posttoday

ศิริวร แก้วกาญจน์ ตัวเต็งซีไรต์ (อีกครั้ง)

13 สิงหาคม 2555

เข้าชิงซีไรต์ถี่ที่สุด แต่ 6 ครั้งที่ผ่านมาก็ล้วนอกหักกลับบ้านมือเปล่า นี่เป็นครั้งที่ 7 แล้ว เราจึงรีบรุดบุกถึงบ้านพัก “ศิริวร แก้วกาญจน์”

โดย...โจ เกียรติอาจิณ

เข้าชิงซีไรต์ถี่ที่สุด แต่ 6 ครั้งที่ผ่านมาก็ล้วนอกหักกลับบ้านมือเปล่า นี่เป็นครั้งที่ 7 แล้ว เราจึงรีบรุดบุกถึงบ้านพัก “ศิริวร แก้วกาญจน์” เพื่อไต่ถามความคืบหน้าความหวังตลอดจนความเศร้าที่ปรากฏอยู่หน้านวนิยายเล่มหนา “โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า”

บ้านพักของเขาในซอยวิภาวดี 32 เป็นทั้งที่พัก ที่ทำงาน ห้องสมุดควบร้านหนังสือ อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเดียวกับร้านกาแฟ Cafe de Vior ที่เขาอยากให้เป็นคาเฟแห่งการมองเห็น ซึ่งนั่นน่าจะหมายถึงการมองเห็นตัวตนผ่านไลฟ์สไตล์นักเขียนปักษ์ใต้ผู้นี้ กาแฟขี้ชะมดราคาแพงโคตรถูกเชื้อเชิญให้เราลองจิบ แต่เราปฏิเสธไปแบบสิ้นเยื่อใย ขอเพียงน้ำเปล่าระหว่างรอเจ้าของบ้านทำภารกิจส่วนตัว ศิริวรเดินมาด้วยทีท่าคนนอนอิ่มตา จากนั้นก็เริ่มบทสนทนากับเราอย่างไม่เร่งร้อน

ศิริวรไม่คิดว่าการเข้าชิงซีไรต์ถึง 7 ครั้ง เป็นเพราะดวงถูกโฉลก แต่ด้วยเขาเขียนงานสม่ำเสมอต่างหาก แถมยังเป็นงานเขียนไม่ซ้ำแนว ชื่อศิริวรก็เลยเข้าไปอยู่ในสารบบการประกวดได้อย่างไม่แปลกใจ

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปล่อยให้หนังสือเล่มหนึ่งสูญเสียโอกาสของมัน ในเมื่อผมก็มีหนังสืออยู่ในกติกาที่จะส่งได้ อย่างน้อยผมว่าการประกวดมันคือสปอตไลต์ ที่จะช่วยส่องให้คนอ่านพบเจอมากขึ้น ท่ามกลางมหาสมุทรของการอ่าน หนังสือมากมายคือสัตว์แต่ละชนิด หนังสือวรรณกรรมคือสัตว์ที่แทบไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โอกาสที่จะจมหายไปมีสูง สปอตไลต์จะช่วยชีวิตมันได้ จะทำให้มันถูกมอง”

ส่วนเรื่องที่ไม่ได้ซีไรต์ เขาก็ยืดอกยอมรับแมนๆ นั่นแสดงว่า งานเขียนยังไม่เจ๋งพอ!!!

ศิริวร แก้วกาญจน์ ตัวเต็งซีไรต์ (อีกครั้ง)

“ผมเชื่ออยู่อย่างนะ ถ้างานโดดเด่นมากพอเขาคงเห็นเองแหละ แต่ผมก็ไม่เคยท้อไม่มีคำนี้อยู่ในหัว เพราะถ้าคิดแบบนั้นเมื่อไหร่ ผมคงเลิกไปทำอย่างอื่น ต้นฉบับใหม่ยังต้องทำต่อเนื่อง ต้องสนุกกับการเขียนงานใหม่ๆ โจทย์ผมคือไม่ได้เขียนเพื่อต้องได้รางวัล”

“โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า” ไม่ได้ว่าด้วยสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดน และไม่มีกลิ่นอายความเป็นปักษ์ใต้ เพราะครานี้ศิริวรพาคนอ่านรอนแรมไกล บุกป่า ข้ามน้ำ ลุยดง เพื่อมุ่งสำรวจคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในพม่า โดยเขาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านนานหลายเดือน จนได้พล็อตนวนิยายที่ใช้กลวิธีเล่าเรื่องค่อนข้างแยบยลและยอกย้อน

“คือเรื่องน่ะเป็นเรื่องจริง แต่ผมก็นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาผสมผสาน มาหลอม มาปั้นแต่งขึ้นใหม่ตามวิธีของผม ส่วนตัวละครผมจะจับจุดเด่นของแต่ละคนมาปั้นใหม่ให้เป็นตัวละครในนวนิยาย ซึ่งเป็นชีวิตกลุ่มคนเล็กๆ ที่ถูกกระทำ เป็นชะตากรรมที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นพื้นที่ไหนก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกันหรอก”

เพื่อให้คนอ่านเข้าถึงบรรยากาศความเศร้าในโลกประหลาด ผู้เขียนจึงพยายามวางโครงเรื่องในรูปแบบของบันทึกที่จริงที่สุด โดยไม่ลืมที่จะใส่สีสันตัวละครที่มีอยู่จริงๆ ใช้วิธีเล่าตัดสลับไปมา ระหว่างส่วนที่ถูกวางไว้ให้เป็นบันทึกส่วนตัวกับส่วนนวนิยาย ส่วนแรกเล่าผ่านสายตาคนนอกซึ่งเป็นนักเขียนสารคดี ส่วนที่ 2 เล่าถึงตัวละครที่กำลังหลงวนอยู่ในพม่า

“ส่วนที่ 2 นี่คนอ่านจะรับรู้ว่า มันคือนวนิยาย แต่จริงๆ ทั้ง 2 ส่วนเป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งของนักเขียนสารคดีที่เข้ามาในฐานะคนนอกและค่อยๆ เรียนรู้โลก 2 ใบ ที่ซ้อนทับอยู่ในตัวเอง”

ด้วยนวนิยายอวลไปด้วยประเด็นการเมือง ศิริวรจึงต้องให้รอบด้านกับการได้มาซึ่งข้อมูล ก่อนจะร้อยเรียงใส่ลงไปในงานเขียน ผ่านการสังเคราะห์เพื่อรีเช็กความถูกต้อง ขณะที่ภาษา ศิริวรก็ไม่ได้ใช้ภาษาสวิงสวายมากนัก ค่อนข้างจะเรียบง่ายเสียด้วยซ้ำ

“เรียบง่ายกว่าเรื่องก่อนๆ ไม่ตั้งใจสวยเนี้ยบ หรือละเล่นกับภาษาเช่นเรื่องก่อนๆ ฉากก็คนละแบบ มันเหมือนเมืองประหลาดๆ เมืองหนึ่ง ภาษาเลยต้องกลมกลืนกับบรรยากาศแบบนั้น แต่หลักๆ ผมก็พยายามจะทำให้ภาพเห็นชัดว่าภาษาในเรื่อง แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบันทึกก็ใช้ภาษาอีกแบบ ส่วนที่เป็นนิยายก็อีกแบบ แต่สุดท้ายภาษาทั้ง 2 แบบก็ค่อยๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน”

คงไม่ต้องจินตนาการให้ยาก ถ้าเกิดว่าศิริวรสมใจกับซีไรต์ แน่นอนเขาจะเป็นนักเขียนเนื้อหอมทันตา และ “โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า” ก็จะมีคนแห่ซื้อเป็นพรวนในฐานะหนังสือยอดเยี่ยม

“ไม่ได้คิดไกลถึงขั้นต้องให้ถูกจริตกับใครครับ ผมก็เขียนงานตามจริตของตัวเอง และทำให้มันเต็มพลังความสมบูรณ์ที่สุดในความรู้สึกของตัวเองก็พอแล้วครับ” ศิริวร ทิ้งท้าย ก่อนจิบเครื่องดื่มแก้วโปรดอย่างสบายอารมณ์