posttoday

เสียงเชลโล กับเบื้องหลังรอยยิ้ม ‘อุทัยศรี ศรีณรงค์’

06 กันยายน 2555

เรานัดพบกับ “ป่าน-อุทัยศรี ศรีณรงค์” หนึ่งในนักดนตรีวงวีทรีโอ ที่เอสเทรลลา สปา อนันตรา รีสอร์ท บ้านราชดำริ ปกติเธอเป็นสาวสวยเท่

โดย...ณัฐพล ช่วงประยูร

เรานัดพบกับ “ป่าน-อุทัยศรี ศรีณรงค์” หนึ่งในนักดนตรีวงวีทรีโอ ที่เอสเทรลลา สปา อนันตรา รีสอร์ท บ้านราชดำริ ปกติเธอเป็นสาวสวยเท่ สีเชลโลโชว์ในคอนเสิร์ต แต่วันนี้มาในลุคสวยหวาน สวมกระโปรงแทนกางเกงยีนส์ ในมือไม่มีอะไร แต่ในใจมีมากมาย

เธอเป็นลูกสาวคนกลางของ “ภูกร ศรีณรงค์” นักไวโอลินแห่งบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า โดยป่านมีพี่ชายคนโตและน้องสาวคนเล็ก ทั้งหมดเติบโตขึ้นในบ้านแห่งตัวโน้ตและเสียงดนตรีคลาสสิก และเจริญรอยตามเส้นทางบิดา

“จำได้ว่าคุณพ่อให้ลองถือไวโอลินตั้งแต่เล็กๆ จากนั้นก็เริ่มเล่นเปียนโน เพราะเป็นพื้นฐานของดนตรีหลายๆ ประเภท สมัยคุณพ่อเป็นหัวหน้าวงบางกอก ซิมโฟนี ป่านตามคุณพ่อไปดู ทำให้เราได้เห็นเครื่องดนตรีต่างๆ รู้เรื่องการอัดเสียง และอยู่กับสังคมดนตรีมาแต่เด็ก ได้เห็น ทุกอย่างจึงซึมซับกับดนตรีประเภทนี้ แต่คุณพ่อก็ไม่เคยบังคับว่าต้องเป็นนักดนตรีเหมือนเขานะ

ด้วยเพราะท่านเป็นนักไวโอลิน จึงให้เราลองไวโอลินก่อน แต่พอช่วงวัยมัธยมเขาก็หยิบเชลโลมาให้เล่น บอกกับป่านว่า ผู้หญิงเล่นแล้วเท่ดีนะ เราลองแล้วชอบ ฟังดูเพราะกว่าไวโอลินค่ะ”

เมื่อครั้นเข้าสู่มหาวิทยาลัยเธอเลือกเส้นทางเรียนด้านดนตรีที่ฮ่องกง แต่มีอุปสรรคโดนตัดทุนจากวิกฤตโรคซาร์ส ดังนั้นครึ่งทางการเรียนของเธอได้รับพระกรุณา ศึกษาโดยใช้ทุนในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี ที่สถาบันฮ่องกง อะคาเดมี ราบรื่นดี จนจบกลับมาเป็นครูสอนดนตรี และมีกิจการโรงเรียนสอนของตัวเอง

เสียงเชลโล กับเบื้องหลังรอยยิ้ม ‘อุทัยศรี ศรีณรงค์’

“กลับมาได้พักหนึ่ง ก็มีโอกาสได้แสดงดนตรีในละครเวทีของซีเนริโอ จากนั้นคุณบอยถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็เริ่มวงวีทรีโอขึ้น โดยมีป่านและพี่ชายน้องสาว จนถึงวันนี้ปีที่ 5 แล้ว ก็ยังคงมีความต่อเนื่องของการแสดงทั้งแบบปกติและแสดงคลาสสิก มีคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ พิธีปิดการแข่งขันเทนนิส หรืองานเวิลด์ เอ็กซ์โป บางครั้งเปิดคอนเสิร์ตด้วยเลยค่ะ

ถัดจากนั้นก็เริ่มงานประจำอีกอย่าง คือ โรงเรียนสอนดนตรีของครอบครัวชื่อ วี มุส (Vie Mus) หรือ ดนตรีคือชีวิต เรามองว่าอยากให้เป็นแหล่งชุมชนคนรักดนตรี คุณอาจไม่จำเป็นต้องเล่นเก่งชนะเลิศ แต่มีใจรักที่จะมา”

“ปกติป่านเป็นคนอย่างไรครับ และคนอื่นๆ คอมเมนต์ว่าไงบ้าง” ผมซัก

“เป็นคนตลกนะ ถ้าสนิทกันจะชอบแกล้งให้อาย ขำๆ บางทีแกล้งร้องเพลงดังๆ ตอนอยู่กับน้องสาว หรือแกล้งทะเลาะด้วย แต่คนอื่นมักบอกว่า เวลาหน้าเฉยๆ จะดูหน้าเหวี่ยงตลอดเวลา คงเพราะเราตาดุ เลยเปลี่ยนให้ตายิ้มแทน หรือบางคนคิดว่า การเป็นนักดนตรี ดูเป็นอารมณ์ดี มันก็จริงนะคะ แต่ช่วงไม่ดีจะไม่ค่อยแสดงให้ใครเห็น ยกเว้นคนในครอบครัว

ช่วงตอนเรียนที่ฮ่องกง อยู่คนเดียว บางช่วงก็เดินกลับบ้านใส่หูฟังฟังเพลง เดินริมทะเลฮ่องกง เขียนไดอะรีทางอินเทอร์เน็ต เขียนจนพี่ชายเรียกว่า ‘ดรามา ควีน’

แต่แล้วการเขียนบล็อกก็เป็นเรื่องดี เพราะเขียนเรื่องเที่ยวฮ่องกงไว้ด้วย ไปตลาด ไปโน่นไปนี่ แล้วอัพรูปขึ้น กระทั่งได้งานเขียนคอลัมน์ท่องเที่ยวฮ่องกงลงหนังสือ นั่นถือเป็นงานแรกเลยค่ะ”

ด้วยเพราะเป็นมือเชลโล บิด เอี้ยว เคลื่อนไหวตลอดเวลา การแต่งเนื้อแต่งตัวของป่านจึงไม่เน้นกระโปรง และใช้จ่ายเรื่องการแต่งตัวอย่างมีระบบ ด้วยเพราะวินัยในครอบครัวสอนให้รับผิดชอบตัวเองอย่างดีเสมอ

“การแต่งตัวสบายๆ ตั้งแต่เด็กไม่ชอบสวมกระโปรง เพราะเราเดินไม่ระวัง เล่นอะไรเหมือนผู้ชาย แอกเซสซอรีชอบแบบเรียบๆ ต่างหูนี่...ใส่ตลอด รองเท้า กระเป๋ามีเยอะ แต่กว่าจะซื้อแต่ละชิ้น อย่างน้อย 3 เดือน คิดแล้วคิดอีก อยากได้ก็ต้องเก็บหอม ประหยัดอย่างอื่น คุณแม่สอนเสมอว่า เราต้องทำอะไรด้วยตัวของตัวเอง อยากได้อะไรต้องซื้อด้วยเงินตัวเอง จะสอนเน้นเรื่องการใช้เงิน ขณะที่คุณพ่อจะเงียบๆ ไม่ได้สอนโดยการพูด แต่ทำให้ดู ท่านแสดงให้เห็นว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร พ่อโตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีสตางค์ คุณปู่ย่าเป็นชาวนา เขารู้ว่าอยากทำอะไร เลยผลักดันตัวเองตั้งแต่เด็กๆ มาหางานทำ และเข้าโรงเรียน จนมาอยู่ในกองดุริยางค์ทหารเรือ หลายอย่างที่ทำให้มาถึงทุกวันนี้ ป่านว่าคุณพ่อมีความมุ่งมั่นจริงๆ”

วันนี้เธอยังไม่หยุดแค่นี้ ล่าสุดกับก้าวใหม่ในการพิสูจน์ความสามารถด้านการแสดง ป่านรับบท “เด่นจันทร์” ในละครเวที “เรยา เดอะ มิวสิคัล” ที่มี สมเถา สุจริตกุล เป็นผู้ประพันธ์ดนตรี และคำร้องภาษาอังกฤษ และกำกับโดย เกรียงศักดิ์ ศิลากอง

“ทราบเรื่องปุ๊บก็มาออดิชันเลย ยิ่งมีอาจารย์สมเถา ที่มีความสามารถมากๆ ในการแต่งโอเปรา พอทราบว่าท่านแต่งมิวสิคัล ยิ่งปลื้ม ป่านเองก็อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ดู แต่พอได้ลองแล้ว ถ้าเทียบการแสดงกับการเล่นดนตรียากเหมือนกันตรงที่ต้องมีวินัยในการซ้อม ซ้อมดนตรี ต้องบังคับตัวเอง ว่ากี่ชั่วโมง อย่างละครต้องดูบท พูดบ่อยๆ พอเราได้ทำซ้ำบ่อยๆ จะเข้าใจตัวละครมากขึ้น ตอนแสดงอารมณ์โกรธแรกๆ เอาแต่เสียงดัง พอเล่นไปเรื่อยๆ มันมีพลังได้ โดยไม่ต้องพูดดัง ต้องเข้าใจน้ำหนัก คำพูด การเว้นวรรค ซ้อมมาตลอด 4 เดือน เรารันทรูครบหมดแล้ว เหลือแค่บล็อกกิงนิดหน่อย ตอนนี้ถ้าประเมินตัวเอง เต็ม 100 น่าจะเกือบเต็มแล้ว (หัวเราะ) เหลือความแข็งแรงของร่างกายนะคะ

อย่างไรป่านฝากผู้อ่านโพสต์ทูเดย์ ติดตามชมละครเวที เรยา เดอะ มิวสิคัล กลางเดือน ก.ย.นี้ด้วยนะคะ”