posttoday

"ปอด" กับ "กลิ่นของความรัก’"และ "รสชาติอันเผ็ดปร่า"

18 มีนาคม 2560

กลิ่น คือ เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้

โดย...พจ.สุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์ คลินิกหัวเฉียวฯ แพทย์แผนจีน Facebook Fanpage : huachiew tcm

กลิ่น คือ เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้

การกำเนิดเกิดขึ้นของกลิ่น มีจุดมุ่งหมายแห่งกลิ่น ดังเช่น ดอกไม้สร้างกลิ่นเพื่อหลอกล่อแมลงให้มาช่วยผสมพันธุ์เกสร นอกจากนี้ กลิ่นยังนำมาบำบัดรักษาโรคได้ 

ในปัจจุบันการรักษาโดยวิธีใช้กลิ่นเป็นที่นิยมกันอย่างมากคือ "อโรมา เธอราพี" (Aroma Therapy) หรือ "สุวคนธบำบัด"

จมูกเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญในการรับกลิ่น รวมถึงกลั่นกรองอากาศที่ดีเข้าสู่ปอด สะท้อนความสมบูรณ์ของมนุษย์ หากคุณรู้สึกดมกลิ่นได้ไม่ชัดเจน คล้ายๆ ตอนเป็นหวัด นั่นย่อมสะท้อนถึงปัญหาจากปอด และส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ทานอาหารได้ไม่อร่อยเท่าที่ควร

แต่หากคุณมีจมูกที่รับกลิ่นได้ดี รวมถึงมีทักษะการหายใจที่ถูกวิธีแล้วนั้น ร่างกายย่อมจะได้รับชี่ที่ดีหรืออากาศที่ดีจากภายนอก ช่วยส่งเสริมการทำงานของปอดที่มีลักษณะแผ่กระจายออก และเคลื่อนลงล่าง เพราะปอดคืออวัยวะแห่งการขับเคลื่อนชี่เข้าสู่ร่างกายในทิศทางขึ้นและลง

จมูกสะท้อนความสมบูรณ์และการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้อย่างไร? 

จมูกถูกใช้ในหนึ่งทักษะการวินิจฉัยของแพทย์แผนจีนคือ เหวินเจิ่น-การดม จากการวินิจฉัยทั้งหมด 4 แบบคือ วั่ง-การมอง เหวิน-การดม เวิ่น-การถาม และ เชี่ย-การสัมผัส/การแมะ

การวินิจฉัยของแพทย์จีนโดยใช้วิธีการดมนั้น นับว่าเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมาก เช่น กลิ่นปากรุนแรง พบในผู้ที่มีภาวะกระเพาะร้อน กลิ่นคล้ายแอปเปิ้ลเน่า พบในผู้ที่เป็นเบาหวานระยะที่มีการสะสมของเสียในร่างกายมาก

นอกจากนี้ ในหลักการดูโหงวเฮ้ง จมูก ยังสามารถบ่งบอกความมั่งคั่ง มั่นคง และอำนาจ เนื่องจากสะท้อนธาตุดิน ธาตุส่วนกลางของร่างกาย สร้างสารอาหารที่ดีให้กำเนิดชี่และเลือดของร่างกาย

จมูกอยู่ส่วนกลางของใบหน้า สามารถสะท้อนการทำงานบริเวณตั้งแต่อวัยวะบนสุด (จมูกส่วนบน) คือปอด ไล่ลงมาคือ หัวใจ ตับ และบริเวณปีกจมูกคือ กระเพาะและม้าม ซึ่งนับเป็นธาตุดิน เป็นแม่ของธาตุทอง ธาตุประจำตัวของปอด

การวินิจฉัยโรคด้วย "การมอง" นั้น แพทย์แผนจีนจะมองสีและลักษณะร่วมกัน เช่น ปลายจมูกแดง มองเห็นเส้นเลือดชัดเจน แสดงถึงความร้อนภายในร่างกาย พบมากในผู้ที่ดื่มสุรา

หรือในการแพทย์ปัจจุบันมักพบในผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง Rosacea ในทางการแพทย์แผนจีนพูดถึงความร้อนที่สะสมภายในตับ (ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยเป็นรายบุคคลอีกครั้ง)

หรือปีกจมูกมีสีซีดอมเขียวแสดงถึงกระเพาะอาหารมีความเย็นสะสม อาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด หรืออาการปวดท้องที่พบเห็นได้บ่อย

แพทย์แผนจีนใช้ ‘กลิ่น’ บำรุงและรักษาโรคได้อย่างไร?

หากกล่าวถึงการบำรุงปอด ก็คงจะหนีไม่พ้นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ด จากคำภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวไว้ว่า

“รสเผ็ดหอมเข้าสู่ปอด กระตุ้นการขับเคลื่อนชี่ ไร้โรคชี่ให้กินเผ็ดให้บ่อยๆ” เนื่องจากกลิ่นหรือน้ำมันหอมระเหย มีคุณสมบัติการกระจายตัวที่ดี

การกินอาหารที่มีรสเผ็ด หรือเครื่องเทศต่างๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนชี่ เกิดการกระจายตัวของชี่ออกสู่ภายนอก ส่งเสริมการทำงานของระบบปอด ในการระบายของเสียแสดงออกมาทางผิวหนังเป็นเหงื่อ นั่นคือสาเหตุที่เคยมีคนบอกว่า กินต้มยำแก้หวัดได้ 

มีวลีบำรุงสุขภาพที่เป็นที่รู้จักในจีนที่ว่า “ฤดูหนาวกินหัวไชเท้า ฤดูร้อนกินขิงสด ไม่ต้องกินยา หาหมอ”

ในฤดูร้อน ความร้อนจะทำให้ชี่กระจายตัวอยู่ส่วนบน ระบายเหงื่อเพื่อขับความร้อน การกินขิงสดช่วยส่งเสริมสภาวะนี้ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เราจึงจะไม่ป่วยจากความร้อน

ในฤดูหนาว เนื่องจากในประเทศจีนอากาศหนาวมาก จึงมีการกินของร้อนบำรุงร่างกาย เช่น เนื้อแพะ หรือโสม แต่เนื่องจากภาวะแห้งในฤดูหนาว หากกินของร้อนมากเกินไป จะมีการเจ็บป่วยจากความร้อนและแห้งได้ง่าย การทานไชเท้าร่วมในมื้ออาหาร จึงช่วยลดความร้อน สร้างความสมดุล เพราะมีสรรพคุณช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยย่อยอาหาร และกระจายชี่ที่ติดขัดจากการที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวในฤดูหนาวนั่นเอง

แต่อย่าลืมว่า หากเหงื่อออกมากเกินไป จะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้

ดังนั้น ควรกินเผ็ดแต่พอดี และระวังการกินเผ็ดในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร