่วง ป.6 หันมาชอบนาฬิกาอย่างจริงจัง ถึงขั้นทำเป็นธุรกิจอาชีพ ก็เลยขายเหรียญ แสตมป์ ที่มีจนหมดเกลี้ยง

“ถามว่าทำไมถึงชอบนาฬิกา ผมก็ไม่รู้นะ แต่จากคำอธิบายของคุณแม่ (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า) ท่านบอกว่าตอนเด็กๆ ที่ผมยังคลานอยู่ คุณตามักจะเอานาฬิกาพกมาล่อให้ผมเดิน ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลให้ผมรู้สึกผูกพันกับนาฬิกาก็เป็นได้”

ช่วงแรกที่สะสมนาฬิกาตอนเด็กๆ ก็ยังเป็นพวกสวอตช์ คาสิโอ พอมัธยมก็ขยับมาเป็นแท็ค ฮอยเออร์ ซึ่งพอขยับดีกรีแบรนด์ให้สูงขึ้น หมายความว่า ก็ต้องมีเงินมากขึ้นด้วย จากจุดนี้เองเลยทำให้คริสก้าวเข้าสู่วงการขายนาฬิกาตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ด้วยการนำนาฬิกากับของเก่าจากพ่อค้าที่สนิทมาขายเอากำไรต่ออีกทอดหนึ่ง หรือที่เรียกว่าจับเสือมือเปล่า จุดนี้เองทำให้เด็กชายคนหนึ่งเริ่มมีรายได้ และคอนเนกชันในการขายของ

“ผมถือคติ ซื้อมาแล้วต้องไม่ขาดทุน หรืออย่างน้อยที่สุดกำไรใส่ก็ยังดี ช่วงที่ผมมีนาฬิกาเยอะที่สุด น่าจะเป็นช่วงปี 2003 นาฬิกาโบราณมี 50 กว่าเรือน ถ้าเป็นแนวโมเดิร์น มี 30 กว่าเรือน แต่ตอนนี้มีเก็บเฉพาะที่ชอบจริงๆ อย่างสไตล์โมเดิร์นเหลือ 9-10 เรือน แนววินเทจ 20 เรือน”

อีกสิ่งที่สะท้อนความเป็นนักลงทุนตัวจริง คือ ในช่วงที่ขายนาฬิกานั้น หนุ่มคริสก็หันมาสะสมของเก่าไปด้วย เพราะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่ชอบนาฬิกามือสองน่าจะมีความชอบเรื่องของเก่าด้วย ดังนั้น การนำสินค้าสองชิ้นไปเสนอขายในเวลาเดียวกัน แง่หนึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า อีกแง่หนึ่งในฐานะพ่อค้าก็เป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว

ส่วนอีกหนึ่งของสะสมที่เจ้าตัวรักมากๆ คือ รถโบราณ มอเตอร์ไซค์โบราณ และซูเปอร์ไบค์ อันหลังสุดนั้น เจ้าตัวบอกว่าหลงรักในเสน่ห์ของมันมาก จนทุกวันนี้แทบจะไม่ขับรถยนต์เลย แต่ไม่ใช่เพราะคลั่งความเร็ว แต่เพราะมันมีเสน่ห์สามารถตอบโจทย์หนุ่มคริสในหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่ของสะสม อีกอย่างทุกครั้งที่ขึ้นขี่ซูเปอร์ไบค์ เหมือนเป็นการฝึกสมาธิ และระบายความเครียด

“ปกติด้วยงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารจะมีความเครียดสะสมอยู่ค่อนข้างมาก บางอย่างอยากทำทำไม่ได้ บางครั้งอยู่บ้านดูทีวี ยังคิดตลอดเวลา แต่เวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ความคิดตรงนั้นจะไม่มี และมีไม่ได้ เพราะสมาธิต้องอยู่ที่การขี่ เพราะด้วยสภาพคือสองล้อ ปัจจัยเสี่ยงแวดล้อมเยอะมาก มันทำให้ความเครียดในการทำงานทั้งหมดอยู่กับตัวเราไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูว่างานอดิเรกวันว่างของหนุ่มคริสจะดูชวนยุ่งมากกว่าผ่อนคลาย แต่เจ้าตัวยืนยันว่า ถ้าไม่มีงานอดิเรกเหล่านี้คงยิ่งเครียด ที่สำคัญงานอดิเรกที่ทำอยู่ยังล้อกับวินัยในการทำงาน ซึ่งตอนนี้ดูแลอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เงินฝาก การลงทุน ประกัน และแผนกกรุงศรี เอกซ์คลูซีฟ ซึ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าที่มาใช้ธุรกรรมกับธนาคาร ดังนั้น ถ้าในฐานะหัวหน้าสายงาน ไม่มีการวางแผนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง ก็คงไม่สามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า และธนาคารได้เช่นกัน

สำหรับก้าวต่อไปของผู้บริหารหนุ่ม หนุ่มคริสยอมรับว่า ที่ผ่านมาชอบตั้งเป้าให้ตัวเองตลอด แต่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่าก้าวต่อไปควรเป็นอย่างไรเหมือนกัน เพราะตอนนี้รู้สึกว่าสิ่งที่อยากได้ อยากมี อยากทำ ได้ทำมาค่อนข้างเยอะแล้ว ชีวิตเดินมาถึงจุดที่เริ่มสบายตัวในการทำงานมากกว่าแต่ก่อน ไม่ต้องรู้สึกกดดันให้ตัวเองประสบความสำเร็จมากไปกว่านี้ เรียกว่าเป็นช่วงมีความสุขกับสิ่งที่เป็น

“ถ้าในอนาคต โอกาสในองค์กรมีมากขึ้น ให้ได้เรียนรู้มากขึ้น ผมก็ยินดีจะทำ แต่ถ้าถามว่าต้องเป็นซีอีโอมั้ย ไม่ได้ตั้งเป้าขนาดนั้น ขอแค่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก ได้ทำงานที่สร้างความแตกต่างได้ มีความสุขแล้ว