posttoday

อภิรัฐ บุญเรืองถาวร เติมความคิดพลิกความฝันสุดยอดงานดีไซน์

08 พฤษภาคม 2555

หนุ่มมาดเซอร์วัยต้น 30 คนนี้ ดูผาดเผินอาจจะคิดว่าเขาเป็นนักดนตรีหรือคนเบื้องหลังในแวดวงภาพยนตร์

โดย...อณุศรา ทองอุไร

หนุ่มมาดเซอร์วัยต้น 30 คนนี้ ดูผาดเผินอาจจะคิดว่าเขาเป็นนักดนตรีหรือคนเบื้องหลังในแวดวงภาพยนตร์ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่เขาคือ อภิรัฐ บุญเรืองถาวร ดีไซเนอร์และหุ้นส่วนของบริษัท พลัสเซนส์ นั่นคือบทบาทและหน้าที่การงานประจำของเขา กับการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน

จุดเด่นในงานของเขาก็คือ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์โต๊ะและเก้าอี้ชุด Smood ที่มีแนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Design) โดยการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างคุณค่า เช่น อะลูมิเนียมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเน้นความเรียบง่าย สวยงาม แข็งแรงทนทานในทุกสภาวะอากาศ คือใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งได้

ทางด้านการศึกษานั้น เขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เอกศิลปอุตสาหกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำงานออฟฟิศออกแบบอยู่ 2 ปี แล้วก็ออกมาทำงานอิสระอีก 2-3 ปี ก่อนจะมาเปิดบริษัทออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง โดยงานของเขาส่งออกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือขายในประเทศให้กับโรงแรม รีสอร์ต หมู่บ้าน ร้านอาหาร ร้านกาแฟเป็นส่วนใหญ่

ผลงานการออกแบบของเขานั้น สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศมาได้ถึง 4 รางวัล คือ รางวัลไทยสร้างสรรค์ประเภทผลิตภัณฑ์ดีมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจสูง รางวัล DEMARK ของกรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ ประเภทสินค้ามีคุณภาพในการส่งออก รางวัล Good Design จากญี่ปุ่น และรางวัล DFA เอเชียนอะวอร์ด จากฮ่องกง

อภิรัฐ บุญเรืองถาวร เติมความคิดพลิกความฝันสุดยอดงานดีไซน์

เขาบอกว่า เขาใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการผลิตและออกแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบหลักมาจากอะลูมิเนียมที่ทำมาจากของรีไซเคิล เนื่องจากหุ้นส่วนที่ทำงานอยู่ด้วยกันเขามีโรงกลึงขนาดปานกลางที่รองรับงานเราได้ และมีช่างหลอม ช่างหล่อ ช่างเชื่อม ช่างกลึงครอบวงจร “ก็คิดว่าเราจะทำอะไรกับพื้นฐานที่เรามีอยู่ โดยไม่ต้องสร้างโรงงานใหม่ จริงๆ งานทองเหลืองก็นำมาทำได้แต่เพราะต้นทุนสูงกว่าและทองเหลืองจะดำและขึ้นคราบเขียวง่าย การรักษาจะยากกว่าอะลูมิเนียมซึ่งไม่เป็นสนิมมีความมันวาว น้ำหนักเบา ทนการขีดข่วน ทนกระแทก ราคาถูกและวัสดุที่นำมารีไซเคิลก็หาได้ง่ายกว่า”

นอกจากนี้ เขายังได้เข้าร่วมโครงการสร้างนักออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์สู่ตลาดโลก (Talent Thai) ปี 2012 ของสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เพื่อสร้างนักออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบสินค้าเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์โดยรวม และพัฒนาขีดความสามารถของนักออกแบบไทยให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างกลุ่มนักออกแบบที่มีศักยภาพเป็นต้นแบบ ในการพัฒนานักออกแบบรุ่นต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขยายมูลค่าการส่งออก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในการเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีการออกแบบดี โดยในปี 2555 นี้ เป็นการดำเนินโครงการเป็นปีที่ 9

อภิรัฐ เล่าว่า เข้าร่วมโครงการนี้มาหลายครั้งแล้ว เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กหน้าใหม่จนพัฒนาสู่การมีแบรนด์ของตัวเอง คือ กรมได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ “New” เป็นผู้มีความสามารถในการออกแบบและผลิตสินค้า มีประสบการณ์หรือมีแบรนด์เป็นของตัวเองมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี กลุ่ม “Now” มีประสบการณ์หรือมีแบรนด์เป็นของตัวเองมาแล้ว 2–3 ปี และ “Next” มีประสบการณ์หรือมีแบรนด์เป็นของตัวเองมาแล้ว 4–8 ปี และปีนี้เขาได้อยู่ในกลุ่ม Next

เขาบอกว่า การเข้าร่วมโครงการแบบนี้ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดี ได้ความรู้ใหม่ๆ ในเชิงธุรกิจ ที่สำคัญช่วยให้ต่อยอดในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และบางรายถึงขั้นโชคดีในการเจอหุ้นส่วนและคู่ค้าทางธุรกิจได้อย่างลงตัว “มันเป็นการเปิดโอกาสให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้นในเชิงธุรกิจ มีโอกาสเปิดตัวเองสู่ตลาดโลก ได้การสั่งซื้อขนาดใหญ่ และอาจจะโชคดีมีแบรนด์ของตัวเอง จากเดิมที่แค่รับจ้างผลิตแล้วลูกค้าไปติดยี่ห้อเอง หากเราแข็งแรงพอจนมีแบรนด์ของตัวเองก็ทำให้เรามีรายได้ มีความยั่งยืนในเชิงธุรกิจมากขึ้น”

เขาบอกต่อว่า อยากชวนนักออกแบบหน้าใหม่เข้ามาสมัครเพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณจะได้เรียนรู้อบรมในเชิงธุรกิจได้มุมมองใหม่ๆ ในการทำงานและการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้ไปออกงานแฟร์ในต่างประเทศเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ จะแพ้หรือชนะไม่เป็นไร ขอให้ได้ลอง นักออกแบบก็เหมือนมีดต้องลับบ่อยๆ ถึงจะคม การเข้าประกวดบ่อยๆ ทำให้คุณได้ประสบการณ์รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ตัวเขาเองดูเหมือนมือล่ารางวัลเพราะส่งผลงานประกวดมาตั้งแต่เรียนปี 4 แต่กว่าจะชนะในเวทีใหญ่ๆ ขนาดนี้เขาก็แพ้มาเยอะ โชคดีที่ไม่เคยท้อสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ ถ้าไม่ทำก็เป็นแค่นักออกแบบที่อยู่แต่ในโรงงานไม่ได้เห็นโลกกว้างอะไร

“นี่ก็กำลังจะไปออกงานแฟร์เฟอร์นิเจอร์ที่ฝรั่งเศสกับกรมส่งเสริม เดือน ก.ย.นี้ ถ้าไม่ได้มาสมัครโครงการนี้ โอกาสที่จะไปเองก็ยากมาก ผมได้อะไรจากตรงนี้เยอะมาก ช่วงนี้เขาก็เปิดอยู่นะครับลองเข้าไปดูได้ที่ www.talentthai.com ขอแนะนำว่าคุณจะได้เปิดโลกทางความคิดจริงๆ” เขากล่าวเชิญชวน