posttoday

คลิมต์ สตูดิโอ เปิดประตูอีกครั้ง

10 ตุลาคม 2555

บรรยากาศในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสโตรฮังกาเรียน ซึ่งเคยอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีคลาสสิก

โดย...อฐิณป ลภณวุษ

บรรยากาศในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสโตรฮังกาเรียน ซึ่งเคยอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของดนตรีคลาสสิก ทว่าเพลงวอลตซ์อันเลื่องลือก็ยังต้องกลายเป็นท่วงทำนองที่ฮัมคลอเบาๆ เนื่องเพราะ กุสตาฟ คลิมต์ ได้ละเลงสีสันและลีลาของศิลปะสไตล์อาร์ตนูโว หรือที่เรียกกันว่า Belle Epoque ให้สั่นคลอนไปทั่ววงการ

โลกแห่งศิลป์ที่เคยหมุนรอบกรุงปารีสและกรุงลอนดอน ต้องถอยกลับมายังกรุงเวียนนา เมื่อมีเขาคนนี้

กุสตาฟ เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 1862 ในโบการ์เทน ใกล้กรุงเวียนนา เขาเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนทั้งหมด 7 คน ของช่างแกะสลักผู้ยากจน แอร์นส์ พี่ชายของกุสตาฟ น่าจะเติบโตเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ได้พอๆ กับเขา หากไม่รีบร้อนด่วนตายไปเสียก่อน ในขณะที่น้องชายของเขาคนหนึ่งชื่อว่า จอร์จ คลิมต์ ก็เป็นประติมากร นักแกะสลักไม้ และนักออกแบบที่มีฝีมือ

ความสามารถทางด้านศิลปะของกุสตาฟโดดเด่นมาก จนต้องผลักดันให้เข้าโรงเรียนศิลปะและการพาณิชย์ ที่กรุงเวียนนา และก็ไม่ต้องผิดหวัง เพราะเขากลายเป็น 1 ใน 3 หัวกะทิของรุ่น คู่กับแอร์นส์ พี่ชาย และฟรันซ์ มักซ์

คลิมต์ สตูดิโอ เปิดประตูอีกครั้ง

 

คำพูดจากบทละครของ ฟรีดริกซ์ ชิลเลอร์... “ถ้างานศิลปะของคุณไม่อาจจะสร้างความพึงใจให้กับทุกคน ขอให้มีเพียงบางคนที่ชอบก็พอ การต้องเอาใจทุกคนเป็นเรื่องแย่” กลายเป็นการประกาศตัวเองว่า กุสตาฟ จะไม่สร้างงานศิลปะออกมาเอาใจใคร เขาแทบเหมือนกับ เอล เกรโก เดอะกรีก แห่งโตเลโด ที่ไม่ต้องอิงกับการเคลื่อนไหวทางศิลปะใดๆ แต่กำหนดสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง

ระหว่างปี 1912-1918 อันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิต เขาได้ไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ ชานกรุงเวียนนา เพื่ออาศัยอยู่และใช้เป็นสตูดิโอในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เรียกว่า คลิมต์ วิลลา ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางสวนป่าไม้ดอกไม้ผลรกครึ้ม

หลังจากกุสตาฟเสียชีวิตในปี 1918 บ้านหลังดังกล่าวก็ถูกปล่อยให้รกร้าง ราวกับถอดแบบมาจากเทพนิยายเรื่อง Tale of the Sleeping Beauty

ในปี 1998 กลุ่มคลิมต์ โซไซตี พยายามรวมตัวกันใหม่อีกครั้ง และจากการตามหาผลงานของยอดศิลปินก็พบว่า มีเพียงวิลลาน้อยในสวนป่าแห่งนี้ คือ แห่งเดียวที่ยังมีความเป็นสตูดิโอเหลืออยู่ และสามารถใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิตของ กุสตาฟ คลิมต์ ได้เป็นอย่างดี

หลังค้นพบวิลลาสตูดิโอหลังสุดท้าย กลุ่มกุสตาฟ คลิมต์ เมโมเรียล โซไซตี ก็ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1999 เพื่อที่จะเป็นการยืนยันว่า สตูดิโอของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งออสเตรียจะได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ กลุ่มฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการยื่นเรื่องของบประมาณจากรัฐบาลมาบูรณะสตูดิโอแห่งสุดท้ายของศิลปินถึง 2 ล้านยูโร ในปี 2001

คลิมต์ สตูดิโอ เปิดประตูอีกครั้ง

 

โชคดีอีกอย่างก็คือ แม้สตูดิโอจะถูกทิ้งร้างมานาน แต่ก็มีหลักฐานทั้งภาพวาดและข้อเขียนจากลูกค้า รวมถึงศิลปินที่ใกล้ชิดกับกุสตาฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรกรชาติเดียวกันผู้บูชากุสตาฟ คลิมต์ ประหนึ่งบิดาของตัวเองอย่าง เอกอน ชีเล ที่ต่อสู้ตั้งแต่ยุคนู้นว่า ต้องมีการอนุรักษ์สตูดิโอแห่งสุดท้ายนี้เอาไว้ เอกสารบรรยายรายละเอียด พร้อมภาพสเกตช์จากเอกอน จึงมีอยู่อย่างละเอียดยิบ

นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายของโมริตซ์ นาหร์ ที่บริจาคให้หอสมุดแห่งชาติออสเตรียไว้ตั้งแต่ปี 1943 ที่มีภาพมุมต่างๆ ของวิลลาในสวนป่าหลากหลายมุม จากปี 1915 สามารถนำมาอ้างอิงได้อย่างสบายๆ ยังไม่รวมภาพถ่ายส่วนตัวของศิลปินเองที่เก็บเอาไว้ในบ้าน ที่ล้วนแล้วแต่มีคุณค่ายิ่ง ณ วันนี้

และแล้วทั้งโครงสร้างอาคาร การตกแต่งภายในใหม่โดยยึดรูปแบบคล้ายๆ เดิมไว้ แม้แต่อ่างอาบน้ำก็ใช้ของเดิม ส่วนพรมปูพื้นก็พยายามหาให้เหมือนที่สุด รวมถึงภาพถ่ายสำคัญๆ ยังคงอยู่ครบถ้วน โดยเปิดให้ชมครั้งแรกอย่างเป็นทางการหลังจากที่ กุสตาฟ คลิมต์ เสียชีวิตไปร่วมร้อยปี เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานี่เอง

วิลลาเล็กๆ ชานกรุงเวียนนา ที่ตอนนี้เรียกได้เต็มปากว่าเป็น คลิมต์ สตูดิโอ ประกอบด้วย 7 ห้อง วิลลามีทางเข้าได้ 2 ทางที่มาอาจทะลุถึงกันได้ ทางหนึ่งสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ต้องการมาจ้างวาดภาพ ส่วนอีกทาง (ลับมาก) สงวนไว้สำหรับนางแบบลับเฉพาะของกุสตาฟ โดยมีห้องลับเฉพาะพร้อมห้องน้ำและครัวแยกต่างหากด้วย

ถ้าใครจะไปเยี่ยมชมคลิมต์ สตูดิโอ ในวันนี้เดินเข้าประตูใหญ่เข้าไปจะพบห้องเล็กๆ 2 ห้อง จัดแสดงไว้ด้วยโครงกระดูกคู่หนึ่ง ซึ่งคนที่ศึกษางานของกุสตาฟ คลิมต์มาโดยตลอดก็จะเห็นมีปรากฏในชิ้นงานของเขา อย่าง Death and Life (ปี 1910/1915) นอกจากนี้ยังมีตู้ขนาดใหญ่จัดแสดงของสะสมประเภทผ้าลวดลายแปลกๆ จากเอเชีย ซึ่งก็มีอิทธิพลต่องานจิตรกรรมชื่อดังของเขาหลายๆ ชิ้น ตั้งแต่ The Kiss รวมทั้งภาพพอร์เทรตหญิงสาวอีกมากมาย

คลิมต์ สตูดิโอ เปิดประตูอีกครั้ง

 

ใน 2 ห้องเล็กๆ นี้ ยังบรรจุไว้ด้วยภาพเขียนจีนแบบดั้งเดิม ภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น ชุดซามูไร พร้อมชุดเกราะ ประติมากรรมจากแอฟริกา จัดแสดงคู่เคียงกับเฟอร์นิเจอร์สุดหรู ผลงานของโยเซฟ ฮอฟฟ์มันน์ ทั้งโต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ และโคมไฟติดเพดานในห้องหนึ่ง ส่วนอีกห้องมีโต๊ะตัวเล็กตั้งประกบเก้าอี้พนักสูง ซึ่งมีหลักฐานว่าเคยตั้งอยู่ในสตูดิโอวาดรูปของศิลปิน พอมาจัดแสดงในห้องนี้ก็เข้ากันได้ดีกับเก้าอี้สตูลสไตล์แอฟริกัน และสิ่งของสุดแปลกตาจากแอฟริกาและเอเชียได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับภาพ The Lady with a Fan (1917) และ The Bride (1917/ยังเขียนไม่เสร็จ) ที่จัดแสดงอยู่ในห้องด้วย

เป้าหมายสำคัญของการบูรณะ คลิมต์ สตูดิโอ ก็คือ การจัดแสดงงานที่เป็นสุดยอดของกุสตาฟ คลิมต์ รวมทั้งภาพถ่ายและสมบัติชิ้นสำคัญๆ ที่จะบ่งบอกความเป็นตัวเขาให้ได้มากที่สุด นอกจากซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่เดิม รวมทั้งสั่งทำใหม่จากโรงงานบักเฮาเซน รวมทั้งพรมก็สั่งจากกล็อกเคนโบลม (ทั้งสองเป็นมรดกจากฮอฟฟ์มันน์)

ทางคณะทำงานไม่ลังเลที่จะสั่งวาดภาพเลียนแบบ (รีโปรดักชัน) ภาพเขียนชิ้นสำคัญที่หายไปอีกหลายชิ้น และนำมาจัดแสดงท่ามกลางบรรยากาศแบบเดิมๆ ของวิลลาสตูดิโอกลางสวนป่า

มีโอกาสแวะไปกรุงเวียนนา ย่อมคุ้มค่าที่จะไปเยี่ยมชม ที่ 11/15a, 1130 Vienna ถ้ายังไม่ได้ไป เข้าไปชมคอลเลกชันภาพเขียนก่อนที่ www.klimt.at