posttoday

เพชร โอสถานุเคราะห์ ครีเอทีฟในบทบาท "ศิลปินนักการศึกษา"

16 สิงหาคม 2555

หน้าที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็น Creative University หรือมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์

โดย...ปอย ภาพ ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ

หน้าที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็น Creative University หรือมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ถือเป็นงานปักธงในหน้าที่ปัจจุบันของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานบริหาร และควบอีกตำแหน่งคือ Chief Creative Officer ถือเป็นงานการบริหารที่วันนี้ขอเพลาๆ มือจากงานเพลงที่ใครๆ ก็รู้จักในภาพศิลปินสุดล้ำ มาเป็นนักการศึกษาเต็มตัว

วิสัยทัศน์บนพื้นฐานที่นำจุดแข็ง “ความคิดครีเอทีฟ” ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย เพชร บอกว่า ไอเดียที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์นั้น ขอบอกให้ทราบโดยทั่วกันว่าเป็นดีเอ็นเอมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกยุคคุณพ่อ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และในฐานะทายาทรุ่นต่อมาจะเป็นแรงบันดาลใจที่เป็นอะไรที่สร้างสรรค์มาก จะรุนแรงยิ่งขึ้นในสไตล์ที่ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งได้

“ผมเคยเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปีเลยนะ คณะอะไรรู้หรือเปล่า? บริหารธุรกิจ!!!” เพชรเริ่มต้นสนทนาพร้อมเสียงหัวเราะชอบใจเมื่อพูดถึงอดีตกาลยาวนาน ตั้งแต่เริ่มเรียนที่โรงเรียนสมประสงค์จนถึง ป.3 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนพิพัฒนาถึง ม.4 (ม.ศ. 3 ในอดีต) และย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา Teaneck High School นิวเจอร์ซีย์ หลังจากจบแล้วก็กลับมาเรียนต่อที่ “ม.กรุงเทพ” แล้วจึงกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ และกลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลงแนวอิเล็กทริกป๊อปที่มีเพลง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ ฮิตระเบิดระเบ้อ

เพชร โอสถานุเคราะห์ ครีเอทีฟในบทบาท "ศิลปินนักการศึกษา"

“ผมขอเรียนอาร์ตที่เมืองนอก พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้ผมเรียน ซึ่งก็เข้าใจนะครับว่าเราเป็นครอบครัวนักธุรกิจ ตอนซัมเมอร์ก็ได้กลับมาเรียนเมืองไทยสนุกมากๆ เรียนเล่นๆ เรามันเป็นเด็กกิจกรรมเพื่อนเลยเยอะ เรียนได้ 2 ปีพ่อก็ไล่ให้กลับไปเรียนเมืองนอก กลัวชีวิตลูกสนุกสนานจนเกินไป เรียกว่าถ้าไม่มีครอบครัวเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ผมก็คงเรียนธุรกิจสัก 1-2 ปีนะ แล้วขอออกไปค้นหาโลกศิลปินสายใดก็ได้

ไม่อยากพูดให้เด็กยึดเป็นค่านิยม แต่คนที่มีหัวครีเอทีฟมากๆ ก็จะมีโลกของเขา และอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง สตีฟ จ็อบส์ บิล เกตส์ ก็เรียนรู้เองทั้งนั้น

วันแรกที่ผมไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกา มีแอดติจูดเทสต์ให้ทำ อาจารย์ก็บอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับไอคิวนะ คุณฉลาดดีนะ แต่รู้สึกว่าคะแนนเทสต์แบบนี้คุณน่าจะเรียนไม่จบ (หัวเราะ) ผมไม่เคยชอบมาร์เก็ตติงเลยนะ กว่าจะจบได้นี่หืดขึ้นคอ” เพชร บอกเล่ากันเอง และรีบบอกขอคุยกันในเรื่องมหาวิทยาลัยครีเอทีฟเพียวๆ ล้วนๆ ไม่เพียงแค่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขัน แต่ขอขับเคลื่อนไปบนอุดมคติที่สู่เป้าหมายสร้างมหาวิทยาลัยเอกชนที่คู่ควรกับเมืองไทย

“ผมมาบริหารที่นี่ 3 ปีแล้วครับ อยู่ใกล้ๆ กับคนรุ่นใหม่ๆ ก็สนุกสนานดี ผมไม่ยอมให้เด็กเรียกผม ‘อาจารย์เพชร’ หรอกนะ เด็กๆ ก็เลยเรียกคุณเพชร ไปๆ มาๆ ก็มีเรียก ‘พี่เพชร’ ก็มีนะ” เพชรว่าแล้วก็หัวเราะลั่นถูกใจ และบอกต่อว่า มาคุยกันเรื่องการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ บนจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรและสังคมเศรษฐกิจอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ที่สำคัญสร้างสรรค์ นี่คือ Mission พันธกิจของ (มหา) เศรษฐีอันดับ 31 ของเมืองไทย จัดโดย ฟอร์บส์ นิตยสารธุรกิจและการเงินในสหรัฐ ย้ำบอกอีกครั้งว่าเงินมีเพียงพอแล้ว เงินจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรอีกต่อไป

“การทำธุรกิจวันนี้ เป้าหมายจึงไม่ใช่การทำเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียวครับ แต่จริงๆ การทำเพื่อเงินก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนะครับ ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ดี คำว่าธุรกิจอยู่ในสายเลือด ก็ทำได้ครับ แต่ในสมองผมก็มีความครีเอทีฟฝังหัวอยู่ จึงให้ความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอด อย่างเช่นเลานจ์ที่เรานั่งคุยกันอยู่ที่นี่ Creative Environment เป็นการจัดสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ให้เอื้ออำนวยให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

เพชร โอสถานุเคราะห์ ครีเอทีฟในบทบาท "ศิลปินนักการศึกษา"

อาคารเรียนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากสมาคมสถาปนิกสยามหลายอาคารด้วยกันครับ ที่เลานจ์เด็กๆ มาพักเบรกมีมุมนั่งคุย หามุมดีๆ อ่านหนังสือดื่มกาแฟกันได้ที่นี่ มีโต๊ะพูลแต่ก็ไม่รู้จะแทงกันอย่างไรนะ เพราะโต๊ะประหลาดๆ เบี้ยวๆ บูดๆ คุณต้องหาวิธีครีเอทีฟเล่นกันเอาเอง” เพชร บอกเล่าถึงอาคารใหม่สุดโมเดิร์นที่แคมปัสรังสิต

การก้าวเข้ามาบริหารในวงการศึกษาของนักครีเอทีฟ เพชร บอกทิ้งท้ายอีกครั้งว่า เป้าหมายต้องการให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรมจริงๆ กับการเปลี่ยนแคมปัสให้เป็น Creative Space แต่เป็นกลยุทธ์สไตล์ศิลปิน ที่ฟังแล้วน่าติดตามผลงานก้าวต่อไปในรุ่นที่สองของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในเมืองไทย


แกดเจ็ตเพื่องานสร้างสรรค์

แมคบุ๊กแอร์ “โน้ตบุ๊กที่ไม่ได้ขายสเปกอย่างเดียวครับ ขายดีไซน์ด้วย” เพชรบอกตอนนี้ติดแกดเจ็ตชิ้นนี้มาก เพราะกำลังสนุกกับการเขียนเรื่องสั้น รวมทั้งวาดภาพประกอบด้วยตัวเองด้วย มีแฟนนักอ่านติดตามกันคึกคัก ที่ Petch Osathanugrah “ผมชอบที่จะทำอะไรทีละอย่าง ตอนทำเพลงก็มุ่งมั่นทำไปอย่างเดียวเลย แต่ตอนนี้ไม่สนใจเรื่องเพลงอะไรอีก วันนี้ขอเขียนแต่นิยาย

ผมอยากเป็นนักเขียน ผมจึงไม่เลือกไอแพดเพราะไม่มีคีย์บอร์ด ตัวตนที่แท้จริงของผมมารู้ตอนทำงานเพลง ทำงานเขียน คนติดตามผลงานก็จะรู้ว่าผมคือนักเล่าเรื่อง”

ส่วน นาฬิกา 3 เรือน โรเล็กซ์วินเทจ รุ่น พอล นิวแมน เป็นมรดกตกทอดที่คุณพ่อมอบให้ ตอนที่ประมูลมาจากโซธบีย์ ราคาร่วมล้านบาท แต่ที่ชอบเพราะความวินเทจ ไม่ได้ชอบที่ราคาอะไร เพราะนาฬิกาอีก 2 เรือนแบรนด์อิซเซ่ มิยาเกะ สวอตช์ ราคาไม่กี่หมื่นบาท

“ผมเป็นเบาหวานต้องมีวินัย อาหารมื้อไหนก็จะมีสมุดจด 1 เล่มเขียนว่ากินอะไรไป เวลากี่โมง นาฬิกาจึงสำคัญมาก ต้องติดข้อมือตลอดเวลา และเลือกเป็นแกดเจ็ตเบสิกในชีวิตประจำวัน มีคนเดียวที่อ่านรู้เรื่องคือหมอ ชอบมาก (หัวเราะ) เพราะผมก็จะเขียนอะไรแบบเนิร์ดๆ เช่น 8 โมงยังไม่ได้กินอะไรเลยสักอย่างเดียว วันนี้กินไปเยอะแยะจึงต้องออกกำลังกายทดแทน คนเป็นเบาหวานไม่ใช่กินอะไรไม่ได้เลยนะ คุณกินได้ แต่คุณต้องออกกำลังกายทดแทนสิ่งที่เพิ่งกินไป”

แกดเจ็ตเบสิกในชีวิตประจำวันคือเรื่องของรสนิยมด้วย เพชรบอกชอบแต่งกายสีเรียบคุมโมโนโทน นาฬิกาจี๊ดๆ คือความครีเอทีฟของการแต่งตัว