posttoday

ปีหน้าถ้าน้ำมา สู้ ปรับตัว หรือหนี

28 พฤศจิกายน 2554

น้องน้ำยุติธรรม ไม่ลำเอียง แวะไปเยี่ยมเยียนทั่วถึงกันหมด ไม่เว้นกระทั่งเซเลบริตี-นักแสดง-นักร้อง

โดย...มัลลิกา-วราภรณ์

น้องน้ำยุติธรรม ไม่ลำเอียง จะยากดีมีจนน้องน้ำแวะไปเยี่ยมเยียนทั่วถึงกันหมด ไม่เว้นกระทั่งเซเลบริตีและนักแสดงและนักร้อง

คนดังอย่าง ชาย-อานันท์ทวีป ชยางกูร ณ อยุธยา บ้านแถวบางบัวทอง น้อยหน่า-สิริผกา กรรณสูต บ้านย่านวิภาวดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิร์ลลี่-ลักษมีกานต์ อิงคะกุล ทายาทโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ย่านหลักสี่ ดอนเมือง ที่ตอนนี้กลายสภาพเป็นเกาะกลางทะเลสาบไปแล้ว แต่โชคดีน้ำไม่เข้ามาถึงโรงแรม รวมทั้ง ติ๊กอภิภาวดี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา น้ำท่วมบ้านหรูย่านปทุมธานีสูงเกือบมิดชั้น 1 หญิง-ศศมณฑ์ สงวนสิน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย และเม่ย-พรรณสิรี คุณาไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดี บ้านอยู่ย่านทวีวัฒนา ก็ไม่รอดพ้นน้ำท่วมเช่นกัน ฯลฯ

เจ็บแล้วต้องจำเป็นบทเรียน! หากปีหน้าน้ำท่วมอีก 3 หนุ่มคนดังอย่าง เชนธนา ลิมปยารยะ ชายอานันท์ทวีป ชยางกูร ณ อยุธยา และนนท์ รุจิรวงศ์ เตรียมรับมืออย่างไร!

รัฐบาลควรแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า

เชน-ธนา ลิมปยารยะ เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วม นอกจากน้ำท่วมบ้านแล้ว ยังส่งผลกระทบให้งานหด ตัวเขาเองยังต้องกลายเป็นผู้อพยพอีกด้วย “น้ำท่วมปีนี้เรามีบทเรียนแล้ว ผมเองเพิ่งเคยเจอกับเหตุการณ์หนักขนาดนี้ ถ้าเกิดปีหน้าต้องรับมือกับน้ำท่วมอีก อยากให้ทางรัฐบาลแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าให้มีการเตรียมรับมือ ป้องกันทรัพย์สิน ชีวิต และอยากให้มีมาตรการในการป้องกัน ระบายน้ำให้ดีที่สุด เร็วที่สุด เกิดความเสียหายน้อยที่สุด” หนุ่มเชน บอก

ปีหน้าถ้าน้ำมา สู้ ปรับตัว หรือหนี

 

แม้เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะกลายเป็นบทเรียน หรือในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก นักร้องหนุ่มก็เตรียมรับมือไว้แล้ว

“ผมว่าการย้ายที่อยู่ แม้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะนอกจากบ้านที่กรุงเทพฯ ผมก็มีบ้านอยู่ที่นครปฐม ซึ่งก็โดนน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ คงต้องมีบ้านสำรองไว้ เช่น ที่เชียงใหม่ หรือเชียงราย เพราะชอบ อากาศดี ถ้ามีทำเลดีก็อยากสร้างบ้านไว้พักผ่อน ส่วนบ้านที่กรุงเทพฯ ตอนนี้คงทำอะไรเพิ่มเติมไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้สร้าง หรือสร้างใหม่ ผมก็อยากออกแบบให้สูงขึ้น ใช้วัสดุที่ทนน้ำ ทนความชื้นแบบบ้านลอยน้ำ ก็เป็นความคิดที่ดี แต่คงต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน ถ้าอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มน้ำท่วมสูงทุกปี คงต้องหาวิธีที่ถาวรและยั่งยืนครับ ระบบการจัดการน้ำ การขุดลอกคูคลอง ปัญหาขยะ ทางระบายน้ำ คงต้องดูแลเป็นพิเศษ”


เสริม ซ่อม สร้างกำแพงให้แข็งแกร่ง

ทายาทเดลินิวส์ นนท์ รุจิรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แม้ที่บ้านน้ำไม่ท่วม แต่ออฟฟิศน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิตที่ตั้งของโรงพิมพ์ เรียกว่ากินนอนอยู่ที่นี่เลย นนท์ ยอมรับว่ารู้สึกเครียดกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น แม้น้ำจะท่วมนานเพียง 3 สัปดาห์ก็ตาม

ปีหน้าถ้าน้ำมา สู้ ปรับตัว หรือหนี

 

“ที่ออฟฟิศแม้น้ำไม่ทะลักเข้ามาด้านใน เพราะเรากั้นกระสอบทรายบริเวณหน้าออฟฟิศติดกับถนนไว้สูงมาก ทั้งนำหินคลุกมาทำเป็นเนินหน้าโรงพิมพ์สูงถึง 2 เมตร แม้น้ำไม่ทะลักเข้ามา แต่ก็เอ่อเข้ามา ส่วนด้านในออฟฟิศเราทำกำแพงก่ออิฐขึ้นมาสูงเกือบ 2 เมตร รอบๆ แท่นพิมพ์ทั้ง 3 แท่น รวมทั้งตู้ไฟ เพื่อป้องกันน้ำที่จะทะลักเข้ามา เพราะเราคิดว่าถ้าน้ำเข้ามาจริงๆ จะส่งผลเสียเยอะมาก นอกจากหยุดพิมพ์แล้ว ต้องซ่อมเครื่องจักรด้วย ซึ่งไม่คุ้มค่า ป้องกันไว้ดีกว่า โดยเราเตรียมตัวต้อนรับน้ำไว้ก่อนเดือนกว่าๆ พนักงานช่วยเหลือกันเฝ้าระวังและกรอกถุงทราย”

แม้ป้องกันอย่างดี แต่ด้านหลังโรงพิมพ์เดลินิวส์ซึ่งติดคลอง ทำให้น้ำเอ่อท่วมบริเวณด้านหลังอาคาร ส่งผลให้ห้องเก็บหนังสือพิมพ์เสียหายบางส่วน ประกอบกับรถส่งหนังสือพิมพ์ที่วิ่งตะลุยน้ำก็เสียไปแล้วหลายคัน รวมทั้งกำแพงด้านหน้าโรงพิมพ์คลื่นซัดจนกำแพงพัง แม้จะทำการนำเสาเหล็กมาค้ำยันอย่างดี หลังน้ำลดจึงต้องซ่อมแซมและเสริมให้แข็งแรงขึ้น

“ปีนี้เราเสียหายรวมๆ อยู่ที่หลักล้านบาทต้นๆ เพราะเราเตรียมตัวอย่างดี หากน้ำท่วมปีหน้าอีก เราตัดสินใจสร้างกำแพงใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม เรียกว่าบูรณาการโครงสร้างกำแพงใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงทำสูง 2-3 เมตรเท่าเดิม แต่ทำให้แข็งแรงขึ้น แต่ตัวโรงพิมพ์เองคงยกระดับสูงกว่านี้ไม่ได้ เพราะแท่นพิมพ์สูงเท่าตึก 3 ชั้น เราเพียงก่ออิฐสูงเมตรกว่าๆ รอบๆ ตู้ไฟและแท่นพิมพ์ ซึ่งเราทำไว้ เรายังไม่รื้อออก ปล่อยเอาไว้ถาวรเพื่อรองรับปีหน้า ส่วนกระสอบทรายยังต้องเตรียมเพราะช่วยได้มาก อีกทั้งเรายังต้องสำรวจท่อน้ำและท่อระบายน้ำที่มีอยู่รอบๆ เดลินิวส์ว่า เราจะทำการอุดท่อปีหน้าให้ดีได้อย่างไร แต่การจะย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่ที่อื่นคงเป็นเรื่องยาก และไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราขอป้องกันตรงนี้ให้เรียบร้อยก่อน รวมทั้งสามารถจัดการกับปัญหาของพนักงานที่บ้านน้ำท่วมให้เสร็จสิ้น พนักงานจะได้กลับไปอยู่ที่บ้านได้”

ปักหลักสู้น้ำไม่ถอย

เซเลบริตีหนุ่ม ชาย-อานันท์ทวีป ชยางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อานันท์ทวีป อินเตอร์เนชั่นแนล คฤหาสน์หลังสวยแถวๆ ถนนรัตนาธิเบศร์ บางบัวทอง ก็ท่วมอย่างหนัก ต้องอพยพมาอยู่คอนโดมิเนียมในเมือง

ปีหน้าถ้าน้ำมา สู้ ปรับตัว หรือหนี

 

“ตอนนี้น้ำยังสูงอยู่ ถนนในหมู่บ้านไม่สามารถเข้าออกได้ด้วยรถธรรมดา ทีแรกไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วม แต่ที่บ้านอยู่ติดกัน 6 หลัง และมีคลองระบายน้ำคั่น ในคลองน้ำก็เอ่อขึ้นเรื่อยๆ จนท่วมในที่สุด ก่อนท่วมที่บ้านป้องกันด้วยการก่อกำแพงสูงประมาณ 1 เมตร กั้นน้ำในคลองไว้ พอน้ำขึ้นสูงตัดสินใจออกจากหมู่บ้าน แล้วปัจจุบันยังไม่ได้กลับเข้าบ้านไปดูเลย” สิ่งที่เสียหายนอกจากสวนที่คุณแม่เปลี่ยนและปลูกต้นไม้อย่างดีเสียหายทั้งหมด ปลาคาร์ปที่เลี้ยงไว้และว่ายอยู่ในคลอง 200 ตัวก็ตายหมด น้ำยังท่วมเข้ามาในบ้าน ทำให้พรมปูพื้น รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินและห้องครัวที่อยู่หลังบ้านเสียหายทั้งหมด หากใช้เงินฟื้นฟูน่าจะประมาณ 1 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ อานันท์ทวีป เตรียมรับมือน้องน้ำปีหน้า คือ นำบทเรียนจากการไม่ได้เรียนรู้ในปีนี้ ศึกษาไว้เป็นแนวทางป้องกัน เพื่อเตรียมแผนรับมือในปีหน้า หากน้ำท่วมปีหน้า อานันท์ทวีป เสนอความคิดว่า รัฐบาลควรมีการสื่อสารที่ดี เพื่อประชาชนจะได้รู้วิธีป้องกันอย่างทันท่วงที ความเสียหายจะได้ลดน้อยลง

“ปีหน้าหากสถานการณ์น้ำไม่ดี ผมอยากให้มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่แค่ 2-3 วัน แต่ควรจะแจ้งเตือนล่วงหน้า 2 เดือน ปีนี้เราต้องศึกษาหาคู่มือรับน้ำท่วมเอง ด้วยการติดตามทวิตเตอร์ ซึ่งบอกว่าปีนี้น้ำจะท่วมหนัก ชายจึงก่อกำแพงรอบๆ คลองหลังบ้าน แต่น้ำมามากแบบไม่คาดคิด ปีหน้าหากน้ำท่วม ชายคิดว่าจะก่อกำแพงล้อมรอบบ้านเลย และวางแผนว่าจะซ่อมแซมท่อระบายน้ำในบ้าน รวมทั้งกระเบื้องที่น้ำดันขึ้นมา กะจะวางระบบท่อระบายน้ำใหม่ เพื่อเราจะได้รู้แพลนของท่อทั้งหมด เพราะจะได้วางแผนอุดได้ดีขึ้น แต่น้องสาวที่อยู่ฮ่องกงเชียร์ให้ขายบ้านและย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่คุณแม่ไม่ยอม เพราะอยู่ที่นี่มานาน 26 ปีแล้ว หากไม่ถึงที่สุด เราก็ไม่อยากย้าย เพราะเรายังมีคอนโดมิเนียมในเมืองไว้รองรับ หากต้องย้ายหนีน้ำท่วมอีก”