posttoday

จักรายุธ์ คงอุไร นักออกแบบไฟแรงแห่งดอยตุง

21 พฤศจิกายน 2554

หนุ่มนักออกแบบเลือดไทย จิมจักรายุธ์ คงอุไร คือดีไซเนอร์โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ

โดย...วราภรณ์

หนุ่มนักออกแบบเลือดไทย จิม-จักรายุธ์ คงอุไร คือดีไซเนอร์โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ที่ได้เป็นนักออกแบบไทยคนแรกที่ได้ไปฝึกงานที่ บริษัท อีเกีย ณ เมืองอัมฮุลท์ ประเทศสวีเดน นาน 5 เดือน ที่แห่งนั้นจักรายุธ์ได้ฝึกวิทยายุทธ์ด้านการออกแบบมากมาย โดยเฉพาะหัวใจหลักของงานออกแบบที่ได้เรียนรู้คือ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งข้าวของแต่ละชิ้นประโยชน์ใช้สอยควรหลากหลาย รวมทั้งควรมีหีบห่อและการจัดส่งสินค้าที่ดี ซึ่งล้วนเป็นหัวใจหลักของการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน

จักรายุธ์ เริ่มชีวิตการทำงานด้านการออกแบบที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในปี 2549 หลังจากศึกษาจบด้านการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะจูเนียร์ ดีไซเนอร์ ในปีต่อมาเขาได้เริ่มทำงานในตำแหน่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกในคอลเลกชันของแต่งบ้านร้านแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

งานด้านการออกแบบที่จักรายุธ์ถนัดคือออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกและกระดาษสา ด้วยเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยที่สุด และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาจึงเหมาะสมและได้รับคัดเลือกให้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย อีเกีย แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านจากสวีเดนซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

จักรายุธ์ คงอุไร นักออกแบบไฟแรงแห่งดอยตุง

“โครงการฝึกงานครั้งนี้ริเริ่มมาจากการที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และแบรนด์อีเกียได้มีแนวคิดที่คล้ายกันคือ การสร้างชีวิตทุกวันของคนทั่วไปให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการฝึกงานนี้นับเป็นประสบการณ์การเรียนรู้สองทางสำหรับทั้งสองแบรนด์ โดยผ่านมุมมองของผมซึ่งเป็นนักออกแบบไทยของดอยตุง และของนักออกแบบชาวสวีเดนซึ่งเขากำลังจะเปิดสโตร์ในเมืองไทย ซึ่งอีเกียก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจในประเทศไทยและความเป็นไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งเราเชื่อว่าการเรียนรู้สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปได้อย่างยั่งยืน”

สาเหตุที่จักรายุธ์ได้รับคัดเลือก เพราะเขาเป็นนักออกแบบที่อายุน้อย และยังไม่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบมากนัก น่าจะมีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามมารถได้ หากได้รับโอกาส

สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากอีเกียสวีเดนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบปัจจุบัน คือ ทำให้เขารู้ว่า งานออกแบบที่ดี ต้องคำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน ผู้ใช้จะใช้งานอย่างไร สภาพแวดล้อมของเฟอร์นิเจอร์จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะหลักงานออกแบบของอีเกีย คือ ฟังก์ชันการใช้งานคืองานออกแบบต้องเรียบง่าย ใช้งานง่าย เพราะงานออกแบบไม่ใช่แค่ นักออกแบบคิดว่าจะออกแบบอะไรเพียงหนึ่งชิ้น แต่เรื่องการผลิต การขาย รวมทั้งการขนส่ง ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ฉะนั้นออกจากรูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่สวยแล้ว การขนส่งการแพคสินค้า ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญมากที่สุด มากกว่าหน้าตาของสินค้าด้วยซ้ำ

“การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ดี ก็สามารถช่วยพัฒนาชีวิตการเป็นอยู่ของคนในบ้านได้ดีขึ้น สำคัญมากกับการที่เวลาที่เราจะผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายในประเทศใดก็ควรเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบจึงต้องเรียบง่าย ใช้งานง่าย ซึ่งแนวคิดในงานออกแบบกว่าเขาจะออกแบบคิดคอนเซปต์ของเฟอร์นิเจอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น อีกทั้งผมได้เรียนรู้ด้านเส้นใยมากขึ้นจากการออกแบบพรมปูพื้นและมีผลงานอีกหลาย ๆ ชิ้นที่ได้ออกแบบกับนักออกแบบชาวดัชท์ที่ได้ไปฝึกงานด้วยกัน”

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่จักรายุธ์ต้องจากเมืองไทยไปนานถึง 5เดือน ชีวิตของเขาตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่สวีเดนไม่ง่ายเลย เพราะเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ภาษา อาหาร รวมทั้งการเรียนรู้ด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยทำมาก่อน

“ชีวิตที่อัมฮูลท์เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดในชีวิตที่ผมเคยทำมา แต่ผมก็รู้สึกภูมิใจเพราะอีเกียเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีแนวคิดที่ดีด้านการออกแบบ ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมาย เช่นผู้คน ชาวสวีเดนมีพื้นฐานเป็นคนถ่อมตัวและดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวตนของแบรนด์ซึ่งไม่โอ้อวด มีการออกแบบที่เรียบง่าย ตารางงานของผมทุกวัน หลังจากตื่นเช้ามาก็ต้องเข้าไปเรียนรู้และร่วมทำงานกับดีไซเนอร์ของอีเกีย โปรเจคที่ท้าทายมากโปรเจคหนึ่ง คือการได้ลองออกแบบเฟอร์นิเจอร์เอาท์ดอร์ ผมตั้งใจทำเต็มที่โดยพยายามใส่ความรู้ของทักษะการทำงานด้วยมือที่คนไทยถนัดเข้าไป เพื่อเพิ่มความแตกต่างในงานออกแบบ ”

ในงานออกแบบที่สวีเดน จักรายุธ์ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก ใครใช้และงานดีไซน์ควรออกมาเป็นอย่างไร วัตถุดิบที่ใช้ต้องมาจากธรรมชาติ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ผมสามารถพูดได้เลยว่า สิ่งที่ผมได้รับนั้นมากกว่าความรู้ในเรื่องดีไซน์ เพราะการได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์และทีมอีเกีย ทำให้ผมรู้ว่าการออกแบบสินค้าที่มีรูปแบบที่สร้างสรรค์ ใช้งานได้ดี และมีราคาย่อมเยาที่คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้นั้นทำได้จริงๆ ผมตั้งใจที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับการทำงานที่ทำอยู่ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพราะผมเห็นและเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจะช่วยพัฒนาคนและชีวิตของพวกเขาได้จริง และจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างยั่งยืน”