posttoday

เมื่อศิษย์เก่าคืนถิ่น...ศิลปกรรมจุฬาฯ

05 ตุลาคม 2554

มันเป็นวันที่อากาศร้อนอบอ้าว สายลมคร้านจะโบกโบย บริเวณลานข้างอาคารศิลปวัฒนธรรม

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

มันเป็นวันที่อากาศร้อนอบอ้าว สายลมคร้านจะโบกโบย บริเวณลานข้างอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แลดูเงียบเหงา

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีสิ่งโดดเด่นสะดุดตาสะดุดใจนิสิตที่เดินผ่านไปมาได้เหมือนกัน นั่นคือรูปปั้นหน้าตาประหลาดขนาดน้อยใหญ่ที่ตั้งเรียงรายกระจัดกระจายบนลานโล่ง ผลงานศิลปะที่ถูกนำมาโชว์ท้าทายสายตาผู้คนอย่างจงใจ

นี่คือนิทรรศการประติมากรรมชื่อ “Homecoming” ผลงานแนวนามธรรมของสองศิลปินสาว อรวี บำเพ็ชร-นรีกานต์ นาคามดี ทั้งคู่เป็นศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกประติมากรรม จุฬาฯ แห่งนี้นี่เอง

เมื่อศิษย์เก่าคืนถิ่น...ศิลปกรรมจุฬาฯ

 

ผลงานประติมากรรมกลางแจ้งกว่า 10 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานของนรีกานต์ รูปปั้นหล่อไฟเบอร์กลาสเด็กชายหญิงกระโดดโลดเต้น ร่ายรำอย่างรื่นเริงบนไม้โถกเถก เครื่องเล่นพื้นบ้านโบราณทำจากไม้ไผ่ กับรูปปั้นโลหะลักษณะคล้ายช้าง หรือผลงานของอรวี รูปหล่อจากวัสดุเหล็กเส้น อีพ็อกซีและสีอะครีลิก รวมถึงวัสดุอื่นๆ ทั้งมุ้งลวด ไม้ ตะแกรงทองเหลือง รูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์อันเกิดจากจินตนาการในแบบต่างๆ

ทั้งหมดนี้ นับเป็นผลงานศิลปะที่จัดแสดงเป็นครั้งแรกบนลานข้างอาคารศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้

“อาคารศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่กี่ปี ข้างในก็จะมีจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ต่างๆ ส่วนลานด้านนอกก็จะมีงานดนตรี ศิลปะการแสดงต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า รวมถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงทั่วไป แต่สำหรับงานประติมากรรมกลางแจ้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเลยค่ะ”

นรีกานต์ เล่าว่า ในฐานะที่เธอเป็นศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกประติมากรรม แม้อายุอานามจะห่างกันถึง 8 ปี แต่ด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมฉันท์พี่น้อง ความผูกพันใกล้ชิดที่มีต่อครูบาอาจารย์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ทำให้มีโอกาสแวะเวียนไปมาหาสู่กันเสมอ

เมื่อศิษย์เก่าคืนถิ่น...ศิลปกรรมจุฬาฯ

 

“หลักของงานคือ ต้องตั้งกลางแจ้งได้ เลยเลือกผลงานมาหนึ่งชุดกับอีกหนึ่งชิ้น ชุด ‘โถกเถก’ เป็นรูปปั้นหล่อไฟเบอร์กลาส คอนเซปต์คือภาพบรรยากาศแห่งความสุข ความอบอุ่นที่ได้จากการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ท่ามกลางธรรมชาติและเสียงหัวเราะของคนที่เรารัก

ชิ้นที่ 2 ‘Elephant Arch’ ใช้เทคนิคเชื่อมโลหะ แนวคิดเป็นการใช้เรื่องของระนาบสร้างสรรค์เป็นรูปทรงที่สอดคล้องกับความลื่นพลิ้วของลมและบรรยากาศในสถานที่ติดตั้งจริง โดยมีที่มาจากลักษณะของช้าง จำลองจากขนาดจริงที่สูงถึง 8 เมตร ซึ่งจะทำให้ผู้คนในพื้นที่สามารถเดินผ่านไปมาด้านในของผลงานได้ ราวกับได้เดินลอดท้องช้างตามความเชื่อเดิมของคนไทย”

ด้านผลงานของอรวี 5 ชิ้นในชื่อ “Together” “ลอย” “You are what you think” “คิด” และ “ยอกย้อน” เจ้าตัวเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า มาจากความคิดและจิตใจที่สัมพันธ์กันและไม่สัมพันธ์กัน

“การรับรู้ที่วนเวียนทับซ้อนของกายและความคิดจิตใจ เกิดและดับซ้ำไปมานับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละวัน ส่งผลการต่อการดำเนินชีวิตที่สามารถแปรเปลี่ยนไปในทางดีหรือร้ายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเห็นความเป็นไปของปรากฏการณ์ทางจิตนี้ จึงทำให้เรารู้ที่จะไม่ประมาทหลงสร้างโลกภายในตน จนละเลยต่อความเป็นจริงที่กำลังเผชิญอยู่” ศิลปินเจ้าของผลงานแนวนามธรรมเล่าถึงแนวคิดให้ฟัง

เมื่อศิษย์เก่าคืนถิ่น...ศิลปกรรมจุฬาฯ

 

ทั้งคู่บอกเสียงเดียวกันว่า สาเหตุที่ชื่นชอบงานประติมากรรม เพราะว่ามีโอกาสที่จะนำออกไปสู่สาธารณะวงกว้างได้มากกว่า แค่จัดแสดงอยู่แต่ในห้อง

“ก่อนนำมาจัดแสดงครั้งนี้ พวกเราต้องคำนึกถึงเรื่อง Space (พื้นที่) ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคาร ต้นไม้ ถนน และรายละเอียดต่างๆ ของสถานที่ให้เยอะที่สุด เพื่อผลงานศิลปะของเราจะได้สะดุดตาผู้คน ไม่ถูกบดบัง ถูกกลืนหายไปกับทัศนียภาพรอบๆ

พวกเราอยากให้ใช้สถานที่แห่งนี้ให้เต็มที่ สถานที่เปิดโล่งแบบนี้ เหมาะสำหรับเอางานศิลปะมาวางแสดง มันสวยเด่นกลางแจ้ง ท่ามกลางธรรมชาติ คนเดินผ่านไปมาได้ชื่นชมใกล้ชิดศิลปะมากขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือ นิสิตรุ่นน้องในคณะเห็นแล้วอาจเกิดแรงกระตุ้น มีกำลังใจในการทำงาน มีไฟในการสร้างสรรค์ผลงาน” ศิลปินสาว ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ประติมากรรม จุฬาฯ ฝากทิ้งท้าย

นิทรรศการ Homecoming ผลงานของ อรวี บำเพ็ชร และ นรีกานต์ นาคามดี จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 18 พ.ย. 2554 ณ ลานข้างอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้ชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.