posttoday

เทรนด์เทคโนโลยีคลาวด์ พันธมิตรหนุนเป้าธุรกิจ

06 มีนาคม 2562

ฟูจิตสึคาดการณ์เทคโนโลยีคลาวด์ สำหรับปี 2562 โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่นับจากนี้จะเป็นหัวใจของทุกสิ่ง

เรื่อง มาร์ค ฟิลลิปส์ หัวหน้าฝ่ายแนวทางดิจิตอลประจำภูมิภาค EMEIA ฟูจิตสึ

ฟูจิตสึคาดการณ์เทคโนโลยีคลาวด์ สำหรับปี 2562 โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่นับจากนี้จะเป็นหัวใจของทุกสิ่ง โดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ไอโอที ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ระบบงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ และทุกๆ สิ่งจะถูกขับเคลื่อนด้วยเอไอ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างจะชาญฉลาด และทำงานแบบอัจฉริยะ เช่น เมื่อใช้งานร่วมกับระบบงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์เอไอจะช่วยปรับปรุงการดำเนินธุรกิจทั้งในเรื่องของความสะดวกรวดเร็ว การทำงานแบบอัตโนมัติ และบริการที่ดีเยี่ยม ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเริ่มต้นของคลาวด์เนทีฟ องค์กรต่างๆ ได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟมานานหลายปี และในปี 2562 จะได้พบเห็นกรณีการใช้งานจริงทางด้านธุรกิจและได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการติดตั้งและใช้งานจริงจังอย่างกว้างขวางสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟ จนถึงปัจจุบัน คลาวด์เนทีฟยังจำกัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะ เช่น ใช้ในการปรับขนาดระบบตามความต้องการทางธุรกิจด้วยความยืดหยุ่นสูงสุด

แนวโน้มสำหรับปี 2562 ก็คือ เทคโนโลยีที่เกิดในระบบคลาวด์ จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เช่น ปัจจุบันอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัยพึ่งพาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่คอยเฝ้าดูแลสถานที่ ลองนึกภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกที่เทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟสามารถเก็บรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลด้านการรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ ผ่านกล้องวิดีโอวงจรปิดหรือเซ็นเซอร์ และมีการจัดวางเจ้าหน้าที่ไว้เฉพาะในจุดที่จำเป็นเพื่อรองรับการทำงานอย่างมีเป้าหมาย นับเป็นการยกระดับการทำงานอย่างเหนือชั้นโดยอาศัยเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟ

ขณะที่คลาวด์เนทีฟกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ในช่วงปี 2562 บุคลากรจะต้องตัดสินใจว่าจะพัฒนาแอพโดยใช้เทคโนโลยีเนทีฟบนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น AWS และ Microsoft Azure หรือจะใช้เทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นนามธรรมและเปิดกว้างมากกว่า เช่น คอนเทนเนอร์ (Container) อย่างเช่น Docker และ Kubernetes ด้วยการแยกองค์ประกอบของแอพพลิเคชั่นให้กลายเป็นเอนทิตี้ขนาดเล็กที่ถูกห่อหุ้มไว้

คอนเทนเนอร์เหล่านี้จะสามารถนำไปประกอบเข้าด้วยกันเป็นแอพพลิเคชั่นที่ซับซ้อน และกระจายไปยังแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ช่วยให้สามารถประมวลผลหลายๆ งานพร้อมกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือ การพัฒนาและการดูแลรักษาที่ง่ายดายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับฝ่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้อย่างมาก ทั้งยังเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้บริการในระดับต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน หากตรวจสอบประโยชน์ของเอไออย่างเจาะลึก จะพบว่าการหยุดทำงานของแพลตฟอร์มคลาวด์ที่สำคัญจะส่งผลกระทบน้อยลง เพราะการดำเนินงานที่รองรับไอเอ จะย้ายลูกค้าไปยังระบบสำรองโดยอัตโนมัติ และจากนั้นก็ย้ายลูกค้ากลับมาอีกครั้ง เมื่อระบบคลาวด์ที่เลือกไว้กลับใช้งานได้ตามเดิม โดยที่บุคลากรไม่ต้องเข้าไปจัดการเลยแม้แต่น้อย นี่คือความเป็นจริงของโลกใหม่

ฟูจิตสึเชื่อว่าระบบไอทีแบบไฮบริด ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากระบบคลาวด์สาธารณะ ระบบคลาวด์ภายในองค์กร และระบบไอทีแบบติดตั้งภายในองค์กรในสัดส่วนที่ลงตัว คืออนาคตของสภาพแวดล้อมองค์กร แต่ก็มีแนวโน้มว่าในบางพื้นที่อาจปฏิเสธแนวทางนี้ บริการคลาวด์ภายในองค์กรกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีคลาวด์ เนื่องจากเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความปลอดภัย และความใกล้เคียงกับบริการอื่นๆ ดังนั้นระบบคลาวด์สาธารณะเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกโจทย์ความต้องการ

ที่สำคัญคือพันธมิตรด้านเทคโนโลยีจะตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจของลูกค้าได้อย่างลงตัวมากขึ้น ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เราจำเป็นที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและบริการของฟูจิตสึระบุถึงแนวคิดของเทคโนโลยีดิจิทัลที่แท้จริง หรือ Real Digital ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงกับดักนี้อย่างไร แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การสร้างความสอดคล้องอย่างรอบด้านระหว่างพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับลูกค้า ด้วยการกำหนดสัญญาโดยอ้างอิงผลลัพธ์ทางด้านธุรกิจ แทนที่จะอ้างอิงการใช้บริการ ซึ่งในปัจจุบันมักจะอ้างอิงตามจำนวนเวอร์ชวลแมชีน (Virtual Machine) หรือยูนิตการใช้งานระบบคลาวด์ที่มีการใช้งานจริง

โมเดลนี้มีอยู่แล้วในภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทผู้ให้บริการลิฟต์ที่คิดค่าบริการตามชั่วโมงการใช้งานจริง หรือผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินที่คิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนชั่วโมงที่ทำการบิน โดยคาดว่าโมเดลนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายมากขึ้นในภาคธุรกิจบริการด้านไอทีในช่วงปี 2562