posttoday

นพพล เตชะพันธ์งาม ทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต

13 กันยายน 2555

นักบริหารรุ่นใหม่ นพพล เตชะพันธ์งาม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี เจเนอเรชันที่ 2

โดย...วราภรณ์

นักบริหารรุ่นใหม่ นพพล เตชะพันธ์งาม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี เจเนอเรชันที่ 2 ของธุรกิจผลิตที่นอนและเครื่องนอน ภายใต้แบรนด์ “สปริงเมท” และ “เซเนเทล” ที่ก่อตั้งธุรกิจโดยผู้เป็นพ่อ สมชาย เตชะพันธ์งาม ที่มีอายุธุรกิจมามากกว่า 20 ปี ปัจจุบันนพพลลูกชายคนโต ได้เข้าไปช่วยบริหารธุรกิจนาน 7 ปีแล้ว ซึ่งธุรกิจได้เจริญเติบโตและรุดหน้าไปมากมาย เพราะด้วยสไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารงาน เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัททำให้ประชาชนทั่วไปสามารถคลิกเข้าไปทำความรู้จักกับธุรกิจได้สะดวกขึ้น อีกทั้งพัฒนาระบบจัดเก็บผลการประชุมล่าสุดไว้ใน Cloud ทำให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานและอัพเดตข้อมูลได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต หรือหากเขาไม่อยู่ออฟฟิศก็สามารถประชุมผ่านโปรแกรมง่ายๆ อย่างสไกป์ได้

ผู้บริหารผู้มีวิสัยทัศน์ดีกรีปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์และทฤษฎีฟิสิกส์ เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เล่าว่า ธุรกิจของเขาเน้นขายสินค้าให้กับโครงการรีสอร์ต ที่พักอาศัย โรงพยาบาล หอพักนักศึกษา ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะมีผู้ประกอบการด้านที่พักอาศัยรายใหญ่เชื่อถือในแบรนด์และการให้บริการ เช่น โรงแรมในเครือเซ็นทารา ซิกซ์ เซนส์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ฯลฯ ซึ่งตลอดการทำงาน 7 ปีที่ผ่านมา นพพลรู้สึกว่างานนี้ท้าทาย เพราะเขาได้ต่อยอดธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่พัฒนาให้เติบโตขึ้น

“เราทำผลิตภัณฑ์เตียงเสริม เตียงเหล็กสองชั้น โซฟาเบด หมอน ผ้านวม ผ้าปูที่นอน และสินค้าประเภทชุดคลุมอาบน้ำ รองเท้าแตะใส่ในห้อง ซึ่งผมทำงานมา 7 ปี แต่ผมไม่รู้สึกกดดัน แต่ผมมองว่าเป็นงานท้าทาย ผมเริ่มรีแบรนดิงเปลี่ยนสีสันของแบรนด์จากสีน้ำเงินให้กลายเป็นสีเขียว มีการคิดสโลแกน The beginning is everything เพราะเราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นที่ห้องนอน เพราะหากเราได้นอนบนที่นอนนุ่มๆ และดี เราก็จะนอนหลับสบายอย่างเต็มที่ ตื่นขึ้นมาหัวสมองก็ปลอดโปร่ง สร้างสรรค์งานได้ดี ซึ่งสีเขียวก็เป็นสีของธรรมชาติ และการพักผ่อนเช่นเดียวกับสีน้ำเงิน ซึ่งนิยมใช้กันมากแล้วในท้องตลาดเครื่องนอน มูดแอนด์โทนของแบรนด์ โฆษณาการตกแต่งร้าน และบูธ กระทั่งเราพัฒนาเว็บไซต์ให้ดูทันสมัย ให้ความรู้สึกเรียบง่ายแต่หรูหรา ดูอบอุ่น”

การพัฒนาแบรนด์ นพพล บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันความเข้าใจต่อแบรนด์ของผู้คนก็คือความเข้าใจของคนที่มีต่อสินค้า หากคนรู้สึกว่าเชื่อถือในแบรนด์และคุณภาพ ก็ส่งผลให้คนตัดสินใจซื้อสินค้า

นพพล เตชะพันธ์งาม ทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต

“เราคุมคอนเซปต์ทุกอย่างให้ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเราเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบไอที เพราะหากเรามีระบบการวางแผนและการจัดการผลิตที่ดีก็ได้เปรียบเพื่อนๆ ในตลาด เราได้รับไอเอสโอ 9001 เมื่อปีที่แล้ว ผมคิดว่าหากเรามีระบบการจัดเก็บข้อมูลการทำงานที่ดี เราก็จะสามารถนำฐานข้อมูล แปลงเป็นระบบไอที และทำทุกขั้นตอนการทำงานควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเราอยู่ในช่วงการพัฒนาอยู่

หากเราพัฒนาระบบเสร็จ เราจะสามารถมีแผนการจัดการที่ดี มีข้อมูลการตัดสินใจที่เรียลไทม์มากขึ้น เช่น เรามีการเก็บข้อมูลด้านต้นทุน หากมีวัตถุดิบมีการปรับราคาสูงขึ้น เราก็สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันท่วงที ซึ่งดีกว่าใช้ระบบเอกซ์เซลที่ต้องมาดูทีละหน้า แต่เราแค่คลิกปุ่มทีเดียวระบบไอทีก็จะประมวลผลได้หมดเลย ทำให้เราตัดสินใจได้ทันท่วงที ระบบไอทีจึงช่วยเราได้มาก ส่งผลให้เรามีผลประกอบการและรู้สถานะของเราได้ตลอดเวลา เราก็จะสามารถปรับสถานการณ์ของเราได้ทันกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งเราเริ่มปรับระบบไอทีอยู่”

แม้การลงทุนพัฒนาระบบไอทีจะเสียงเม็ดเงินที่มาก แต่ในฐานะผู้บริหารที่มีสายตายาวไกลแล้ว เขาคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยเราประหยัด หากต้นทุนการผลิตมีราคาเปลี่ยนไป หากมีการปรับราคาได้ทัน จะได้ไม่ขาดทุนกำไร อีกทั้งมีข้อมูลการตัดสินใจจะขยายหรือหยุดเพื่อรอดูสถานการณ์ด้านการลงทุน ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญมากของการช่วยในการตัดสินใจ

นอกจากพัฒนาระบบไอที เรายังเลือกใช้แอพพลิเคชันที่ทันสมัย คือ การเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์คล้ายกับกูเกิล ดอคคิวเมนต์ เพื่อให้ทุกคนในบริษัทสามารถแชร์ข้อมูลเอกสารด้วยกันได้ เช่น รายงานการประชุมครั้งล่าสุด เพื่อให้ทุกคนอัพเดตการประชุมได้ตลอดเวลา ในทุกวาระของการประชุม เพื่อการประชุมครั้งใหม่จะได้เกิดความก้าวหน้ามีแนวคิดเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อๆ ไป

“วิธีแชร์ข้อมูลแบบนี้ จะช่วยประหยัดเวลาในการรับส่งอีเมล หรือการส่งเอกสารเป็นเปเปอร์ไป อีกทั้งช่วยป้องกันการบอกว่า ไม่ได้รับอีเมลหรือเอกสาร ทำให้งานเดินไปเร็ว แต่ในทางกลับกันก็ทำให้งานเยอะตามไปด้วย เพราะทุกอย่างจะเคลื่อนที่ไปเร็วมาก ทำให้ทีมงานเหนื่อย แต่ตลาดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราก็ต้องตามให้ทัน เมื่อเราใช้คลาวด์ เราก็สามารถส่งข้อมูลผ่านไอโฟน ไอแพดได้

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยได้อยู่ออฟฟิศและชอบนั่งทำงานในร้านกาแฟบรรยากาศดีๆ ประกอบกับเดินทางบ่อย การทำงานทุกอย่างก็คล่องตัวเพราะถ้าเราเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์ เราสามารถทำงานได้บนโลกนี้ ซึ่งระบบไอทีที่เรากำลังพัฒนาเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ เอื้อให้ทุกคนทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต หรือถ้าประชุม ปกติแล้วผมไม่ได้อยู่ออฟฟิศ ก็สามารถประชุมผ่านโปรแกรมง่ายๆ อย่างสไกป์ มีการแชร์ปฏิทินกันเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าใครมีประชุมวันไหน หากจะจัดประชุมวาระใดให้เข้าไปแจ้งในปฏิทิน ฉะนั้นทุกคนต้องอัพเดตปฏิทินตัวเอง หากผมอยากเรียกประชุมจะเข้าไปบุ๊กวันที่ทุกคนว่างตรงกัน เลขาฯ ของผมจะได้ไม่ต้องโทรแจ้งให้วุ่นวาย ถือเป็นการประหยัดเงินและเวลาอย่างหนึ่ง”

อีกสิ่งที่นพพลให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัท เพราะเว็บไซต์ คือ ด่านแรก ที่ทำให้คนรู้จักกับบริษัทของเขา ไม่ว่าจะผ่านเฟซบุ๊กหรือแฟนเพจก็ตาม

“ถ้าคนได้ยินสปริงเมทก็ต้องไปเสิร์ชหาข้อมูลว่ามันคืออะไร ทำให้คนคลิกเข้ามาหน้าเว็บไซต์ ซึ่งถือเป็นหน้าตาของบริษัท คนจะรู้จักเราผ่านเว็บไซต์ก่อน เราจึงให้ความสำคัญ เราพัฒนาเว็บไซต์ปัจจุบันเป็นเวอร์ชันที่ 4 แล้ว ซึ่งเห็นผลเลยว่าเมื่อเราพัฒนาเว็บไซต์คนก็ให้ความเชื่อถือกับบริษัทมากขึ้น เพราะเว็บเราดึงดูดสวยงาม และเราเป็นบริษัทที่นอนเจ้าแรกที่มีเว็บไซต์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นว่าเราต้องมีเว็บไซต์ ปัจจุบันเรามีเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทำให้เรามีการสื่อสารแบบ 2 ทางกับลูกค้าได้ด้วย ตอนนี้มีคนเข้าไปคลิกดู 7,000 คนแล้ว และตอนนี้คนเข้าไปเสิร์ชดูบริษัทของเราผ่านกูเกิล จนกลายเป็นเว็บไซต์อันดับต้นๆ ของเว็บไซต์ที่นอน ที่โชว์ขึ้นในกูเกิลแล้ว”

นพพล บอกว่า หากรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็น จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายและมากขึ้น สะดวก ทำให้ไม่ต้องนั่งอยู่แต่ในออฟฟิศ “ผมสะดวกนั่งทำงานในเมือง เช่น โรงแรมกลางใจเมือง สุขุมวิท ทองหล่อ ทำงานได้ทุกที่ สามารถนั่งทำงานในรถก็ได้ แต่ก็ดีหากชีวิตเรามีดิส คอนเนกซะบ้าง เพราะใช้แล้วก็ติด กึ่งๆ ทำให้เราเป็นคนสมาธิสั้น เพราะมีช่องทางการสื่อสารเยอะ ฉะนั้นต้องใช้ให้พอดีๆ รู้จักผ่อนคลายและปล่อยวางด้วยการนั่งสมาธิ ชีวิตจะได้สมดุล”