posttoday

‘ลักษณ์อาลัย’ ลายลักษณ์อันแสนอาลัยของอุทิศ

20 สิงหาคม 2555

วันนี้ ผมมีนัดกับอุทิศและอุทิศ!!!

โดย...จตุรภัทร หาญจริง

วันนี้ ผมมีนัดกับอุทิศและอุทิศ!!!

อย่าเพิ่งงงหรือสงสัย ผมมีนัดกับเขาทั้งสองคนจริงๆ ครับ เพียงแต่อุทิศคนแรก คือ อุทิศ เหมะมูล ผู้เขียนนวนิยาย เรื่อง ลักษณ์อาลัย (เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2552 จากเรื่อง ลับแลและแก่งคอย) และอุทิศคนที่สอง คือ ตัวละครเอกของนวนิยายเรื่องนี้

หลังจากทักทายอุทิศคนแรกไปพอประมาณ ผมยื่นซองคำถาม ถามเขาไปว่า ทำไมถึงต้องตั้งชื่อว่าลักษณ์อาลัย อุทิศคนแรกตอบผมว่า “คำว่าลักษณ์อาลัยมันเป็นได้สองลักษณะ คือ เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นลักษณะของการอาลัยผู้ที่จากเราไป” ซึ่งการอาลัยคนที่จากไปด้วยลักษณะของการถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือนั้น เขาตั้งใจทำให้เป็นหนังสืองานศพ แด่...พ่อ ผู้ที่จากเขาไปตั้งแต่เขายังเรียนจิตรกรรม ปี 3 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ผมอยากจะทำหนังสืองานศพให้พ่อของผม เพราะผมสังเกตเห็นว่า หนังสืองานศพของคนส่วนใหญ่ มีเรื่องราวชีวิตและคุณงามความดีของผู้ตายเพียงไม่กี่หน้า แต่มีเกร็ดความรู้ต่างๆ ผนวกเข้าไว้ในหนังสืองานศพ ผมว่ามันเป็นแหล่งรวบรวมสรรพความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบยืมลักษณะของหนังสืองานศพมาเล่นล้อเป็นนวนิยายเรื่องนี้ครับ” อุทิศคนแรก กล่าว

‘ลักษณ์อาลัย’ ลายลักษณ์อันแสนอาลัยของอุทิศ

เมื่อจำเป็นต้องพูดถึงอุทิศคนที่สองที่เป็นตัวละครเอกของนวนิยายเรื่องนี้ อุทิศคนแรกหัวเราะ พร้อมกับแค่นแคะว่า ตัวละครที่ชื่ออุทิศ มีลักษณะนิสัยดั่งชาล้นถ้วย “ถึงแม้ว่าอุทิศจะมีลักษณะแบบชาล้นถ้วย แต่ก็ผมภูมิใจที่ได้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา แม้ว่าชื่อตัวละครจะเหมือนชื่อของผม แต่บุคลิกลักษณะแตกต่างจากผมโดยสิ้นเชิง ตัวละครที่ชื่ออุทิศไม่เห็นค่าอะไรกับสิ่งที่ตัวเองไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ปากร้าย ไม่แยแสใคร”

ในโลกแห่งความเป็นจริง บุคคลที่มีลักษณะดั่งชาล้นถ้วย มักเป็นบุคคลที่ใครๆ พยายามเข้าใกล้ให้น้อยที่สุด ตัวละครอุทิศเป็นอย่างนี้ไหม อุทิศคนแรกหัวเราะ แล้วตอบออกมาเสียงดังฟังชัด “เขาเป็นคนที่น่ารังเกียจอยู่พอสมควรเลยครับ แต่วิถีชีวิต ความนึกคิด หรือพฤติกรรมอันแสนจะน่ารังเกียจของเขา กลับกระทบใจผู้อ่านอย่างจัง เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะรู้สึกว่า ไม่อยากยืนอยู่ข้างๆ ตัวละครตัวนี้สักเท่าไร รวมทั้งไม่อยากมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกับอุทิศ ตัวละครผู้น่ารังเกียจคนนั้น”

เห็นได้ว่า นี่คือกระบวนการที่เกิดขึ้นในใจผู้อ่าน ที่เกิดจากการปะทะกับตัวละครเอก ซึ่งอุทิศคนแรกตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

หลังจากที่เราพาดพิงถึงตัวละครที่ชื่ออุทิศไปพอหอมปากหอมคอ ผมเลยหันมายื่นซองคำถามถามตัวละครตัวนี้ว่า เขารู้สึกอย่างไรที่เขาเกลียดพ่อ (จนเข้าขั้นรำพึงรำพันกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อจะมอบให้กับลูกชายได้ คือการที่พ่อตายจากไปในช่วงที่ลูกชายยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น”) แต่เขากลับมีอะไรหลายอย่างเหมือนพ่อ ตัวละครที่ชื่ออุทิศ นิ่ง เงียบ ก่อนตอบ

‘ลักษณ์อาลัย’ ลายลักษณ์อันแสนอาลัยของอุทิศ

“ผมว่ามันเป็นเสน่ห์และเป็นปริศนาด้วย มันมีลักษณะคู่ตรงข้ามที่ไม่ได้ไปคนละทิศคนละทาง แต่คู่ขนานกันไป เหมือนกับสิ่งที่เราเกลียด แต่ก็เป็นสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราหลีกเลี่ยง แต่เราก็มักจะเจอ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัยรุ่นหนุ่มแน่น ที่พอเติบโตมาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้น” อุทิศคนแรก กล่าวเสริมว่า “ในฐานะที่ผมเป็นผู้เขียน ชีวิตคือโอกาสในการเติบโต พอวัยรุ่นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเรียนรู้และเข้าใจอะไรมากขึ้น ผ่านเวลาและประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนมากขึ้น ทำให้สิ่งที่เคยพูด หรือที่เคยแช่งชักเอาไว้ กลับไปสู่ความเข้าใจมากขึ้น ผ่อนหนักเป็นเบามากขึ้น คุณว่าจริงไหม (หัวเราะ)” อุทิศคนแรกย้อนถามผม

ผมไหวตัวทัน ผมเลยย้อนถามถึงเสน่ห์อีกประการของนวนิยายเรื่องนี้ ที่สอดผสานระหว่างเรื่องจริง เรื่องแต่ง และเรื่องเล่าเอาไว้ได้อย่างกลมกลืน ทั้งสองอุทิศกล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า “นี่คือความตั้งใจที่อยากให้ภาวะของยุคสมัยสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา เพื่อทำให้คนอ่านได้ตระหนักถึง เช่น สมัยก่อนอาณาประชาราษฎรต้องพึ่งพิงพระมหากษัตริย์ แต่สมัยนี้คนต้องพึ่งพิงสื่อทีวี เพราะอำนาจของอิทธิพลมันเปลี่ยนมือไป”

ก่อนจาก ผมถามอุทิศคนแรกว่า เวลาเขียนหนังสือ พยายามจับทางกรรมการซีไรต์ เพื่อจะได้รางวัลเหมือนอย่างลับแล แก่งคอยหรือเปล่า” อุทิศยิ้มก่อนตอบ “ผมว่าอย่าไปสนใจเรื่องการจับทางกรรมการหรือแนวทางการมอบรางวัลเลยครับ หนังสือที่ดี คนจะมองเห็นมัน มันดีกว่าการที่เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อให้ใครมองเห็น หรือวิ่งไล่ตามอะไรอยู่ ผมว่าแค่มองอย่างนั้นก็ผิดแล้วในการเขียนหนังสือ”