posttoday

หน้ากากนี้มีนัย

21 มีนาคม 2555

Jack-Newcoo นั้นเป็นนามสมมติที่เขาใช้ในฐานะนักวิจารณ์ผลงานศิลปะ นามที่แท้จริงของเขาคือ

โดย...โจ เกียรติอาจิณ

Jack-Newcoo นั้นเป็นนามสมมติที่เขาใช้ในฐานะนักวิจารณ์ผลงานศิลปะ นามที่แท้จริงของเขาคือ “จักรพันธ์ ธนธีรานนท์” หรือเพื่อนพ้องน้องพี่เรียกสั้นๆ ว่า “นิว”

นิวเป็นนักวิจารณ์ศิลปะที่เติบโตมาพร้อมกับวงการศิลปะที่มีความหลากหลาย ทว่าเขาก็พยายามจะจับจดและสนใจงานที่มีกลิ่นอายความเป็นโพสต์โมเดิร์นอยู่พอสมควร

เช่นเดียวกับผลงานที่นิวสร้างสรรค์บนพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะชุดก่อนๆ ซึ่งเคยไปโรดโชว์โซโลเดี่ยว หรือถูกคัดเลือกไปจัดแสดงกลุ่ม ณ ต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ก็ล้วนมีความเป็นตัวนิวผสานกับความเป็นโพสต์-โมเดิร์นได้อย่างกลมกลืน

หน้ากากนี้มีนัย

Jack Back to Town นิทรรศการล่าสุดที่นิวกลับมายืนบนแผ่นดินเกิด ครั้งนี้เขาจัดเต็มว่าด้วยธีมเรื่องราวหน้ากาก โดยทั้งหมดเป็นผลงานที่เคยจัดแสดงและได้เสียงตอบรับดีเกินคาดที่ต่างประเทศมาแล้ว

“มันเป็นงานที่ผมไปแสดงต่างประเทศ แต่ยังไม่เคยแสดงในเมืองไทย นำกลับมาแสดงให้คนไทยได้ดู ผมเลยไปพ้องกับชื่อ Jack Back to Town ก็เหมือนการกลับมาของผมและการกลับมาของผลงาน ซึ่งตอนที่ผมไปแสดงต่างประเทศ ค่อนข้างสนุกนะและท้าทายดี อย่างชุด Mr.Siam ผมก็ได้เห็นฟีดแบ็กคนต่างชาติที่มีต่อคนไทยและวัฒนธรรมบางเรื่อง เขาเองก็ยังไม่เข้าใจคนไทยหรอก เช่น การปิดทอง ทำไมคนไทยต้องปิดทอง ปิดเพื่ออะไร”

ศิลปินมุ่งพาคนดูดำดิ่งสู่ประเด็นสภาวะจิตตัวศิลปินเอง ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ใช้หน้ากากเป็นสื่อ หรือช่องทาง หน้ากากต่างขนาดจัดวางบนสเปซที่ไม่ซ้ำกัน แม้มันจะถูกออกแบบมาในลักษณะเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่ามันต่างกันแน่นอน ก็เห็นจะไม่พ้นสีสัน ที่แต่งแต้มลงไป ทำให้เกิดเป็นภาพหน้ากากคละสี

“ผมเชื่อนะครับว่ามนุษย์ทุกคนมีหน้ากากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะหยิบหน้ากากแบบไหนมาใช้กับใคร หรือสถานการณ์และเวลาไหน ฉะนั้น สำหรับผม หน้ากาก---ถ้าหยิบเอามุมดีๆ มาใช้ ก็จะเจอข้อดีเยอะ แต่ถ้าหยิบมุมร้ายๆ ออกมาใช้ เราก็จะเจอแต่มุมร้ายๆ”

หน้ากากนี้มีนัย

ประสบการณ์การเดินทางไปแสดงผลงานยังต่างประเทศช่วยต่อยอดให้การทำงานชุดนี้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น ที่สำคัญมันยังสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะศิลปินได้ขมวดปมย้อนแย้งที่เขาพานพบมา ผ่านงานอินสตอลเลชัน หรืองานจัดวาง รวมทั้งยังมีงานวิดีโออาร์ตและงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ ที่เขารวบรวมมาปะทะสังสรรค์กันแบบกว้างๆ เพื่อให้คนดูมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน หรือตีความสัญลักษณ์

“ตอนที่ผมไปทำงานที่ต่างประเทศมันก็จะมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งผมว่าเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาก็เหมือนหน้ากากในรูปแบบต่างๆ ที่ผมต้องรู้จักที่จะหยิบมันมาสวมไว้นั่นแหละครับ”

นิทรรศการชุดนี้มีผลงานให้คนที่ชอบงานแนวๆ ดูกันจุใจถึง 4 ชุดย่อย เริ่มที่ Mr.Siam เพอร์ฟอร์แมนซ์ผสมกับวิดีโออาร์ต Spirit of Japan เคยไปแสดงที่ญี่ปุ่น นำเสนอหน้ากากชิ้นเล็กๆ เกือบ 1,000 ชิ้น เป็นงานอินสตอลเลชันที่สร้างความฮือฮาอย่างมากให้แก่คนดู พูดถึงการปะทะและการเผชิญหน้าของมนุษย์ อีกงานก็คือ Passenger Drawing ครบสูตรของการแสดง ทั้งเพอร์ฟอร์แมนซ์กับอินสตอลเลชัน โดยมีภาพถ่ายเข้ามาแจมด้วย สุดท้าย Portrait of Graz หน้ากากเพนต์ เซรามิก ภาพถ่าย วิดีโออาร์ต เพอร์ฟอร์แมนซ์

ใครสนใจก็แวะไปดูกันได้ที่แกลเลอรีเก่า Artery ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ทำเลใหม่ สีลม ซอย 19 ถนนสีลม โทร. 02-630-3006 ผลงานแสดงจนถึงวันที่ 30 มี.ค.นี้