posttoday

ผลงานยอดเยี่ยม รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด 2555

24 กันยายน 2555

เพิ่งจะผ่านพ้นมาหมาดๆ สำหรับการตัดสินรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ 13 ประจำปี 2555 ซึ่งปีนี้รางวัลยอดเยี่ยมผลงานประเภท “เรื่องสั้น”

โดย...นกขุนทอง

เพิ่งจะผ่านพ้นมาหมาดๆ สำหรับการตัดสินรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ 13 ประจำปี 2555 ซึ่งปีนี้รางวัลยอดเยี่ยมผลงานประเภท “เรื่องสั้น” ได้แก่เรื่อง “ชายชราเบาหวาน” โดย “ชินรัตน์ สายอุ่นใจ” “กวีนิพนธ์” ได้แก่ “หัวใจไดโนเสาร์” โดย “จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี” “วรรณกรรมเยาวชน” ได้แก่ “เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก” โดย “ลินดา โกมลารชุน”

ส่วนอีก 3 ประเภทไม่มีเรื่องใดได้รับรางวัล คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “หนังสือภาพสำหรับเด็ก” ที่เข้ารอบนั้น ดีและสนุก แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร “สารคดี” แม้ภาพรวมของเนื้อหาจะดูโดดเด่น ชวนอ่าน ทว่าก็มีข้อด้อย อาทิ การลำดับเรื่อง เอกภาพของเรื่อง แม้แต่มุมมองการเขียนเรื่อง บางเรื่องไม่อาจมั่นใจได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ที่สำคัญคือคุณค่าสาระของความเป็นสารคดียังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน และ “นวนิยาย” ผลงานแสดงถึงความอุตสาหะ ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ประพันธ์ รวมทั้งความน่าสนใจในประเด็นที่นำเสนอ หากแต่ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายส่วน และขาดความสมบูรณ์ในองค์รวมของนวนิยาย

สำหรับงานวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง “เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก” นับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการตัดสินมีมติเป็นเอกฉันท์อย่างสอดคล้องตรงกัน ตั้งแต่มีการตัดสินการประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด โดยคณะกรรมการลงความเห็นว่า ...วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นหน้าต่างเปิดโลกกว้างให้เยาวชนผู้อ่านได้แลเห็นตัวละครผู้เป็นต้นแบบด้านการคิดทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น การมีใจเสียสละอย่างบริสุทธิ์ของผู้เป็นผู้นำที่ต้องคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง เพราะความรับผิดชอบในฐานะผู้นำไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือคนอื่น แต่เป็นผู้รับใช้และทำงานหนักกว่าคนอื่น...

ผลงานยอดเยี่ยม รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด 2555

 

“ลินดา โกมลารชุน” ได้เปิดใจหลังรับรางวัลยอดเยี่ยมว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก เพราะตั้งใจเขียนเรื่องนี้เพื่อส่งเข้าประกวดรางวัลนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเธอใช้เวลาเขียนอยู่นานถึง 4 ปี เนื่องด้วยสถานที่ของเรื่องนั้น คือ เกาะแอมบริม เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งของประเทศวานูอาตู หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ แต่ทว่าเธอยังไม่เคยไป ดังนั้นสถานที่ วัฒนธรรมการกินอยู่ ฯลฯ เธอจึงใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ จากอินเทอร์เน็ต เวลาจะเขียนถึงบ้านก็ต้องเปิดดูรูปบ้านหลายๆ หลัง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

“ช่วง 6 ปีหลังนี้ชอบเขียนงานแนวท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ประเทศนี้เรายังไม่เคยไป แต่ที่เลือกใช้ประเทศวานูอาตู เพราะได้ยินข่าวว่าประเทศนี้ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมาทันที ก็เจอข้อมูลน่าสนใจมากมาย อย่างประเทศนี้เขาวัดความมั่งมี ไม่ใช่ใคร ‘มี’ มากกว่า แต่วัดที่ใคร ‘ให้’ ได้มากกว่ากัน จุดนี้เราปิ๊งเลยว่าจะเขียนเรื่องอะไร แก่นของเรื่องเป็นยังไง การที่คนเราให้คนอื่นได้มากเท่าไรก็ร่ำรวยความสุขมากเท่านั้น” นี่จึงเป็นที่มาของแก่นของเรื่องอีกด้วย

สำหรับเหตุผลที่เลือกเขียนงานวรรณกรรมเยาวชน เพราะชอบอ่านงานแนวนี้ แต่ระยะหลังงานเขียนประเภทนี้ที่แฝงเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นของอีกซีกโลกหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักนั้นมีน้อย เธอจึงคิดลงมือเขียนขึ้นมาเสียเอง “จากการค้นคว้า เราได้พบว่าประเทศนี้มีอะไรน่าสนใจมาก เช่น มีภูเขาไฟ มีความเชื่อ บูชาเทพเจ้า มีมนต์ดำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กๆ ถ้าเรานำมาผูกเรื่องเด็กๆ จะต้องสนุกและอยากติดตาม เขาจะเสกอะไร จะแปลงร่างได้ไหม และแน่นอนที่ไม่ลืมใส่คือ สะท้อนวิถีวัฒนธรรม เด็กๆ ได้อ่านจะเหมือนได้ไปเที่ยว ได้เปิดโลก ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่ในตำรา เด็กเขาต้องเรียนรู้จากการที่เขาไปเห็นไปพบเขาเรียนรู้จากตรงนั้น ให้เขามีประสบการณ์ด้วยตัวเอง เราก็เขียนหนังสือเล่มนี้เหมือนเราพาเขาไปเปิดประสบการณ์ แต่เราไม่ต้องไปบอกทำตัวเป็นคนดียังไง เสียสละยังไง เราทำเรื่องให้เขาคิด ให้เขาไปเห็น เหมือนเขานั่งมองเด็ก เขาถูกบอกเล่าด้วยการตัดสินใจของตัวละครในเรื่อง”

ด้านเรื่องสั้น “ชายชราเบาหวาน” คณะกรรมการได้ลงความเห็นว่า ใช้ลีลาวรรณศิลป์ที่เสียดแทงอารมณ์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของชายชราคนหนึ่ง ที่อาจเป็นภาพสะท้อนของชายชราคนไหนก็ได้ในสังคม... เรื่องสั้นเรื่องนี้ฉายชัดถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติแห่งชีวิต อันอยู่ในวงวัฏฏะของการเกิด การแก่ การเจ็บไข้ และการตาย เรื่องราวของชายชราเบาหวานกระตุ้นให้ตระหนักว่า คนเรามีเวลาชีวิตอันจำกัด เมื่อถึงเวลาหนึ่งเราไม่อาจควบคุมได้ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความคิด แม้กระทั่งความทรงจำใดๆ ไม่ช้าก็ลืมเลือนไปสิ้น ทุกสิ่งในชีวิตล้วนเป็นมายา ดังนั้นสิ่งที่เหลือติดอยู่ขอให้เป็นเพียงความทรงจำอันดีงาม

ส่วนบทกวี “หัวใจไดโนเสาร์” นั้นได้สะท้อนความรู้สึกของกวีที่ได้สัมผัสถึงรูปเงาความยิ่งใหญ่ของอดีต ผ่านความเงียบเหงาและความแพ้พ่ายกาลเวลาของโครงกระดูกไดโนเสาร์ในพิพิธภัณฑ์แห่งยุคสมัยปัจจุบัน กวีสะท้อนภาพปรากฏทางกายภาพของไดโนเสาร์ด้วยถ้อยคำกระชับชัดแต่เห็นภาพ นับแต่ “เมื่อปลายแปรงจรดลงบรรจงปัด ภาพจึงชัดแลเห็นเป็นรูปร่าง” ผ่าน “ยกขึ้นยืนสูงสง่าเลอค่านัก ริ้วรอยหักร้าวทั่วทั้งตัวตน” จนกระทั่งถึง “โดดเด่นกลางพิพิธภัณฑ์ทันสมัย ใต้แสงเงาสปอตไลต์ไฟถนน” ในลักษณะ “สงบนิ่งเคว้งคว้างกลางผู้คน เครื่องจักรกลครอบงำขู่คำราม”...

ถ้อยคำภาษาที่เรียบง่าย ตรงความหมาย และหนักแน่น ปรากฏอยู่ในกรอบฉันทลักษณ์สมบูรณ์ สื่อนำไปสู่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกไปกว่าไดโนเสาร์ สะท้อนความจริงของชีวิตที่ว่า อดีตที่ยิ่งใหญ่เมื่อถึงปัจจุบันจะเป็นเพียงรูปเงาเท่านั้น บทกวีชิ้นนี้ไม่เพียงแต่หมายถึงไดโนเสาร์เท่านั้น แต่หมายถึงใครก็ตามที่เป็นความยิ่งใหญ่ของอดีตเช่นเดียวกับไดโนเสาร์ และต้องกล้ำกลืนความเจ็บปวดอยู่เมื่อความยิ่งใหญ่นั้นล่มสลายลง

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;