posttoday

ภูบดี ไชยพลี ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแปลก

27 กุมภาพันธ์ 2555

เป็นนักธุรกิจและนักบริหารหนุ่มแน่นวัย 30 ต้นๆ ที่ต้องจับตามองแบบตาไม่ต้องกะพริบกันเลยล่ะสำหรับหนุ่มเชียงรายผู้นี้

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

เป็นนักธุรกิจและนักบริหารหนุ่มแน่นวัย 30 ต้นๆ ที่ต้องจับตามองแบบตาไม่ต้องกะพริบกันเลยล่ะสำหรับหนุ่มเชียงรายผู้นี้ ภูบดี ไชยพลี บุรุษผู้มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน ทั้งเทคโนโลยี การตลาด ครีเอทีฟ และมีศิลปะการสื่อสารเป็นพิเศษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิว พี ครีเอชั่น กรุ๊ป (W.P. Creation Group) ที่เขาก่อตั้ง และกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ดับบลิว พี อีกหลายบริษัท

“ภูบดี” หรือ “บดี” มีมุมมองในการทำธุรกิจชัดเจนมาก หากจะมองลึกแนวคิดอาจดูคล้ายคลึงกับสตีฟ จ็อบส์ อัครบุรุษผู้พลิกโลก และมุมมองการทำธุรกิจของเขาคือ ความล้มเหลว ไม่ใช่เรื่องแปลก ความโง่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะไม่ยอมปล่อยโอกาสทองที่มาถึงให้หลุดลอยไปง่ายๆ และเลือกจะเดินในมุมใหม่ๆ ฉีกแนวจากคนอื่น

เด็กบ้านนอกผู้หลงรักไอที

ในวัยเด็กเขาเป็นคนที่แปลกกว่าเด็กคนอื่นๆ เรียนรู้เรื่องการค้าขายตั้งแต่เรียนชั้นประถม โดยคุณแม่ซึ่งเป็นครูได้เปิดร้านขายของ ได้ใช้ให้ไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เช่น โอนเงิน ฝากเงิน เก็บเงินจากลูกค้า ทำให้ได้รู้จักคนมากมาย แต่พอเรียนมัธยมขึ้น ม.2 เขาก็ตัดสินใจไปเรียนอิเล็กทรอนิกส์หลังเลิกเรียนจนห้องนอนของเขากลายเป็นโรงอิเล็กทรอนิกส์ย่อยๆ

ภูบดี ไชยพลี ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแปลก

 

ไม่เพียงเท่านั้น พอเรียน ปวช.ปวส. เขาย้ายมาอยู่ที่ จ.ตาก กับญาติ เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมโยธา (สาขาเดียวต่อเนื่องถึงมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) ระหว่างเรียนได้รับคัดเลือกให้บริหารงานสโมสรนักศึกษาและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการและกิจกรรมมากมาย และได้เปิดร้านกราฟฟิกเฮาส์และร้านซ่อมคอมพิวเตอร์เล็กๆ ของตัวเองใน จ.ตาก และปิดตัวลงเมื่อเรียนจบ ปวส.

ความคิดใหม่ๆ ของบดีไม่เคยหยุดนิ่ง เขาเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย โดยหุ้นกับเพื่อนพิมพ์สมุดโน้ตของมหาวิทยาลัยขายด้วยดีไซน์เก๋ๆ ประสบความสำเร็จอย่างงาม จนขยายตลาดไปยังมหาวิทยาลัยอื่นทั่วกรุงเทพฯ มีการตั้งทีมขาย ทำโปรโมชัน และใช้แบรนด์ชื่อว่า b_arch ทำรายได้หลายแสนบาทในแต่ละเทอม

ก่อตั้งบริษัทของตัวเอง

ในปี 2544 เขาเป็นฟรีแลนซ์ออกแบบดีไซน์ให้กับสถาบันกวดวิชา PEP บริษัท Compaq Computer (Thailand) และบริษัทเอกชนหลายแห่ง รับผิดชอบโครงการอีเลิร์นนิงให้กับองค์กรต่างๆ อาทิ ปูนซีเมนต์นครหลวง แต่ต่อมาก็ตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเอง

“แม้ความสามารถของเขาจะเป็นที่ยอมรับของผู้ว่าจ้าง แต่ว่าการเป็นฟรีแลนซ์ดูจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ดังนั้นผมจึงได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาในชื่อ W.P. Creation Group โดย W หมายถึงภรรยาผม และ P มาจากชื่อของผมเองในปี 2545 เริ่มจากพนักงาน 5 คน ให้บริการออกแบบสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณา โดยรับผิดชอบเองทุกกระบวนการในช่วงแรก ทั้งหาลูกค้า ออกแบบ พิมพ์ ควบคุมคุณภาพ โดยมีลูกค้าหลักคือบริษัท Compaq Computer (Thailand)”

เขากล่าวว่า ปี 2547 ได้ขยายการให้บริการครอบคลุมมากขึ้น ทั้งงานอีเวนต์ แอ็กทิวิตี นิทรรศการ และเทรดโชว์ ในปี 2550 ขยายงานครอบคลุมทั้งระบบของการสื่อสารทางการตลาด คิดและบริหารแคมเปญให้กับสินค้าเทคโนโลยีหลายรายการ โดยได้รับคัดเลือกเป็น Selected Vender ของบริษัทไอทีระดับโลก อาทิ ไมโครซอฟท์ และฮิวเลตต์แพคการ์ด ประเทศไทย

6 ปี รายได้ทะลุเกือบ 130 ล้าน

นอกจากนี้ ในปี 2551 บริหารแคมเปญทางการตลาดของบริษัทไอทีประสบความสำเร็จ โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน The Best Marketing Campaign of the Year 2008 โดยนิตยสาร Marketeer ถึง 2 แคมเปญ และยังชนะรางวัลทางด้านการตลาด HP Circle Awards จากแคมเปญที่เข้าชิงทั่วโลก

ผลิตผลที่เป็นรายได้ที่บังเกิดขึ้นแก่เขาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปี 2551 บริษัท ดับบลิว พี ครีเอชั่น กรุ๊ป มียอดขายกว่า 120 ล้านบาท เขาไม่หยุดแค่นั้น พร้อมทั้งขยายธุรกิจไปรับจัดงานอีเวนต์ในหลายมณฑลในประเทศจีน ปี 2554 ก็ร่วมกับพาร์ตเนอร์ก่อตั้งบริษัท ดับบลิว พี ครีเอชั่น โฮลดิ้งส์ ในประเทศสิงคโปร์ ให้บริการด้านการตลาดและอีเวนต์ในระดับเอเชีย แปซิฟิก บริษัท พีทู ครีเอชั่น เพื่อให้บริการด้านอินสโตร์และอินเตอร์แอ็กทีฟ มีเดีย บริษัท ดินาโม เน็ตเวิร์ค เพื่อทำการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการตลาด

บดี บอกว่า ใช่ว่าความสำเร็จจะเกิดเสมอไป หลายครั้งก็ล้มเหลว เคยทำโปรเจกต์ 10 ล้านบาท เจ๊ง แต่ก็ไม่เคยท้อ ถือเป็นเรื่องธรรมดา และก็ไม่คิดว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องแปลกอะไร แต่มองเป็นโอกาสมากกว่าที่จะแก้มือทำให้ดีขึ้น

ความสำเร็จของหนุ่มผู้นี้ต้องตามดูกันต่อไป ต่อไปเราจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเขา ใช่เราอาจจะคุ้นกับระบบการจ่ายเงินด้วยบัตรต่างๆ แต่ตอนนี้เขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีระบบการจ่ายเงินด้วยใบหน้า