posttoday

การท้าทายอังเงียบเชียบ...แต่ "จี๊ด" (ตอนที่ 1)

26 สิงหาคม 2555

คุณเคยไหมพอมีใครสักคนบนโต๊ะอาหารแคะฟันแล้วคาบไม้จิ้มฟันไว้ที่ริมฝีปาก แหม...มันรู้สึก “จี๊ด” สุดๆ อยากลุกขึ้นไปตบให้ไม้จิ้มฟันกระเด็นเสียจริงๆ

คุณเคยไหมพอมีใครสักคนบนโต๊ะอาหารแคะฟันแล้วคาบไม้จิ้มฟันไว้ที่ริมฝีปาก แหม...มันรู้สึก “จี๊ด” สุดๆ อยากลุกขึ้นไปตบให้ไม้จิ้มฟันกระเด็นเสียจริงๆ

หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องไม้จิ้มฟัน แต่เป็นเรื่องการผิดนัด คนที่ใส่เสื้อลายขวาง คนที่ชอบอู้งาน คนที่ชอบบงการคนอื่น คนที่เคี้ยวอาหารเสียงดัง คนที่ชอบขบปลอกปากกา คนที่ขากถุยในที่สาธารณะ ฯลฯ เหล่านี้หรือเรื่องอื่นๆ ที่อาจทำให้เรารู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อย่างที่เรียกสั้นๆ ว่า “จี๊ด” นั่นแหละ

เรื่องที่เรารู้สึกจี๊ดมีทั้งขนาดเล็ก รู้สึกชิลชิล ขำๆ บวกหมั่นไส้นิดๆ หรือเรื่องขนาดกลาง อืมม์...ยังพอทนได้ แต่ก็ชักจะกรุ่นๆ และเรื่องใหญ่ๆ ชนิดที่เขย่าสติกระเจิดกระเจิงต้องมีการออกงิ้วล้งเล้งกันเสียบ้าง แต่เคยนึกสงสัยไหมว่า ต่อให้คุณออกงิ้วขนาดไหน ก็ยังประสบพบพานกับพฤติกรรมเดิมๆ จากคนเดิมๆ อยู่ไม่เว้นวาย ถ้าเป็นคู่รักก็เข้าทำนองที่ว่า ทะเลาะกันแต่เรื่องเดิมๆ คุณเคยไหม? ฉันคนหนึ่งละที่เจอเรื่องนี้ประจำ...

ถ้าคุณนึกสนุกก็ลองหยิบกระดาษขึ้นมาจดรายการจี๊ดของตัวเองดูสิ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การกระทำ พฤติกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่พอเห็นแล้วรู้สึกไม่ชอบ หงุดหงิด หรือโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรำคาญ หรือรู้สึกดูแคลนคนคนนั้นก็ได้ (ไม่ต้องตกใจนะคะ ถ้าพอวางปากกาแล้วจะพบรายการจี๊ดมากกว่าสิบอย่าง นั่นถือว่าคุณเข้าใจและซื่อสัตย์กับตัวเอง)

จากนั้นนึกต่อไปอีกนิดว่า ใครบ้างที่มีพฤติกรรมเหล่านั้น คนไกลตัวที่เดินผ่านแล้วเลยไป ใกล้เข้ามาอีกนิด...เป็นคนรู้จัก หรือญาติห่างๆ ใกล้เข้ามาอีก...เป็นเพื่อนร่วมงาน ใกล้เข้ามาอีก...เป็นคนในครอบครัว หรือคนรัก และที่ใกล้ที่สุด...คือ ตัวเราเอง (จะเกี่ยวหรือไม่อย่างไรนั้น อ่านต่อไปเรื่อยๆ นะคะ)

ทีนี้เรามาดูความสัมพันธ์ของระยะทางกับความรู้สึกกัน ให้คุณสมมติเหตุการณ์ที่ทำให้จี๊ดขึ้นมาสักเหตุการณ์หนึ่ง ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ให้วางตัวละครจากระยะต่างๆ ลงไปทีละคน

ยกตัวอย่าง เช่น ฉันไม่ชอบคนที่ไม่ตรงต่อเวลาแบบสุดๆ

สถานการณ์ที่ 1 : ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ผู้คนเดินเข้าเดินออกเป็นระยะๆ เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว “ฉันกำลังนั่งรอคนจัดอาร์ตเวิร์กที่เพื่อนแนะนำอยู่ (นึกถึงความรู้สึกที่มีต่อคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน) แต่ก็ช่างเถอะ จิบกาแฟ นั่งอ่านหนังสือไปพลางๆ ก็ได้”

สถานการณ์ที่ 2 : ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง มุมเดิม ผู้คนเดินเข้าเดินออกเป็นระยะๆ เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว “ฉันกำลังนั่งรอเพื่อนๆ (นึกถึงหน้าเพื่อนๆ เข้าไว้) “พวกมันมัวทำอะไรกันอยู่ (วะ)...”

สถานการณ์ที่ 3 : ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง มุมเดิม ผู้คนเดินเข้าเดินออกเป็นระยะๆ เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว “ฉันกำลังนั่งรอเขาอยู่ นี่ผ่านไปเป็นชั่วโมงๆ แล้ว เขามัวไปทำอะไรอยู่ นัดกี่ครั้งๆ ฉันก็ต้องเป็นฝ่ายมานั่งรอตลอด ไม่เข้าใจเลยจริงๆ ว่าทำไมถึงมาให้ตรงเวลาไม่ได้...(แล้วจินตนาการก็ลากเราไป...ลากเราไป)”

ทีนี้ลองสมมติสถานการณ์ของคุณเองบ้าง โดยมีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง คือ ระวังความรู้สึกจะพาเราไปไกลจนฮึดฮัดขึ้นมาจริงๆ ให้ระลึกเสมอว่า เรากำลังพิจารณาความรู้สึกของตัวเองอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ระวังเสียจนกดข่มความรู้สึกที่แท้จริงเสียราบคาบ ขอให้เราผ่อนคลายสบายๆ แล้วคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง

เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามากระทบความรู้สึกจนทำให้หัวใจเต้นแรงสูบฉีดเลือดไปทั่วสรรพางค์กาย ลมกรุ่นๆ เป่าออกทางหูราวกับหวูดรถไฟ ยากเหลือเกินที่จะนิ่งเฉย ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งการระงับ ระบาย หรือแม้แต่เฉไฉ ต่างก็เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะเมื่อเราเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน อารมณ์จี๊ดๆ ก็กลับมาอีก วนเวียนอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าเราจะหารากของมันให้เจอ เมื่อขุดรากถอนโคนแล้วนั่นแหละ เหตุการณ์นั้นๆ ก็จะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีก

แต่ทำอย่างไรเราจึงจะหารากของสิ่งที่ทำให้เราจี๊ดได้เจอ พอเจอแล้วจะขุดมันขึ้นมาได้อย่างไร ความยากอยู่ตรงนี้เอง

กับคำถามที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะหารากของสิ่งที่ทำให้เราจี๊ดเจอ?

คุณคงเคยดูมายากล หลักการเบื้องต้นของมายากลคือ การซ่อนที่แนบเนียนและความเร็วในการอำพรางสายตา จิตใจก็ทำอย่างนั้นกับความทรงจำที่ยากและอยากจะลืมของเราด้วย ซึ่งมักจะเป็นความทรงจำที่ทำให้เราเจ็บปวด ถ้าเราลองค้นหาลึกลงไปในสิ่งที่ทำให้เราจี๊ด (แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม) เบื้องหลังของมันจะมีเงาของความทรงจำบางอย่างที่เราพยายามจะขว้างมันออกไปจากชีวิตอยู่เสมอ และด้วยความช่ำชองในการอำพราง (ซึ่งบางครั้งก็เป็นการเยียวยาด้วย) จิตใจก็จะสร้างคุณค่าอย่างหนึ่งขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นด้านตรงข้ามกับสิ่งที่ทำให้เราจี๊ด เช่น คนที่ไม่ตรงต่อเวลาทำให้ฉันรู้สึกหงุดหงิดจนถึงขั้นโกรธ ดังนั้นคุณค่าของฉันก็คือ ฉันเป็นคนที่ตรงต่อเวลาเสมอ (แหละเช่นกัน บางครั้งคุณค่านี้ก็กลายเป็นสาเหตุของความเครียดและความทุกข์ได้)

เมื่อค้นลึกลงไปไกลยิ่งขึ้นก็พบว่า การตรงเวลาของฉันมีความหมายที่มากกว่าแค่การที่ใครสักคนมาปรากฏตัวต่อหน้าฉันในเวลาที่นัดหมาย แต่มันหมายถึงการเอาใจใส่และการให้ความสำคัญต่อกัน เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เพื่อนมาช้ากว่าเวลานัดหมายถึง 6 ชั่วโมง โดยไม่สามารถติดต่อได้ เมื่อมาถึงที่นัดหมาย ซึ่งแน่นอนว่าฉันรอเขาอยู่ด้วยใจที่มาดหมาย คำอธิบายที่สื่อให้รู้ว่าเขาพยายามเพียงใดในการที่จะมาให้ทันเวลานั้น ทำให้ฉันสงบลงได้และกลับกลายเป็นเห็นอกเห็นใจเขาแทน

ทีนี้เราลองขยับลึกลงไปอีก จากเบื้องหลังคุณค่าที่เราสร้างขึ้นมา ฉันขอใช้คำถามในการนำทางเพื่อให้เราไปต่อได้ง่ายขึ้น อะไรที่ทำให้...สำคัญถึงขนาดนี้? ที่ว่างนี้ เว้นไว้สำหรับเติมเบื้องหลังคุณค่าของเราลงไป สำหรับฉันก็จะเป็นคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้เรื่องความเอาใจใส่และการให้ความสำคัญ สำคัญกับฉันถึงขนาดนี้?

หมุดหมายที่ฉันจะกลับไปสืบค้นสาเหตุของเรื่องนี้ก็คือ ช่วงชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งจะทำให้ฉันได้พบกับเงื่อนงำบางอย่างที่หล่อหลอมให้เติบโตมาเป็นอย่างทุกวันนี้

การค้นพบเช่นนี้ย่อมสั่นสะเทือนเราเป็นธรรมดา กระนั้นเราก็ยังมีสิทธิเลือกที่จะปฏิเสธหรือยอมรับก็ได้ ถ้าเราเลือกที่จะปฏิเสธเงาสะท้อนของตัวเอง ก็มีแนวโน้มที่จะกลับไปสู่วังวนของความหงุดหงิดรำคาญใจกับเรื่องเดิมๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่เข้มแข็งพอ หรือหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาของเราเท่านั้น แต่ถ้าเราเลือกที่จะยอมรับเงาสะท้อนที่อาจจะบิดเบี้ยวนั้น เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันต่อในสัปดาห์หน้า

ถึงตรงนี้ สิ่งสำคัญคือความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ถ้าคุณกล้าพอที่จะซื่อสัตย์กับตัวเอง คุณก็จะพบคำตอบที่ช่วยให้คลี่คลายความขุ่นข้องในเรื่องนั้นๆ ไปได้