posttoday

เรือแกลลอน-ขวดน้ำกู้ชีพ

30 ตุลาคม 2554

ไอเดียเจ๋งๆ "เรือแกลลอน-เรือขวดพลาสติก" ผลงานการคิดค้นจากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา

ไอเดียเจ๋งๆ "เรือแกลลอน-เรือขวดพลาสติก" ผลงานการคิดค้นจากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา

โดย...มัลลิกา นามสง่า

เรือแกลลอน-ขวดน้ำกู้ชีพ เรือขวดน้ำ

ตอนนี้หลายๆ คนคงอยากให้เปลี่ยนจากโครงการรถคันแรก มาเป็นเรือลำแรกเสียแล้ว เพราะมองไปทางไหนๆ ก็ถูกรายล้อมไปด้วยน้ำ มองไม่เห็นเส้นทางถนนกันเลยเชียว แต่ตอนนี้อย่าว่าแต่เรือลำแรกเลย เรือสักลำยังหาได้ยาก ที่พอจะมีขายก็โก่งราคาขึ้นไป จนตาสีตาสาแทบจะควักเงินจ่ายกันจวนหมดตัว แต่จากนี้ไปปัญหานี้คงจะทุเลาลงได้บ้าง ด้วยการสร้างเรือขึ้นเองจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งช่วยประหยัดค่าต้นทุนได้อีกด้วย

เรือที่กล่าวถึงก็คือ “เรือแกลลอน” และ “เรือขวดพลาสติก” ที่สร้างขึ้นจากการออกแบบของ “รศ.ดร.มานพ แจ่มกระจ่าง” คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ส่วนเรื่องความกังวลในความความปลอดภัย เรือจะโคลงเคลงไหม จะรับน้ำหนักได้ดีไหม จะสามารถต้านทานกระแสน้ำหลากได้หรือไหม จุดนี้อาจารย์มานพได้ทำการทดสอบแล้ว สถานที่ทดสอบก็คือ ทะเลบางแสน ซึ่งมีคลื่นลม ผลปรากฏว่าเรือขวดน้ำกับเรือแกลลอนที่สร้างตามแบบสามารถลอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรือขวดน้ำ วัสดุที่ต้องใช้ก็มี เหล็กหรือไม้ ขวดน้ำดื่มพลาสติก วัสดุสำหรับยึดติด เช่น กาวร้อน กาวยาง (ที่ใช้ติดพื้นรองเท้า) สายน้ำเกลือ เชือก ตะปู

ส่วนวิธีทำนั้น เริ่มต้นด้วยการสร้างโครงจากไม้ หรือเหล็กตามแต่หาได้สะดวก การทำโครงก็นำไม้มาต่อเป็นทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้าเหมือนเตียงนอน ไม่ต้องทำรูปทรงเรือ ต้องให้หัวเรียว เพราะเน้นการลอยตัว โดยกะขนาดจากจำนวนขวดที่จะใช้ จากตัวอย่างที่ทำคือ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.8 เมตร ซึ่งสามารถบรรทุกได้ 3 คน ส่วนการคำนวณการรับน้ำหนักนั้น คิดง่ายๆ คือ ขวดบรรจุน้ำปริมาณ 1.5 ลิตร จำนวน 100 ขวด สามารถรับน้ำหนักได้ 150 กิโลกรัม

เรือแกลลอน-ขวดน้ำกู้ชีพ

จากนั้นนำขวดน้ำปิดฝาให้แน่นสนิทวางเรียงกันเป็นเซตๆ ในจำนวนกว้าง 5 ขวด ยาว 5 ขวด รวมเป็น 25 ขวดต่อ 1 เซต (จะได้ความกว้างยาวประมาณ 45 เซนติเมตรต่อเซต) แต่มีข้อแม้ว่าขวดจะต้องมีขนาดเท่ากันและรูปทรงเหมือนกันเพื่อง่ายต่อการยึดติด โดยขวดเหลี่ยมจะทำได้ง่ายกว่าขวดกลม เมื่อได้ปริมาณแล้วทำโครงยึดให้แน่นเพื่อไม่ให้ขวดแต่ละลูกลอยตัว โดยใช้กาวร้อน (พลาสติกบางประเภทโดนกาวร้อนอาจหดตัว) หรือกาวยาง และเพื่อความมั่นใจใช้สายยางรัดให้แน่นอีกทีก็ได้ แล้วนำไปติดตั้งในโครงเรือ

ส่วนบนใช้ไม้ลวกมาผ่าๆ เป็นซีก หรือเฝือกที่เขาทำสำเร็จมาปูข้างบนอีกทีหนึ่ง ตอกตะปูให้ชิดกับโครงข้างล่าง เพื่อกดไม่ให้ขวดลอยตัวขึ้นมา และช่วยทำให้เรือเสมอกันด้วย เพราะทุกขวดเมื่ออยู่ในน้ำพร้อมจะลอยตัว ถ้าไม่มีคนนั่งมันก็จะโป่งขึ้นมา 

“เรื่องอันตราย ดูจากรูปแบบเรื่องการลอยตัวไม่มีปัญหา เพราะไม่มีการรั่ว ถ้ารั่วไปใบสองใบก็ยังรับน้ำหนักได้ สำคัญที่ทำโครงเรือ ทำยังไงไม่ให้ขวดดิ้นออกไปได้ จะทำวิธีการใด ถ้าโครงเรือทำจากไม้ไผ่อย่าตอกตะปู เพราะพอไม้ไผ่แห้งจะหดตัว แล้วตำปูที่ตอกไว้จะหลวมหลุดออกได้ ควรใช้เชือกหรือสายออกซิเจนพลาสติก มันจะแน่นเหนียว มีแรงรัดตัวมากกว่าด้วย” อาจารย์มานพ กล่าว

เรือแกลลอน-ขวดน้ำกู้ชีพ เรือแกลลอน

ส่วนเรือแกลลอนนั้น ก็ใช้วิธีการทำเหมือนกัน การคำนวณรับน้ำหนักก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าแกลลอนจะมีข้อดีกว่า คือ มีขนาดใหญ่ทำเสร็จได้รวดเร็ว รูปทรงสี่เหลี่ยมทำให้ยึดติดกันได้ดี ความมั่นคงของฐานเรือจะดีกว่าขวดน้ำ และจากขนาดที่ใหญ่ก็สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้นด้วย จากตัวอย่างที่ทำเรือขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.8 เมตร ใช้แกลลอนเพียง 18 ใบ ขนาด 20 ลิตร สามารถรับน้ำหนักได้ 360 ลิตร

สำหรับระยะเวลาในการทำนั้นประมาณ 3 วัน งบประมาณที่ใช้ ซื้อไม้ลวกลำละประมาณ 16-18 บาท รวมราคา 300 กว่าบาท ส่วนขวดพลาสติก หรือแกลลอนก็หาซื้อตามร้านรับซื้อของเก่า หรือถ้ามีเก็บไว้อยู่ยิ่งประหยัด

ทางอาจารย์มานพมีแบบแปลนสร้างเรือขวดน้ำและขวดพลาสติกใครที่สนใจอยากได้ไปทำสามารถติดต่อขอรับได้ แต่ถ้าอยากให้ทางอาจารย์และนักศึกษาทำให้ตรงนี้ต้องช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ ที่อีเมล [email protected] หรือโทร. 08-9939-8433 

เรือแกลลอน-ขวดน้ำกู้ชีพ ใต้ท้องเรือแกลลอน