posttoday

จุดเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพคนไทย

12 สิงหาคม 2560

เมื่อแนวโน้มโรคภัยไข้เจ็บเปลี่ยนแปลงจาก “โรคติดเชื้อ” มาเป็น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

เมื่อแนวโน้มโรคภัยไข้เจ็บเปลี่ยนแปลงจาก “โรคติดเชื้อ” มาเป็น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัจจัยทางสังคมต่างๆ หากอยากมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องเริ่มจากการดูแลตัวเองเป็นพื้นฐาน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคภัยขึ้นเสียก่อน

แต่การปรับเปลี่ยน “พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่ วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามามีบทบาทส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการตั้ง สสส.ขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว งานด้านรักษาพยาบาลและสาธารณสุขของประเทศไทยถือว่าดีมากอยู่แล้ว แต่การสร้างเสริมสุขภาพไม่ได้ อยู่แค่บริบทของการแพทย์ และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้ามาดูแลสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี แนวคิดนี้ถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ “สสส.” จึงกำเนิดขึ้นมาด้วยสาเหตุนี้ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่นี้ให้เป็นจริง

ตลอด 15 ปีกับการทำงานของ สสส. ที่สนับสนุนบทบาทด้านบวกของสังคม สุปรีดา ได้ยกตัวอย่าง เรื่องของการบริโภค “ยาสูบ” “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และการส่งเสริม “กิจกรรมทางกาย” โดยระบุว่า ยาสูบ ทำให้เกิดโรคภัยถึง 26 โรค เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอด มะเร็ง ฯลฯ การจะทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงสัมพันธ์กับสังคมสิ่งแวดล้อม ค่านิยม และกลไกราคา ภาษี การโฆษณาต่างๆ การทำงานจึงต้องรณรงค์ที่มากกว่าแค่ให้สุขศึกษา และต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดสังคม ดึงภาคส่วนต่างๆ มารณรงค์ช่วยกับขับเคลื่อน โดยสามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลงได้อย่างมาก ลดจากร้อยละ 32 ในปี 2534 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 20 ในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เดิมอัตราการดื่มพุ่งสูงมาก เพราะมีเรื่องการตลาดที่เข้มแข็ง เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งเรื่องความรุนแรง อุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ มีความสัมพันธ์กับโรคถึง 60 โรค จึงมีการส่งเสริมการนำความรู้ต่างๆ มาผลักดันให้เกิดมาตรการออกมาเป็นลำดับ เช่น เกิดคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ เกิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับแรกของประเทศไทย เกิดมาตรการห้ามขายห้ามดื่มในกลุ่มวัยหรือสถานที่ต่างๆ

อีกตัวอย่างคือ “กิจกรรมทางกาย” สุปรีดา เล่าว่า การรณรงค์ของ สสส. ร่วมกับเครือข่ายภาคีต่างๆ เป็นการปลุกคนให้หันมาใส่ใจออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เช่น การชวนคนออกมาวิ่ง ทุกวันนี้เกิดเป็นกระแสทางสังคม มีการจัดงานวิ่งเป็นร้อยงานต่อปี สร้างนักวิ่งหน้าใหม่ขึ้นจำนวนมาก และภาพใหญ่ที่เห็นชัดเจนคือเมื่อปี 2559 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับโลกเรื่องกิจกรรมทางกาย ก่อให้เกิด “ปฏิญญากรุงเทพ” ที่ทุกประเทศจะร่วมกันผลักดันนโยบายเพิ่มกิจกรรมทางกายที่ไม่ใช่แค่ออกกำลังกาย แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน

สุปรีดา กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ถือว่า สสส.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่สังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ สอดคล้องกับการประเมินผลการดำเนินงานในภาพรวมของกองทุน สสส.ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการประเมินผลที่ รมว.คลัง แต่งตั้งขึ้น พบว่า ได้รับการประเมินในระดับที่สูงมาก ทั้งสมรรถนะการทำงาน และเรื่องธรรมาภิบาล นอกจากนี้ยังได้รับการประเมินในระดับนานาชาติ เมื่อ สสส.ครบรอบ 10 ปี ก็ได้รับให้เป็นตัวอย่างในวารสารวิชาการขององค์การอนามัยโลก และวารสารสุขภาพระดับโลกหลายฉบับ ในเรื่องของการใช้ภาษีบาปมาสร้างสุขภาพอย่างได้ผล และล่าสุดได้รับรางวัลระดับโลก World No Tobacco Award 2017 จากองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออก-ใต้

สำหรับการเดินหน้างานต่อไปของ สสส. สุปรีดา มองว่า เนื่องจากปัจจุบันและอนาคตโลกจะหมุนเร็วขึ้น จากเทคโนโลยี สังคม ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างรุนแรงและรวดเร็วมาก ยิ่งเห็นชัดว่าสุขภาพที่ถูกกำหนดโดยนอกโรงพยาบาลมีบทบาทสูงขึ้น ซึ่ง สสส.ก็จะเน้นในเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ประชาชนพึ่งตัวเองมากขึ้น สามารถรับข้อมูลสุขภาพเพื่อปรับวิถีชีวิตตนเองที่มากขึ้นกว่าเก่า และ สสส.ตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรมืออาชีพ และขยายงานด้านต่างๆ ทั้งเชิงระบบ องค์กร ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น