posttoday

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “เราพบรักกัน ณ กาลเวลาหนึ่ง”

27 กันยายน 2554

วันนี้จะไปพูดคุยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่ใช่ประเด็นถมทะเลเมกะโปรเจกต์รัฐบาลชุดใหม่

โดย...ปอย

วันนี้จะไปพูดคุยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่ใช่ประเด็นถมทะเลเมกะโปรเจกต์รัฐบาลชุดใหม่ หรือวิกฤตโลกใต้ทะเล นู่นนั่นนี่ แต่จะพูดกันเรื่อง “ความรัก”

เอิ่มมมมม...ความรักในกระเป๋า (แบรนด์เนม) ของ ดร.ธรณ์...น่ะ

ฟังไม่ผิด!!! อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รีบกุลีกุจอขนกระเป๋าซูเปอร์แบรนด์กว่า 30 ใบ มาให้ชมกันเป็นขวัญตา

เซตแรกต้อง “แอร์เมส” รุ่นเอเวอร์ลีนสะพายไหล่ 3 ใบ ตามด้วย “หลุยส์ วิตตอง” หนังจระเข้รุ่นมหากาพย์ ลิมิเต็ดเอดิชัน แล้วก็ยังมี “ชาเนล” “ปราดา” ไปจนถึงแบรนด์ดังรุ่นใหม่ๆ “พลีสต์ พลีส ของ อิซเซ่ มิยาเกะ” ใบใหญ่ไซส์ 10 บล็อกสำหรับผู้ชาย ขนาดว่า “คิปลิงค์” รุ่นเซฟเดอะเวิลด์ ระดมทุนช่วยปลาวาฬ ดร.ธรณ์ ก็มีสะสม ไปจนถึงกระเป๋ายี่ห้ออะไรก็ไม่รู้ แต่ผลิตแค่ใบเดียวเพื่อผู้ที่เป็นหนึ่งเดียว สีเทอร์คอยส์ ซึ่งน้องชาย (ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ซื้อฝากเป็นของขวัญจากญี่ปุ่น และใบสุด (ที่) รัก “มาร์ค จาคอบส์” กระเป๋าผ้าไวนิลเมื่อเช้าเพิ่งถือไปจ่ายตลาดสไตล์ถุงผ้า

“มาร์ค จาคอบส์ เฮดดีไซเนอร์หลุยส์ วิตตอง แต่เขาก็ไม่หยุดสร้างสรรค์ไลน์เสื้อผ้าและกระเป๋าแบรนด์ของตัวเอง ผมชื่นชมดีไซเนอร์คนนี้ครับ” ดร.ธรณ์ บอกอีกว่า คนมีหน้าที่ซื้อคือตัวเขา ขณะที่ภรรยา (บุญยรัตน์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) มีหน้าที่ช่วยใช้ และช่วยดูแลรักษาให้คงสภาพดีเยี่ยมมายาวนานหลายสิบปีที่สะสมกระเป๋าเหล่านี้

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : “เราพบรักกัน ณ กาลเวลาหนึ่ง”

แรกปิ๊งรักแบรนด์เนม

“ชาเนล” หนังจระเข้ใบละ 6 แสนกว่าบาท “เราพบ (รัก) กันที่อิตาลี” คือ กระเป๋าแบรนด์ที่อยากได้แต่ยังมีในครอบครอง ดร.ธรณ์ ย้อนเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนเกือบจะตัดสินใจขายรถคันโปรดเพื่อซื้อกระเป๋า!! และวันนี้ “ชาเนล” ใบนั้นราคาพุ่งทะยานไปแตะ 2 ล้านบาท ซึ่งถ้าให้ขายรถที่จอดๆ กันอยู่หน้าบ้าน ทั้งมินิ ทั้งบีเอ็ม ก็คงซื้อไม่ได้เพราะปาดเหงื่อผ่อนกันทุกๆ เดือน! ถามจริงตอบตรง!!! นะเนี่ย...

“กระเป๋าผู้หญิงผมซื้อมาไม่ได้ถือเองนะ (บอกเสียงสูง) แต่ผมชอบซื้อครับ ผมไม่ได้มองว่ากระเป๋าคือส่วนประกอบของเครื่องแต่งกาย ชอบก็คือชอบ และเมื่อเห็นภรรยาถือเดินไปกับเรา ความสุขก็มีค่าเท่ากัน” ดร.ธรณ์ว่า กระเป๋าใบแรกที่จุดประกายให้ซื้อเมื่อ 30 ปีก่อน ก็คือกระเป๋าผู้หญิง “ปราดา รุ่นเป้สีดำที่นางแบบยุโรปชอบถือกันในวันชิลชิล

แต่ไม่อยู่แล้วครับหายไปกับแฟนคนแรก(หัวเราะร่วน) แต่ก่อนไม่มีร้านกระเป๋าแบรนด์เนมในเมืองไทย ใครอยากได้ต้องฝากแอร์โฮสเตสถือเข้ามา ก็เลยกลายเป็นแฟชั่นถือกระเป๋ารุ่นนี้กันทั้งสยามสแควร์ สมัยนั้นผมเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีเงินเดือน 5,000 บาท เพราะไปทำพาร์ตไทม์เป็นนักวิจัยอุทยานแห่งชาติทะเลออสเตรเลีย ปราดาตอนนั้นใบละหมื่นกว่าบาท ผมซื้อได้ด้วยตัวเองไม่ได้ไปขอเงินคุณพ่อคุณแม่”

ปากเล่าถึงปราดาใบแรก แต่บรรจงหยิบปราดาใบโปรด ณ จุดนี้ให้ชม “ใบนี้มีตรามังกรทองเหลือง และอีกใบผ้าไวนิลก็ปักลายมังกร ซึ่งหลายคนมักทักว่า ปราดามีลายอย่างนี้ด้วยหรือ? ส่วนกระเป๋าสะพายหลุยส์ วิตตอง คนคุ้นแต่หนังแท้ลายโมโนแกรม แต่มีกระเป๋าหลุยส์ผ้าเพนต์สีตัววีดูล่อนๆ เก่าๆ ซึ่งใบนี้ ‘เมกะมหาลิมิเต็ด’ เลยนะครับ ไม่มีให้ซื้อแล้วด้วย ราคา 3 หมื่นกว่าบาท ได้มาจากปารีสคำนวณให้คุ้มค่าเครื่องบิน

กระเป๋าทุกใบผมซื้อเมืองนอกครับ บอกตรงๆ ว่าเมืองไทยซื้อไม่ลง ไม่มีสตางค์ แพง (หัวเราะ) ผมเริ่มชอบกระเป๋า ซึ่งสมัยนั้นก็ไม่มีแกดเจ็ตอะไรให้ผู้ชายได้ใช้เงิน นอกจากรองเท้า แต่สภาพบ้านเมืองเราทั้งฝุ่นทั้งฝน ผมใส่แบรนด์ไทยเทวินทร์ก็พอแล้วนะ ซื้อรองเท้าแพงมาใส่ได้ไม่กี่ปี ซื้อกระเป๋าดีกว่าครับ เพราะไม่ใช่ถูกๆ ถ้ารักษาของไม่ได้ ก็ไม่ไหว” ดร.ธรณ์ ว่า

กระเป๋าทุกใบ ดร.ธรณ์ ขอใช้คำนิยาม“...เราไปเจอกัน ณ กาลเวลาหนึ่ง...” ไม่ใช่เพราะพรุ่งนี้รวยถูกหวยแล้วไปซื้อมา

“ผมไม่เก็บและไม่ใช้กระเป๋าใบที่จำไม่ได้ว่า ซื้อมันมาจากไหนนะครับ ทุกใบที่ผมชอบ ผมได้มาเพราะดั้นด้นไปเจอกัน และรู้สึกว่าถ้าไม่ซื้อ พรุ่งนี้ก็ไม่รู้จะไปซื้อหาได้ที่ไหน แพงที่สุด 2 แสนกว่าบาท ผมตั้งชื่อ ‘น้องอัล’ หลุยส์ วิตตอง หนังจระเข้อัลลิเกเตอร์ มีจดหมายน้อยติดกระเป๋ามาด้วย เพราะจระเข้พันธุ์นี้เป็นสัตว์สงวน จึงต้องมีโค้ดการันตีว่ามาจากฟาร์มเลี้ยง

ผมชอบหนังลายสวยกว่าพันธุ์ครอกโคไดล์ที่หนังหยาบกว่า ใบนี้ใช้ได้ทั้งผมและภรรยาครับ ผมใช้ในวันประชุมใส่สูทลำลอง หรืองานกลางคืน ภรรยาก็ใช้หิ้วเป็นคลัตช์ได้ด้วย” ดร.ธรณ์ เล่าพร้อมโพสท่าถ่ายรูป ซึ่งอาจสร้างความหมั่นไส้ให้แฟนหงส์แดง “บางวันก็ถือแมตช์กับเสื้อยืดสไตล์นี้”

แบรนด์เนมคือนิรันดร์

กระเป๋าชาเนล รีอิชชู่ ได้มาจากเวนิสอังกฤษ และปารีส สุดแสนประทับใจกับกล่องประดับโบดอกไม้ผ้าขาวดำ มาจากร้าน 31รูกองบงปารีส รสนิยมประจักษ์กันไปตามกาลเวลา แต่ก่อนไม่ได้ซื้อรุ่นคลาสสิกไว้เลย ติดว่าดูเชย ซึ่งน่าเสียดายเพราะตอนนี้ต้องมีเงินแสน

“สีเหลืองไซส์เล็กซื้อมา 2 หมื่นกว่าบาทไซส์ใหญ่แสนกว่าบาท แต่ปัจจุบันราคาพุ่งไปแสนสามแสนสี่แล้วนะครับ แบรนด์พวกนี้ขึ้นปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่มีคนจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ สินค้าแบรนด์ในเมืองจีนแพงมากๆๆ ทัวร์จีนลงเมื่อไรก็หมดเกลี้ยงเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อไปเห็นในยุโรปต้องรีบคว้าไว้เลย ไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือให้ซื้อ ยังไม่รวมพวกแขกชีครวยๆ อินเดียรวยๆ อย่างแอร์เมสเพิ่มร้านขายก็จริงแต่ก็ไม่เพิ่มการผลิต ผมคิดว่าพนักงานขายร้านแอร์เมสสบายที่สุดในโลกเลยนะครับ วันๆ ก็ยืนหน้านิ่งๆ เฉยๆ เพราะไม่มีอะไรให้ขายแล้ว เหลือถ้วย โถ กระโถนแอร์เมสก็ไม่มีใครอยากซื้อ” ดร.ธรณ์ หัวเราะชอบใจ

ราคากระเป๋าแบรนด์อัพทุกๆ ปี ราคาดีไม่แพ้ทองคำ ถามว่า ดร.ธรณ์ ซื้อมาเพื่อลงทุนมั้ย?

“ผมจำราคาไม่ค่อยได้ เท่ากับจำว่าใบนี้เราซื้อมาจากไหน มันคือความทรงจำ อย่างวันนี้ฝนตกๆ มัวซัวๆ ผมก็จะให้แฟนถือชาเนลสีดำที่ได้มาจากอังกฤษ กระเป๋าทุกใบไม่มีฝากชาวบ้านถือมาให้ ผมไม่ได้ซื้อมาถืออวดคนอื่น แล้วกระเป๋าพวกนี้ก็ไม่ค่อยปรากฏในแมกกาซีนแฟชั่น เป็นลิมิเต็ดเอดิชันครับ เห็นแล้ว ‘ปิ๊ง!!!’ เพราะฉะนั้นไม่มีทางขายยกเว้นอดตาย แต่คงไม่อดหรอก” ดร.ธรณ์ ว่าแล้วก็หัวเราะร่วน และหยิบกระเป๋าแต่ละใบมาดูชม กระเป๋าอึดก็ต้อง บิลเบา ใบนี้แม้เป็นพลาสติกแต่ไร้รอยลอกขีดข่วนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกใช้มานานกว่าร้อยครั้งแล้วนะ ก็คุ้มค่าทรัพยากรโลกไม่แพ้ถุงผ้านะ

“คิดว่า ดร.ธรณ์ จะแบกย่าม!!” คำทักทายนี้เจอบ่อย ฟังคำถามแล้วขมวดคิ้ว ขัดอก! ขัดใจ!!!

“กระเป๋าเป็นรสนิยมส่วนบุคคล แล้วผมภาคภูมิใจกับประวัติยาวนานของแต่ละแบรนด์ เหมือนที่ผมภูมิใจคุณพ่อ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต รมช. และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คิดถึงคุณปู่ (พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย) ผมให้ความสำคัญกับความภาคภูมิใจ และความคงทนกับกาลเวลาครับ”

ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายด้วยอารมณ์ขันหัวเราะเสียงดัง บอกกระเป๋าพวกนี้คือ มรดก ต่อไปลูกชาย 2 คน นำไปเป็นของขวัญลูกสาวอาเสี่ยรวยๆ เวิร์กๆ แบบตกปลากะพงก็ต้องลงทุนใช้กุ้งตัวใหญ่หน่อยประมาณนั้น