posttoday

สู่ห้วงจินตนาการแบบชาวโอะตะกุ

23 พฤศจิกายน 2554

“อ้วน ผมเผ้ารุงรัง ใส่แว่น และใช้เวลาส่วนใหญ่ฝันลมๆ แล้งๆ ถึงตัวละครผู้หญิงในการ์ตูน” วิกิพีเดีย

โดย...วิชช์ญะ ยุติ

“อ้วน ผมเผ้ารุงรัง ใส่แว่น และใช้เวลาส่วนใหญ่ฝันลมๆ แล้งๆ ถึงตัวละครผู้หญิงในการ์ตูน” วิกิพีเดีย บอกลักษณะบุคคลที่เข้าข่ายโอะตะกุไว้อย่างนั้น ทั้งยังระบุโดยมากมักจะสนใจในสิ่งที่ตัวเองชอบเกินปกติและขาดความสามารถในการเข้าสังคม

ในสารนุกรม นิยามโอะตะกุ “มาจากคำ Taku (แปลว่า บ้าน) แต่หลังๆ เริ่มเพี้ยนมาเป็นความหมายเดียวกับ Mania (แปลว่า ผู้ที่คลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ)” พร้อมยังมีเสียงย้อนแย้งโอะตะกุก็อาจเป็นคนที่หน้าตาดีและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอไป

สู่ห้วงจินตนาการแบบชาวโอะตะกุ

ถ้าวัดการตีความหมายจาก 2 เว็บไซต์ เราคงไม่ใช่โอะตะกุแน่นอน แต่แต่ศิลปินสาวรายนี้ “ไพลินชรินทร ราชรัชต” ยอมรับอย่างอารมณ์ดีว่า “เป็นโอะตะกุ”

ความเป็นชาวโอะตะกุของไพลินนั้น สัมผัสได้จากการที่เธอสนใจ ชื่นชอบ และอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะมากกกกกก จนเจ้าตัวพร้อมจะให้เรา หรือคนอื่นๆ เรียกว่า “บ้า” ได้ตามสะดวก (ปาก)

ด้วยความสนใจและชื่นชอบนี่เอง ทำให้ช่างภาพอิสระไฟแรง ผู้ผ่านงานถ่ายภาพสตรีตแฟชั่นนิตยสารวัยรุ่นชื่อดัง Cheeze รวมทั้งยังเคยแสดงนิทรรศการเมื่อปีที่แล้ว 2 หน Bubble (แสดงที่ RMA) Within These Walls (แสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ) ไหนจะหนังสั้นเรื่อง “เซี่ยงไฮ้แมนชัน” อีกเล่า จึงหันกลับไปมองหาแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ๆ ตัว และเธอก็มาสรุปที่เรื่องราวชาวโอะตะกุ

สู่ห้วงจินตนาการแบบชาวโอะตะกุ

“ส่วนตัวคิดว่าโอะตะกุไม่ใช่สิ่งเลวร้ายนะ ถ้าเป็นโอะตะกุอย่างสร้างสรรค์ เพราะมันก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกแยกจากการใช้ชีวิตประจำวัน ตัวเองชอบอ่านการ์ตูน รู้เลยว่าประโยชน์ของมันมีมากกว่าโทษ อย่างน้อยๆ ก็ฝึกนิสัยรักการอ่านได้ เห็นหนังสือไม่ได้ ต้องหยิบมาอ่าน ไม่จำเป็นว่าต้องเฉพาะการ์ตูนเท่านั้น อะไรที่เป็นหนังสือ อ่านหมด หรือการแต่งคอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูน มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งชีวิตจริงทำไม่ได้หรอก แต่โลกจินตนาการการ์ตูนสามารถทำได้และการเป็นโอะตะกุก็ช่วยเติมเต็มตรงนั้นได้”

ผลงานชุดนี้ ไพลินนำเสนอผ่านภาพถ่ายที่ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย โดยแก่นสาระของเนื้อหาที่ปรากฏบนภาพถ่ายทั้ง 12 ชิ้น ค่อนข้างจะมีความเพ้อฝันและเล่นกับจินตนาการในโลกการ์ตูนเต็มอัตรา

สู่ห้วงจินตนาการแบบชาวโอะตะกุ

ไม่เพียงแค่นั้น ความหลุดโลกอย่างไร้ขีดจำกัด อารมณ์ทีเล่นทีจริง ก็แฝงไว้ในความสนุกสนาน ยิ่งเฉพาะการใช้สีสันจัดจ้านและเทคนิคจากอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยี โดยไพลินจับตัวการ์ตูนมาเป็นองค์ประกอบหลักในการเล่าเรื่องราวทั้งหมด ให้น้องๆ แก๊งโอะตะกุพันธุ์แท้ สวมวิญญาณเป็นคอสเพลย์ฮอตฮิต เพื่อสื่อถึงความสวยงามและความรักในสิ่งที่พวกเขาคลั่งไคล้ ทว่าอีกด้านเธอก็พยายามสอดแทรกมุขเสียดเย้ย (เล็กๆ) ระหว่างวัฒนธรรมโอะตะกุที่กำลังเติบโตกับความโรยราของวัฒนธรรมไทย

“ความสนใจของเด็กสมัยนี้มันอาจจะไม่ได้จำกัดแค่หนุมาน รำไทย ดนตรีไทย ลายกนก หรืออะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่มักใช้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ว่านี่ละคือความเป็นไทย แต่สิ่งที่มาจากอีกวัฒนธรรม เช่น การ์ตูน เกม การแต่งตัวเลียนแบบตัวการ์ตูน หนัง ดนตรี ที่มีกลิ่นอายจากญี่ปุ่นก็กลายเป็นความสนใจใหม่ของเด็กสมัยนี้ ฉะนั้น มันเหมือนเป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า ตกลงรากเหง้าแท้ๆ ของวัฒนธรรมไทยคืออะไรกันแน่”

นิทรรศการ OTAKU จัดแสดงจนถึงวันที่ 10 ธ.ค. ณ นัมเบอร์วัน แกลเลอรี ชั้น 1 เดอะสีลม แกลเลอเรีย ถนนสีลม โทร. 02-630-2523