posttoday

กสทช.มีมติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก "อสมท-กองทัพ" เพื่อนำมาประมูล5G

05 มีนาคม 2562

บอร์ดกสทช. มีมติเห็นชอบเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก อสมท-กองทัพบก-กองทัพไทย จำนวน 190 MHz นำมาประมูล 5G

บอร์ดกสทช. มีมติเห็นชอบเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก อสมท-กองทัพบก-กองทัพไทย จำนวน 190 MHz นำมาประมูล 5G

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วั ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จำนวนรวม 190 MHz โดยเรียกคืนจากบมจ. อสมท (MCOT) จำนวน 154 MHz กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 2 หน่วยงานอีก 12 MHz ที่เหลือเป็นคลื่นว่างที่ไม่มีการใช้งาน เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็น 45 วันนับจากวันที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการยุติการใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืน โดยในระหว่างดำเนินการให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียกคืนดังกล่าวไปพลางก่อนได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วันนับจากที่ กสทช. มีมติให้เรียกคืนคลื่นความถี่

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติสำรองค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย รายการเงินงบกลางของสำนักงาน กสทช. ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในการนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่านความถี่ดังกล่าว จำนวน 3 ชุด รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,500,000 บาท และเมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ เสร็จสิ้นแล้ว ให้ดำเนินการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวจากเงินรายได้ที่ได้รับจากการประมูล

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) หรือที่เรียกว่า ประกาศ Sandbox และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยประกาศฉบับนี้เป็นไปเพื่อการสนับสนุนการทดลอง และทดสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G โดย กสทช. จะอนุญาตให้ใช้ความถี่ในพื้นที่เฉพาะ เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ใช้กฎระเบียบปกติ เพื่อให้มีการทดสอบนวัตกรรมใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่ในพื้นที่นั้นๆ แต่พื้นที่ที่เราเรียกว่า Sandbox นี้ จะจำกัด อาทิเช่น พื้นที่ที่เป็นสถานศึกษาที่มีการศึกษาแบบสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื่องจากประกาศที่มีอยู่เดิมมีข้อจำกัดมาก เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมากรณีนำเข้านำออก เพื่อทดลองทดสอบจะได้รับการยกเว้นเพื่อเอื้อต่อการทดลองทดสอบ จะได้ไม่ต้องมาขออนุญาตมาก หน่วยงานต่างๆ รายย่อย สามารถขอใช้ความถี่เพื่อการทดลองทดสอบได้ไม่ใช่เฉพาะโอเปอเรเตอร์รายใหญ่เท่านั้น รวมถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องก็สามารถขอใช้คลื่นนี้ได้ เช่น เอสเอ็มอีรายย่อย หรือนักพัฒนารายย่อยก็สามารถขอใช้คลื่นได้ อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมขนส่ง การแพทย์ ก็สามารถขอใช้คลื่นได้ เอื้อเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจ่ายแค่ค่าธรรมเนียมการขอใช้คลื่นแค่ 5,000 บาททุกราย การขอใบอนุญาต และขยายเวลาในการใช้งานคลื่นเพื่อทดลองทดสอบจากเดิมอนุญาตแค่ 270 วันเป็น 720 วัน หรือ 2 ปีโดยประมาณ

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 68,000,000 บาท เพื่อเป็นการนำร่องในการทดลองทดสอบใช้เทคโนโลยี 5G โดยจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบและติดตั้งโครงข่าย 5G บนพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสยามสแควร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย โดยเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งเรื่องนี้จะส่งให้บอร์ดกองทุน กสทช. พิจารณาต่อไป