posttoday

ราชพัสตราภรณ์ล้ำค่า จากผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

30 เมษายน 2555

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายแบบไทยอย่างแท้จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ

โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้นำในการแต่งกายแบบไทยอย่างแท้จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ ในระหว่างการตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปในการทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาฉลองพระองค์ชุดไทยของพระองค์เป็นที่รู้จักในชื่อ “ชุดไทยพระราชนิยม” และเป็นต้นแบบชุดประจำชาติของสตรีไทยในปัจจุบัน

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าผ้าไทยงดงามและมีเอกลักษณ์ ควรอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหาย จึงมีพระราชดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าทั้งในราชสำนักและท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดตั้งขึ้น ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บรักษาผ้าและจัดแสดงผ้าประเภทต่างๆ พร้อมจัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นประธานที่ปรึกษา โดยเสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา

ราชพัสตราภรณ์ล้ำค่า จากผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

สมบัติล้ำค่าของชาติ

เมื่อเดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิมานเทเวศร์ ซ้ายมือคือหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตึกสีเหลือง ที่ปรับซ่อมแซมใหม่เพื่อใช้สถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เคยทรงระหว่าง พ.ศ. 2503-2532 ตลอดจนพระภูษาและเครื่องทรงในพระราชสำนักอายุกว่า 100 ปี จากพระคลังในพระบรมมหาราชวัง และพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณตำหนักพระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ในพระราชวังดุสิต

ห้องจัดแสดงที่ 1 “ราชพัสตราจากผ้าไทย” จัดแสดงฉลองพระองค์ชุดสากลในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ

ในห้องจัดแสดงที่ 2 “ไทยพระราชนิยม” จัดแสดงฉลองพระองค์แบบต่างๆ รวม 8 แบบ คือ ไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอัมรินทร์ ไทยบรมพิมาน ไทยดุสิต ไทยจักรี ไทยศิวาลัย และไทยจักรพรรดิ กว่า 30 องค์ วันนี้นำมาจัดแสดงนิทรรศการโดยผ่านกระบวนการอนุรักษ์โดยควบคุมทั้งความชื้น อุณหภูมิ และแสงสว่าง ตามหลักมาตรฐานสากลและเป็นวิธีอนุรักษ์สมบัติล้ำค่าไปได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

“ฉลองพระองค์ไทยจักรพรรดิ” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ เชินดูฮวาน ประธานาธิบดีเกาหลีและภริยา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2524

ราชพัสตราภรณ์ล้ำค่า จากผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

ฉลองพระองค์ไทยจักรพรรดิสีชมพูชุดนี้ ออกแบบสไบจีบสีชมพู ห่มทับด้วยผ้าทรงสะพัก ปักประดับด้วยลูกปัด ไหม แล่ง พลอยสี เลื่อม และดิ้นโปร่ง พระภูษาจับตัดเย็บจากผ้ายกทอง สีม่วงอมชมพูลายเกล็ดพิมเสน ชุดกรวยเชิงสองชั้นปักลูกปัดและดิ้นทอง บริเวณหน้าจีบและเชิง

อีกชุดที่งดงามเกินพรรณนา “ชุดไทยศิวาลัย” ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง ตัดเย็บจากผ้าทองลายโคมประยุกต์ ชุดกรวยเชิงลายหน้ากระดานประยุกต์ ประดับด้วยเลื่อมและลูกปัดสีทองรูปแบบต่างๆ ทั่วทั้งองค์ โดยฉลองพระองค์นี้ทรงใช้ในงานถวายพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และเจ้าหญิงแอนน์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยนั้นมีความงดงาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ถือเป็นพระราชกุศโลบายในการเผยแพร่และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ฉลองพระองค์ทุกองค์ทรงเลือกตัดจากผ้าไทยที่สวยงาม มีเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า อยากเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ไม่เพียงมีแต่ความงดงามเท่านั้น ในฐานะผู้ถวายงานรับใช้ได้เห็นถึงความตั้งพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะทรงงานติดต่อกันมาหลายสิบปี และถ้าไม่ทรงทำ ก็รับรองว่าผ้าลายโบราณเหล่านี้ก็น่าจะสูญหายไปจากเมืองไทย หรือไปตกอยู่ในคอลเลกชันของนักสะสมไปแล้ว

คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เห็นข่าวโทรทัศน์ว่าทรงเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎร เพราะต้องทรงอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่นี่คืองานที่ทรงมานานหลายๆ สิบปี จนกระทั่งถึงวันนี้

ราชพัสตราภรณ์ล้ำค่า จากผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

“การทอผ้าเป็นอาชีพหนึ่งของราษฎร ที่ทอผ้าแล้วนำมาแลกกับข้าวสาร เมื่อปี 2515 ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ดิฉันและท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ขณะนั้นลงพื้นที่ถิ่นทุรกันดารเพื่อหาซื้อผ้ามาถวาย ซึ่งแต่ก่อนร้านขายผ้าไหมก็ไม่มีหรอกนะคะ และมีแต่คนแก่เท่านั้นที่ทอผ้า หนุ่มๆ สาวๆ ใส่กางเกงยีนส์กันแล้ว

ผ้าไหมลายขิด แลกข้าวได้ก็เพียง 30-50 บาทต่อผืน ไหมขิดลายสวยๆ ที่ใส่กันในทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการแกะลายแถบเล็กๆ บนหมอน แล้วค่อยๆ พัฒนาเป็นผ้าหน้ากว้าง 40 นิ้ว ทรงค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับชาวบ้านค่ะ ตรัสกับชาวบ้านว่าทอให้ราชินีใช้ได้มั้ย ทรงใจเย็นค่ะ ไม่นำงานยากไปให้ชาวบ้านเลย ผ้าไหมขิดเมื่อเปลี่ยนฟืมทอผ้าให้ใหญ่ขึ้น ก็จะทอผ้าผืนใหญ่ และได้เงินเยอะขึ้นด้วย” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

ทรงกำชับ ‘แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย’

ห้องจัดแสดงที่ 3–4 “พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน”

บอกเล่าเรื่องราวต้นกำเนิดแห่งศิลปาชีพ ตั้งแต่ปี 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริถึงการพระราชทานอาชีพแก่ราษฎร

ต่อมาได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดาและท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ลงพื้นที่ตามเสด็จด้วย เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของราษฎร และพระราชทานความช่วยเหลือ โดยได้ทรงกำชับว่า “แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย” เพราะอาจได้พบลายผ้าโบราณ ซึ่งจะสืบไปถึงช่างทอและเรื่องราวต่างๆ ได้ จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้กลายเป็นการฟื้นชีวิตผ้าทอมือไทยที่กำลังจะสูญหาย พร้อมกับพัฒนาฐานะและคุณภาพชีวิตราษฎรไทยทุกภูมิภาคมาจวบจนปัจจุบัน

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสังเกตว่าชาวบ้านแต่งกายในเสื้อผ้าที่ทอสวยงามมาก ทรงถามว่า ประกอบอาชีพอะไร เมื่อทรงทราบว่าชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าใช้กันเอง แต่เพราะด้วยนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน จึงไม่ค่อยมีใครอยากนำผ้าเหล่านี้มาอวด นำผ้าออกมาให้ชม

ราชพัสตราภรณ์ล้ำค่า จากผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

“กว่าจะได้ผ้ากลับมาถวายสักผืน ดิฉันกับท่านผู้หญิงสุประภาดาต้องเดินกันทั้งวัน ตอนนั้นดิฉันก็อายุยังไม่ถึง 30 ปีเลย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอนว่า ให้อ่อนน้อมเข้าไปอย่างลูกอย่างหลาน แล้วต้องไม่รบกวนเขา ข้าวนี่ก็ทรงบอกให้พวกเราหาใส่กล่องไปกินกันเองด้วยนะคะ พอได้ผ้ามาก็เป็นวิธีการทอในแบบชาวบ้าน คือผ้าลายงดงามมาก แต่ผืนก็เล็กๆ แค่ 1 เมตรกว่า และมีรอยต่อจบผืนตามความเคยชินที่เคยทำกันมา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งว่าทำสัก 11 เมตรแล้วไม่มีรอยต่อได้ไหม แล้วชาวบ้านก็คิดว่า พระราชินีไม่เบื่อหรือ ผ้าลายเดียวซ้ำๆ กัน ก็เลยทอ 2 ลายในผืนเดียวกันนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) ฉลองพระองค์ในยุคแรกๆ ก็เลยมี 2 ลายในชุดเดียวกัน เพราะทรงอยากให้ราษฎรเห็นว่า ที่มีรับสั่งว่าทอให้พระราชินีใส่ ทรงใส่จริงนะคะ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทอ” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

ผ้าไหมทอจึงเป็นความผูกพันในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้สร้างงานแก่ราษฎรชนบท และสามารถยึดเป็นสัมมาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นทางเลือกให้ราษฎรได้ทำงานที่รักในบ้านเกิด ได้อยู่พร้อมหน้าครอบครัว ไม่ต้องเข้ามาแก่งแย่งทำมาหากินในเมืองใหญ่ และเหนือสิ่งอื่นใด คือได้เดินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยให้คนไทยสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนมาเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี

ผลงานที่นำมาจัดแสดง รวบรวมจากพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะ พระปรีชาสามารถ และพระราชทรัพย์ ตลอดระยะเวลา 50 ปี เพื่อให้พสกนิกรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืน

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันพุธที่ 9 พ.ค. 2555 เป็นต้นไป เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี และสำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-225-9420 02-225-9430 www.queensirikitmuseumoftextiles.org