posttoday

เพลียแดดที่แผดร้อน

06 พฤษภาคม 2560

ฤดูร้อนยังไม่สิ้นสุด แม้จะมีฝนเข้ามาแทรกเป็นครั้งคราวก็ตาม แต่พอถึงคราวแสงแดดแผดร้อนก็เผาผิวเผากายแทบจะมอดไหม้ไปเลย

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

 ฤดูร้อนยังไม่สิ้นสุด แม้จะมีฝนเข้ามาแทรกเป็นครั้งคราวก็ตาม แต่พอถึงคราวแสงแดดแผดร้อนก็เผาผิวเผากายแทบจะมอดไหม้ไปเลย ดูเหมือนจะอุปมาอุปไมยจนเกินเลย แต่ก็เห็นภาพว่าแดดแรงร้อนเพียงใด

 อุณหภูมิที่สูงขึ้นเหยียบ 10 องศาเซลเซียส หรือบางทีทะลุขึ้นมาก็น่าจะเป็นตัวสนับสนุนได้เป็นอย่างดีว่า ร้อนจนบางครั้งยากที่จะทนทาน

 คราวก่อนได้พูดถึงโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งภาวะที่รุนแรงสูงสุดก็หมายถึงทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่มีการปฐมพยาบาล หรือปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร

 คราวนี้มาพูดถึงโรคเพลียแดด หรือ ภาวะเพลียแดด (Heat Exhaustion) กันบ้าง ซึ่งก็ว่าไปแล้วสำคัญมาก เพราะเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะหนักหนาสาหัสสากรรจ์จนกลายเป็นโรคลมแดด

 เพลียแดด คือ การเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไปและเกิดการสูญเสียเหงื่อและสารน้ำไปอย่างมาก

 โดยปกติแล้วร่างกายคนเรามีอุณหภูมิประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส ในภาวะเพลียแดดร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดอาการเพลียแดด โดยจะมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังรู้สติดีอยู่

 อาการของภาวะเพลียแดดเป็นหนึ่งในความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถคงความเย็นไว้ได้อีกต่อไป จะมีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ หรืออาเจียน

 ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย อ่อนแรง หรือเป็นลม ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส สิ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษกับภาวะเพลียแดดที่จะเข้าโจมตีคือต้องระวังกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ และมากกว่า 65 ปี มักจะเกิดอาการเพลียแดดให้ระมัดระวังเป็นพิเศษกับคนในกลุ่มอายุเหล่านี้

 รวมถึงการระวังเรื่องยา เพราะยาบางชนิดมีผลกระทบต่อความสามารถในการเก็บกักน้ำอย่างเพียงพอและควบคุมความร้อน ซึ่งรวมไปถึงยารักษาความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ยาแก้ภูมิแพ้ ยาคลายเครียด ยารักษาโรคทางจิตเวช และยาขับปัสสาวะโดยเฉพาะ

 ยาเสพติดบางชนิด เช่น โคเคนและยาบ้ามีผลกระทบที่คล้ายกัน ให้สอบถามแพทย์ว่ายาใดๆ ที่แพทย์จ่ายให้นั้นเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการเพลียแดดหรือไม่?

 ยังมีเรื่องการใส่ใจเรื่องน้ำหนัก โรคอ้วนทำให้ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ยากขึ้น ร่างกายจะกักความร้อนมากขึ้นและทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพลียแดดมากขึ้น

 การรักษาอาการเพลียแดด ควรพักในที่เย็นๆ เมื่อสงสัยว่ากำลังมีอาการเพลียแดดควรย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถ้าเป็นไปไม่ได้ให้หาที่ร่มๆ พัก โดยให้นอนหงายแล้วยกขาขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ

 ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ น้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เย็นกว่าอุณหภูมิห้องจะช่วยให้ร่างกายเย็นลง หรือปล่อยให้น้ำเย็นไหลผ่านตัวเอง อาบน้ำเย็นจากฝักบัว หรืออ่างอาบน้ำ พันผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นให้ทั่วร่างกาย หรือคลายหรือถอดเสื้อผ้าออก ถ้าเป็นไปได้ให้ถอดเสื้อผ้าทั้งหมดออก ถ้าเป็นไปไม่ได้ให้คลายเสื้อผ้าให้หลวมขึ้นเพื่อที่อากาศจะได้ไหลเวียนรอบๆ ร่างกายของคุณได้เพิ่มขึ้น

 อาการเพลียแดดสามารถพัฒนาเป็นโรคลมแดดได้ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รีบรับการรักษาทางการแพทย์ทันที ถ้าหากรู้สึกร้อนหรือแห้งผิว แต่เหงื่อไม่ออก อุณหภูมิร่างกายของคุณสูงกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ (39.4 องศาเซลเซียส) จนทำให้สับสนหรือหมดสติ (คนอื่นมักจะสังเกตเห็นความสับสนหรือพฤติกรรมแปลกๆ ก่อนที่ตัวเองจะสังเกต) อาเจียนบ่อย หายใจลำบากหรือมีปัญหาการหายใจ