posttoday

‘ฉลากโภชนาการ’ เรื่องง่ายๆ ที่คนรักสุขภาพต้องรู้

09 มกราคม 2561

3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคสามารถอ่านข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้อย่างเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อ

 

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกที่จะเช็กวันผลิตและวันหมดอายุของสินค้ามากกว่าที่จะอ่านและทำความเข้าใจกับฉลากโภชนาการ ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์คุณภาพ ซึ่ง ซูซาน โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการด้านการฝึกอบรมโภชนาการของเฮอร์บาไลฟ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการมองว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น จึงได้แบ่งปัน 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคสามารถอ่านข้อมูลโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้อย่างเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อ

1.ปริมาณที่บริโภค บ่อยครั้งที่หลายคนเข้าใจผิดๆ ว่า คุกกี้ ขนมปังกรอบ หรือมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบถุงเล็ก รวมไปถึงเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ขนาดทั่วไป มีปริมาณเท่ากับหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งที่ความจริงแล้วปริมาตรบรรจุของหน่วยบริโภคมาตรฐานในปัจจุบันของน้ำอัดลมคือประมาณ 250 มิลลิลิตร ทว่า เครื่องดื่มหลายๆ ประเภทบรรจุมาในกระป๋องหรือขวดที่มีจำนวนปริมาตรมากกว่านั้น และทำให้มีจำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ หรือมากกว่า 2 หน่วยขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น การดื่มชาเขียว 1 ขวด จะเท่ากับว่าคุณดื่มไปแล้ว 2 หน่วยบริโภค และนั่นหมายความว่าคุณจะต้องคำนวณทุกข้อมูลบนฉลากโภชนาการเป็น 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นแคลอรีหรือปริมาณน้ำตาล เพื่อที่คุณจะรู้ได้ว่าน้ำที่คุณดื่มนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการเท่าไร

เช่นเดียวกับมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบที่มีฉลากโภชนาการ ระบุว่า หนึ่งหน่วยบริโภคของมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบคือ ขนาด 30 กรัม หรือเท่ากับมันฝรั่งทอดกรอบ 15 แผ่นเท่านั้น แต่ถ้าคุณกินมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบหนึ่งถุงใหญ่ๆ นั่นจะเท่ากับว่าคุณบริโภคมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบไปแล้วหลายหน่วยบริโภค เพราะฉะนั้นควรเช็กให้ช่วยก่อนบริโภค

 

‘ฉลากโภชนาการ’ เรื่องง่ายๆ ที่คนรักสุขภาพต้องรู้

 

2.ข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จะระบุปริมาณของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำตาล ใยอาหาร คอเลสเตอรอล และโซเดียมเอาไว้ในฉลากอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าอยากทราบว่าวันนี้หรือมื้อนี้ได้รับสารอาหารแต่ละชนิดไปอย่างละเท่าไรบ้าง ต้องรู้ให้ทัน จำไว้ว่า คาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการก็คือ คาร์โบไฮเดรตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแป้ง น้ำตาล หรือใยอาหาร โดยในฉลากโภชนาการจะแยกรายการคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากใยอาหารและน้ำตาลไว้อย่างชัดเจน

แต่สำหรับตัวเลขปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากน้ำตาลนั้น จะรวมเอาปริมาณของน้ำตาลที่เติมลงไป (Added Sugars) และน้ำตาลตามธรรมชาติ (เช่น น้ำตาลจากนม หรือน้ำตาลจากผลไม้) ไว้ด้วยกัน ซึ่งการแยกปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไป (Added Sugars) ออกจากน้ำตาลจากธรรมชาติอย่างชัดเจนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากไม่ตรวจสอบปริมาณน้ำตาลที่ได้จากวัตถุดิบแต่ละชนิดอย่างละเอียด

 

‘ฉลากโภชนาการ’ เรื่องง่ายๆ ที่คนรักสุขภาพต้องรู้

 

3.ปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายถึงปริมาณมาตรฐานของสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข้อมูลของสารอาหารแต่ละชนิดบนฉลากโภชนาการจะแสดงร้อยละของปริมาณสารอาหารต่างๆ เหล่านี้ในหนึ่งหน่วยบริโภค โดยเทียบจากปริมาณที่แนะนำต่อวัน 

“ฉลากโภชนาการสามารถช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ดีขึ้น หากคุณสามารถเปรียบเทียบปริมาณอาหารจริงๆ ที่คุณกินเข้าไปกับจำนวนหน่วยบริโภคที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ทางที่ดีควรหมั่นเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ไปเรื่อยๆ จนคุ้นเคย และเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างปริมาณอาหารที่กินในหนึ่งมื้อกับปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งจะช่วยเวลาที่คุณต้องไดเอต หรือควบคุมปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันได้เป็นอย่างมาก” ซูซาน กล่าวทิ้งท้าย