posttoday

ฤดูร้อน ลมแดดแผดเผา

22 เมษายน 2560

ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ผู้คนเดินทางคลายร้อนเที่ยวทะเล และคิดถึงเพลงหาดทราย ทะเล สายลม และสองเรา

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

 ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ผู้คนเดินทางคลายร้อนเที่ยวทะเล และคิดถึงเพลงหาดทราย ทะเล สายลม และสองเรา หรือฝากฟ้าทะเลฝันของ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กันไม่มากก็น้อย

 แต่ความเป็นจริงแล้วทุกอย่างคงไม่โรแมนติกไปเสียหมด เพราะหน้าร้อนมีโรคที่เกิดจากความร้อนที่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าประมาทมากไป อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

 ว่าไปแล้ว ปกติร่างกายมนุษย์ต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส ถ้าความร้อนทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70%

 อาการที่ว่านี้ คือ โรคลมแดด หรือทางการแพทย์เรียกว่า ฮีตสโตรก (Heatstroke) เป็นโรคจากความร้อน ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดในประเทศไทยถึง 40% ที่อาการปรากฏ โดยเสียชีวิตในบ้านพัก เพราะอากาศร้อนและไม่ถ่ายเท

 โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน อาจเกิดขึ้นได้แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ความผิดปกติที่รุนแรงมากที่สุด คือทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย

 ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้เขียนให้ความรู้ถึงโรคนี้ในเว็บไซต์ haamor.com ว่า โรคลมแดด หรือโรคจากความร้อน (Heatstroke หรือ Sun stroke หรือ Heat illness หรือ Heat-related illness) เป็นภาวะที่เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ในฤดูร้อนจัดจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายตามปกติได้ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น ซึ่งเรียกว่า โรคที่สัมพันธ์กับความร้อน (Heat illness หรือ Heat-related illness หรือ Heat stress) โดยเมื่อมีอาการรุนแรงที่สุดเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เรียกว่า โรค/ภาวะลมแดด (Heatstroke)

 โดยศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า สัญญาณสำคัญของโรคนี้ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ต่างจากการเพลียแดด หรือเป็นลมแดดทั่วไปที่พบจะมีเหงื่อออกด้วย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้

 อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อ หรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อก ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ

 สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นลมแดด หากมีอาการดังต่อไปนี้ สับสน ไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ ปวดท้องหรือแน่นหน้าอก ไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ อุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส อุณหภูมิไม่ลดแม้ว่าจะให้การดูแลในเบื้องต้น ให้รีบนำตัวไปพบแพทย์

 ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล ส่วนในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ

 การป้องกันโรคลมแดดในหน้าร้อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตร/วัน หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ถ่ายเท ไม่สะดวก หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลม

 ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หากรู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพักทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย

 สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกัน หรือเตรียมตัวออกกำลังกายกลางแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดที่เพิ่มความร้อนให้ร่างกาย