posttoday

‘ศศิภา รัศมิทัต’ เปียโนเล่นประกอบ งานปิดทองหลังพระ

02 กรกฎาคม 2555

“นักเปียโนเล่นประกอบ” เป็นอาชีพที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย แต่ในยุโรปและอเมริกา

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

“นักเปียโนเล่นประกอบ” เป็นอาชีพที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย แต่ในยุโรปและอเมริกา อาชีพนี้นิยมกันแพร่หลาย สำหรับเมืองไทย เฟิร์น-ศศิภา รัศมิทัต เป็นหนึ่งในนักเปียโนเล่นประกอบ หรือ Piano Accompanist ที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 15 ปีแล้ว ซึ่งในเมืองไทยมีนักเปียโนเล่นประกอบอย่างจริงจังไม่เกิน 20 คน นอกจากนี้ ศศิภา ยังเป็น “นักออร์เคสตรา เปียนิสต์” หรือ “นักเปียโนวงออร์เคสตรา” สังกัดบางกอก ซิมโฟนี ออร์เครสตรา มานาน 6 ปี แม้ทั้งสองงานไม่นิยมแพร่หลายนัก เพราะดนตรีคลาสสิกมีคนฟังเฉพาะกลุ่ม แต่ศศิภาก็รักที่จะทำและเลือกเดินทางสายนี้

การเป็นนักเปียโนมืออาชีพ ศศิภา ได้มีโอกาสขึ้นแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ อาทิ การเล่นเปียโนกับวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เครสตรา ให้กับ “ชรินทร์ อิน คอนเสิร์ต” คอนเสิร์ตของนักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง ลีอา ซาลอนยา ผู้ร้อง “A Whole New World” เพลงประกอบการ์ตูน Aladdin เมื่อครั้งมาแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทย รวมทั้งเล่นเปียโนให้กับนักร้องสาวชาวฟิลิปปินส์อีกรายที่โด่งดังระดับโลกอย่าง ชารีซ เพ็มเพ็งโค เมื่อครั้งออกรายการวู้ดดี้ ฯลฯ

ศศิภา บอกว่า นักเปียโนเล่นประกอบ คือการดีดเปียโนประคับประคองท่วงทำนองทั้งหมดให้เล่นจนจบเพลง ซึ่งที่ทำอาชีพนี้ได้ต้องมีความชำนาญเฉพาะทาง ไม่เหมือนนักเปียโนทั่วๆ ไป งานนี้จึงเปรียบเหมือนเป็นงานที่ปิดทองหลังพระ “เปียโน สามารถเล่นเป็นดนตรีชิ้นหลัก เพราะนิ้วมี 10 นิ้วก็สามารถพรมปลายนิ้วเล่นได้ 10 โน้ต เปียโนจึงสามารถสร้างสรรค์ดนตรีได้หลายๆ แนวพร้อมกันได้

เฟิร์นไปเล่นในงานคอนเสิร์ตร่วมเล่นกับวงออร์เคสตรา รวมทั้งเล่นเปียโนประกอบในคอนเสิร์ตใหญ่ๆ หากคนไม่โฟกัสวงดนตรีด้านหลังก็จะไม่เห็นพวกเราเลย แต่วงดนตรีด้านหลังสำคัญ เพราะเพลงจะไม่สมบูรณ์และไพเราะได้เลยหากไม่มีดนตรีเล่นประกอบ เมื่อก่อนเฟิร์นเล่นประจำวงบางกอก ซิมโฟนีฯ แต่ด้วยอาชีพนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมในเมืองไทย ทำให้ตอนนี้ไม่มีนักดนตรีเล่นประจำ จะเรียกมาเล่นตามอีเวนต์สำคัญ อีเวนต์ที่ไปบ่อยๆ เช่น ดนตรีในสวน เป็นต้น”

ศศิภา เริ่มเล่นเปียโนอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้ทำงานเล่นเปียโนประกอบตั้งแต่เรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และเป็นนักร้องคอรัสของโรงเรียนด้วย การทำกิจกรรมให้กับโรงเรียนมาโดยตลอด ทำให้เธอได้รับทุนของโรงเรียนด้านดนตรีตั้งแต่เรียนมัธยมปลายจนศึกษาจบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกดนตรีตะวันตก (เอกเปียโน)

‘ศศิภา รัศมิทัต’ เปียโนเล่นประกอบ งานปิดทองหลังพระ

 

ขณะนี้ เธอสอบเรียนต่อด้าน Piano Accompaniment ในระดับปริญญาโท ได้ที่มหาวิทยาลัยรอยัล คอลเลจ ออฟ มิวสิกประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านดนตรี อันดับ 1 ใน 3 ของอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาจากทั่วโลกอยากเข้าไปเรียนที่นี่ แต่ติดที่เธอกำลังระดมทุนการศึกษาอยู่

“ในเมืองนอกผู้ที่เป็นเปียโนเล่นประกอบได้ ต้องมีทักษะที่สูง สามารถวิเคราะห์เพลงได้ อีกทั้งต้องเชี่ยวชาญด้านภาษา มีโสตประสาทหูที่ดี แม้สอบยากแต่เฟิร์นก็สามารถสอบเข้าได้ โดยแข่งกับนักศึกษาทั่วโลก แต่รับน้อยมาก และการเรียนต้องใช้ทุนสูงมาก ซึ่งเฟิร์นกำลังหาทุนเรียนอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอาชีพนี้ทำอะไร เวลาไปพูดคุยกับองค์กรต่างๆ ก็จะต้องอธิบายนานมาก”

การเป็นนักเปียโนเล่นประกอบ บางครั้งเป็นการเล่นร่วมกับนักศึกษาที่เรียนด้านดนตรีในมหาวิทยาลัย ที่ต้องสอบไล่วิชาดนตรี

“ในการทำงาน เฟิร์นต้องเล่นเปียโนประกอบกับไวโอลิน ฯลฯ เราไปเล่นเพลงไหนกับดนตรีอะไร เราต้องรู้จักเพลงของเขาว่าเพลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร นักแต่งเพลงแต่งเล่นกับไวโอลินเป็นอย่างไร เราต้องศึกษาก่อนเล่น ถ้าเราไปเล่นให้กับนักร้องคลาสสิก เราต้องเข้าใจทั้ง ภาษาอิตาเลียน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เพราะ Piano Accompanist ต้องทำหน้าที่เหมือนโค้ชของนักร้องอีกที เราต้องรู้ว่าโน้ตของเราเน้นตรงท่อนนี้ ถ้าเราเล่นเปียโนแล้วไม่สอดคล้องกับการออกเสียงของนักร้อง การเล่นก็จะผิดเพี้ยนทำให้เพลงนั้นล่มได้” การเป็นนักเปียโนเล่นประกอบที่ดี นอกจากเชี่ยวชาญด้านภาษาแล้ว ยังต้องเป็นนักฟัง และเป็นผู้ตามที่ดีด้วย

“การเล่นดนตรีคลาสสิกให้ไพเราะจึงต้องหมั่นฝึกซ้อม ต้องให้เกียรติผู้เล่นร่วมกับเรา เพลงจะได้ไม่ล่ม และการเป็นนักดนตรีต้องมีไหวพริบ และต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบนเวทีให้ได้ คือ การซ้อมเราซ้อมกันมาแบบหนึ่ง แต่เวลาขึ้นเวทีจริงๆ ตื่นเต้น เล่นผิด หรือเข้าท่อนผิดถูก เล่นเร็วไปหรือช้าไป หูเราต้องดีต้องอาศัยการฟัง เล่นกับมืออาชีพไม่มีปัญหา แต่เล่นกับมือใหม่ เช่น นักศึกษา ต้องตั้งสติกันให้ดีๆ”

‘ศศิภา รัศมิทัต’ เปียโนเล่นประกอบ งานปิดทองหลังพระ

 

หลักในการทำงานของการเป็นนักเล่นเปียโนประกอบ คือ ต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมและตรงต่อเวลา สิ่งหลังนี้เป็นส่วนสำคัญ

“อุปสรรคในการทำงาน ก็อาจจะมีคนจ้าง หรือผู้เล่นกับเราไม่เคยเจอ ไม่เคยฟัง ไม่เคยเล่นกับเรามาก่อน แต่เห็นจากใบหน้าและอายุเพียง 27 ปี ก็อาจเกิดอาการไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจในฝีมือกันได้ ก็ต้องอาศัยความเชื่อใจและการฝึกซ้อม”

คู่ใจนักเปียโน

พระคัมภีร์ : พระคัมภีร์ของคริสเตียน เฟิร์นอ่านก่อนนอนเป็นประจำ พระเจ้า คือ ความรัก และพระเจ้าหวังให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ ศาสนาสอนให้เรารักคนอื่นเหมือนเรารักตัวเอง เพราะไม่มีใครขาวหรือดำ 100% มีพระคัมภีร์อยู่ใกล้ตัวแล้วรู้สึกอบอุ่น

รูปครอบครัว : รูปนี้เป็นกำลังใจให้เฟิร์นมีแรงที่จะทำสิ่งต่างๆ ภาพนี้ทำให้เฟิร์นนึกถึงคุณพ่อ (เสียชีวิตแล้ว) เฟิร์นกับพ่อสนิทกันมาก พ่อสอนให้เฟิร์นมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่คนในครอบครัวมีความคิดไปคนละแบบ พ่อสอนเสมอว่าไม่อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง แต่อยากให้เป็นคนดี เพราะคนเก่งอยู่ในสังคมอยู่ยาก แต่เฟิร์นอยากพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่า เราจะดีและเก่งไปพร้อมๆ กันได้

ลีอา ซาลอนยา : เธอเป็นนักร้องที่เก่งมาก แต่เธอเริ่มจากการเป็นนักเปียโน ในครอบครัวคิดว่าเธอเป็นนักเปียโนที่เก่ง แต่พอเธอไปออดิชันร้องเพลงมิสไซ่ง่อนที่อังกฤษ จากนั้นเธอก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักร้องที่เก่งมาก ลีอาสอนให้เฟิร์นรู้ว่า เราเติบโตจากสิ่งหนึ่ง แต่เราอาจเติบโตไปเป็นอีกอย่างก็ได้ ถ้าเราตั้งใจ เช่น เฟิร์นนอกจากเป็นนักเปียโนแล้ว ก็ยังผันตัวเองไปเป็นครู หรือทำอย่างอื่นได้ด้วย

ชรินทร์ นันทนาคร : เป็นศิลปินแห่งชาติที่เก่งมาก เฟิร์นเพิ่งเล่นคอนเสิร์ตของคุณลุงตอนฉลองครบรอบ 70 ปี คุณลุงก็ยังแข็งแรง เฟิร์นชอบในความเป็นศิลปินของคุณลุงซึ่งเป็นต้นแบบในการทำงานที่ยอดมาก อย่างคุณลุงจะแสดงคอนเสิร์ต คุณลุงทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมทุกครั้ง อัดเพลงไปฟัง หมั่นออกกำลังกายให้ปอดแข็งแรง คุณลุงทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ ท่านให้เกียรติคนดู ซึ่งต่างจากศิลปินต่างชาติที่เคยร่วมงานด้วย เขาไม่ฝึกซ้อมเต็มที่ แต่คุณลุงชรินทร์เป็นศิลปินที่ทุ่มเทมาก

เกล้า รัศมิทัต : สามีเหมือนเป็นเพื่อนแท้และเพื่อนคู่คิด เรารู้จักและเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กๆ และก็ได้แต่งงานกัน เราชอบดนตรีเหมือนกันเพราะเขาก็เป็นลูกศิลปิน (ต้น แมคอินทอช) ตั้งแต่เด็กๆ ครอบครัวของเราสนิทกัน ตอนเฟิร์นเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ของสามีก็คอยช่วยเหลือทุกอย่าง สามีเป็นทั้งกำลังใจ อยู่เป็นครอบครัวเดียวกันแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ