posttoday

"เงินๆทองๆ”เรื่องที่ต้องเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดี

31 ตุลาคม 2554

ใกล้สิ้นปีแล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่คู่รักเตรียมลั่นระฆังวิวาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการเตรียมงานแต่งงานให้สมบูรณ์แบบ

ใกล้สิ้นปีแล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่คู่รักเตรียมลั่นระฆังวิวาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการเตรียมงานแต่งงานให้สมบูรณ์แบบ

โดย..อณุศรา ทองอุไร

ใกล้สิ้นปีแล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่คู่รักเตรียมลั่นระฆังวิวาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการเตรียมงานแต่งงานให้สมบูรณ์แบบ จนลืมเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนก่อนใช้ชีวิตคู่ซึ่งเป็นแผนระยะยาว นั่นคือ เรื่อง “เงินๆ ทองๆ” ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งที่สามีภรรยาจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาครอบครัวเนื่องจาก “เงิน” เป็นสาเหตุใหญ่

"เงินๆทองๆ”เรื่องที่ต้องเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดี

มีงานเสวนาที่น่าสนใจเรื่อง “บทเรียน (การเงิน) ก่อนวิวาห์” พร้อมเชิญเหล่า “กูรู” ด้านเงินๆ ทองๆ มาให้ข้อคิดเรื่องวางแผนการเงินก่อนร่วมเรียงเคียงหมอน เพื่อให้ชีวิตแต่งงานราบรื่นไม่มีปัญหาเงินๆ ทองๆ เพราะหลายคู่เมื่อความจนมาเยือน ความรักก็กระโจนหายวับไปกับตาเช่นกัน ดังนั้นเรื่องเงินทองต้องวางแผนให้ดี

nความขัดแย้งในชีวิตคู่สาเหตุหลักจากเงินทอง

ดร.รัชดา ธนาดิเรก สส.กรุงเทพฯ ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า ก่อนแต่งงานเราต่างก็ดูใจและเลือกคนที่นิสัยที่ดีที่สุด แต่นิสัยการเงินคุณอาจละเลยไม่ได้ใส่ใจ และเมื่อตัดสินใจแต่งงานไปแล้วถึงได้พบว่าคู่ของคุณนั้นมีนิสัยการเงินที่ไม่ดี ทำให้ชีวิตคู่ของคุณมีปัญหา ใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักเก็บเงินเก็บทอง ดังนั้นการศึกษานิสัยการเงินของคนที่เราจะใช้ชีวิตคู่ด้วยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

หากเราต่างมองเห็นว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของการแบ่งปัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความรับผิดชอบ เราก็จะไม่กลัวที่จะพูดคุยเรื่องการเงิน และไม่คิดว่าเป็นประเด็นของการจ้องเอาเปรียบกัน ต้องพูดคุยด้วยมุมมองที่เป็นบวก คือ เพื่อให้ชีวิตคู่ของเรามีความมั่นคงและมีความสุข ที่สำคัญมากๆ คืออย่ารำคาญที่จะทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว

กาญจนา หงษ์ทอง นักวิเคราะห์หุ้นและผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน กล่าวว่า ความขัดแย้งในชีวิตคู่ถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมทุกวันนี้ ซึ่งในความเป็นจริงสาเหตุที่ทำให้ชีวิตคู่จบลงด้วยการหย่าร้างเกิดขึ้นได้หลายกรณี รวมไปถึงเรื่องเงินทองที่เป็นหนึ่งในปมปัญหาสำคัญที่ทำให้เรือรักล่มลง ดังนั้นเรื่องเงินทองจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามหรือละเลยไม่ได้เลย

nต้องชัดเจนเรื่องเงินทองก่อนแต่งงาน

กาญจนา แนะนำว่า ทางที่ดีควรจะพูดคุยเรื่องเงินทองกันให้เข้าที่เข้าทางก่อนแต่ง นั่นหมายถึงในช่วงที่ใช้เวลาศึกษาดูใจกันนั้น ไม่ใช่ดูแค่นิสัยใจคอของอีกฝ่าย แต่ควรจะเรียนรู้ทัศนคติและมุมมองทางการเงินของอีกฝ่ายว่าเขาหรือเธอคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ทางที่ดีอย่าไปบุ่มบ่ามถาม แต่ค่อยๆ หยอดและหยั่งเรื่องทั่วๆ ไป เช่นว่า เธออยากรวยมั้ย แล้วแค่ไหนถึงจะรวย หรืออยากได้อะไรในชีวิต เรื่องพูดคุยทั่วๆ ไปนี่แหละจะบอกได้ถึงแง่คิดและมุมมองเรื่องเงินทองของเขาว่าเป็นคนประเภทไหน หรือแม้แต่เรื่องความถูกแพงของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ก็ต้องดูว่าสำหรับเขา เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าแพง หรือแค่ไหนคือถูก การเรียนรู้ทัศนคติเรื่องเงินทองก่อนแต่งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความขัดแย้ง ซึ่งหากปล่อยให้สะสมไว้อาจนำไปสู่การหย่าร้างได้

nเทคนิคการจัดสรรเงินทองก่อนแต่ง

1.ลองพูดคุยกันเรื่องอนาคต บางคู่ก็จะเริ่มมีแผนสะสมเงินออมร่วมกันเพื่อสร้างอนาคต อาจจะมีการออมเงินรายเดือนร่วมกัน อย่างน้อยเงินตรงนี้เอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีแต่งงานได้ หรือฝ่ายชายอาจจะผ่อนบ้าน ฝ่ายหญิงผ่อนรถ หรือจะผ่อนร่วมกันก็ได้

2.ก่อนจะแต่งก็ควรจะคุยกันให้ชัดเจนว่า เมื่อแต่งงานกันแล้วใครจะรับผิดชอบจ่ายอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ไม่มีสูตรตายตัวว่าแบบไหนถูกผิด บางบ้านภรรยาผ่อนรถ สามีผ่อนบ้าน บางบ้านสามีรับผิดชอบหมด ภรรยาคอยจ่ายเฉพาะค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ ตรงนี้ขอให้พูดคุยกันให้ชัดเจน

3.ถ้ามีหนี้สินติดตัวไปก่อนแต่ง ต้องหาจังหวะบอกอีกฝ่ายว่าตอนนี้มีหนี้อยู่เท่าไหร่และคิดว่าจะปลดเปลื้องหมดเมื่อไหร่ บอกกันให้หมดเปลือก อย่ามีความลับเรื่องเงินทอง บางคู่มารู้หลังแต่ง บ้านแตกอีก บอกเขาให้เขาหรือเธอรู้ก่อน ถ้ารับไม่ได้จะได้แยกย้ายกันไปก่อนแต่ง

4.กรณีมีภาระ จะต้องส่งเสียเงินทองให้พ่อแม่ทุกเดือนหรือส่งหลานเรียนก็ต้องบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ จะได้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต

nจัดการเรื่องเงินทองให้ชีวิตครอบครัวมั่นคง

1.สื่อสารพูดคุยกันเรื่องเงินทองอยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเป็นครอบครัวอาจจะต้องมีเงินกองกลาง ไม่ได้มีแค่เงินฉันหรือเงินเธอ แต่ต้องมีเงินเราด้วย ตรงเงินเราเป็นเงินที่เผื่อสำรองไว้ใช้เรื่องฉุกเฉิน รวมถึงเพื่อสร้างอนาคตกรณีมีลูก แบ่งเงินไว้ลงทุนด้านต่างๆ บ้าง เช่น กองทุน ประกัน

2.วางเป้าหมายร่วมกันว่าครอบครัวของเรามีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร จะได้วางแผนสะสมเงินออมได้ถูก เช่น ถ้าไม่อยากมีลูก แต่อยากเกษียณกันสองคนตายายเดินทางไปเที่ยวทั่วโลก จะได้วางแผนเก็บเงินได้ถูก การลงทุนในรูปแบบต่างๆ หรือถ้าจะมีลูก นอกจากต้องออมเงินเพื่อการศึกษาของเขา ยังต้องทำประกันเพิ่มเติมด้วย

3.เมื่อมีปัญหาเรื่องเงินทองเกิดขึ้น เช่นว่า อีกฝ่ายลงทุนผิดพลาดขาดทุน หรือเผลอไปค้ำประกันให้เพื่อนจนเกิดหนี้สินตามมา ขอให้ทั้งคู่พูดคุยกันด้วยสติ อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ต้องช่วยกันประคับประคองและหาทางแก้ไขปัญหา ก็จะผ่านเรื่องร้ายไปได้ อย่าโยนความผิดหรือตอกย้ำความผิดพลาดของอีกฝ่าย จะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

การจัดการเรื่องเงินทองจึงถือว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องเรียนรู้และจัดการ