posttoday

อ่านได้ อ่านดี ทั่วไทย ก่อนไปอาเซียน

08 ตุลาคม 2555

อ่านได้ อ่านดี ทั่วไทย ก่อนไปอาเซียนสถิติการอ่านหนังสือล่าสุดของไทย...ตอนนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีการอ่านมากที่สุด 89.3%

โดย...นกขุนทอง

สถิติการอ่านหนังสือล่าสุดของไทย...ตอนนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีการอ่านมากที่สุด 89.3% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด 62.8% โดยผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือเฉลี่ย 35 นาทีต่อวันต่อคน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 40-41 นาทีต่อวันต่อคน มากกว่าวัยทำงานและผู้สูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 31-32 นาทีต่อวันต่อคน

สรุปว่าการอ่านของเด็กไทยกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองกรุง แต่ทว่าผู้ใหญ่คนโตยังต้องการผลักดันให้เด็กไทยก้าวสู่อาเซียนโดยไม่ด้อยกว่าเด็กจากประเทศอื่น คำถามจึงตกอยู่ที่ว่าจะเป็นไปได้หรือ... แล้วจะมีวิธีการผลักดันอย่างไร

กุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เปิดเผยว่า เด็กไทยมีอัตราการอ่านหนังสือลดลง ปัจจุบันเฉลี่ยเด็กไทยอ่านหนังสือเพียง 2-5 เล่มต่อปี ซึ่งแตกต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่มีอัตราการอ่านหนังสือประมาณ 60 เล่มต่อปี

“ปัญหาหลักของการอ่านหนังสือน้อยของคนไทย เพราะพฤติกรรมการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้การอ่านของคนในชนบทน่าเป็นห่วงมากกว่าสังคมเมือง ดังนั้นโจทย์การอ่านทั่วไทยถือเป็นโจทย์ที่ดีมากในการสร้างโอกาสให้แก่คนในชนบทมากขึ้นเพราะขาดโอกาส

อ่านได้ อ่านดี ทั่วไทย ก่อนไปอาเซียน

 

ทำอย่างไรวัฒนธรรมการอ่านจึงจะไปอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขาได้ ไม่ใช่รอให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นหรือมีการศึกษาสูงขึ้นก่อน แต่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้ประชาชนเห็นว่าการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพเขาอย่างไร ถ้าเขาตระหนักว่าองค์ความรู้ที่ได้จากการอ่านมีอิทธิพลต่อชีวิต ก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการอ่านหนังสือ อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ตอบโจทย์ชนชั้นกลางยังมีน้อย ทั้งในแง่ของเนื้อหาและราคาที่คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงได้”

วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราการอ่านกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยอาจได้เปรียบหลายประเทศที่มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำ อย่าง ลาว พม่า กัมพูชา แต่เราก็เสียเปรียบหลายประเทศเช่นกัน

“โดยเฉพาะเด็กไทยในปัจจุบันแม้จะเรียนจบปริญญาตรี ก็ไม่สามารถอ่านจับประเด็นและขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมถึงทักษะด้านการใช้ภาษา ซึ่งจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบบัณฑิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐจึงควรเร่งควรหาวิธีเพิ่มทักษะต่างๆ เหล่านี้”

จากการดำเนินจัดกิจกรรมสัปดาห์หนังสือในส่วนภูมิภาค ทำให้ทราบว่าเหตุที่การอ่านในภูมิภาคต่างๆ ไม่เติบโตเช่นในส่วนกลาง เกิดจากหนังสือเข้าไปไม่ถึงผู้อ่านมากกว่าความไม่อยากอ่าน

หากมีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการอ่านทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศชาติมั่นคงและเข้มแข็ง แข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนได้

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-28 ต.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงมีแนวคิดหลัก คือ “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี” เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความแตกต่างในพฤติกรรมของสังคมไทย ว่ามีความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาอย่างทั่วถึง

กิจกรรมไฮไลต์ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ มีการเพิ่มพื้นที่บูธขึ้นในบริเวณ “ฮอลล์เอจ๋า น้ำยอมแพ้” โดยหลายสำนักพิมพ์ลดราคาพิเศษในโซนนี้โดยเฉพาะ มีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือจากนักเขียนชื่อดัง นิทรรศการเกี่ยวกับโครงการหนังสือพระตำหนักดอยตุง “มองบ้านเพดานดาว” โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

นิทรรศการ “หนังสือไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก” จัดแสดงหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ในประเทศไทยที่ได้ขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ และ นิทรรศการภาพประกอบ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่นักวาดภาพประกอบชื่อดังและดาวรุ่งในเมืองไทยได้ร่วมกันแสดงงานภาพประกอบกว่า 200 ภาพบนกำแพงยาว เป็นอาทิ

นอกจากนี้ ยังสานต่อโครงการดีๆ อย่าง “PUBAT Charity ปันกันอ่าน แบ่งกันให้” ให้โอกาสทางการอ่านแก่ผู้ที่ขาดโอกาส และปีนี้มีความพิเศษคือ บริเวณบันไดทางขึ้นระหว่างโซน C1 และโซน C2 ขึ้นเป็นครั้งแรก จะมีทั้งการถ่ายรูป การจำหน่ายของขวัญ อาทิ ถ้วยกาแฟ เสื้อยืดลายน่ารัก

รายได้ทั้งหมดนั้นจะนำเข้าโครงการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อทำกิจกรรมสาธารณกุศลเกี่ยวกับการอ่านต่อไป