posttoday

ย้ำกฎหมายไซเบอร์ไม่ละเมิด

02 มีนาคม 2562

ปลัดดีอี ห่วงภัยไซเบอร์คุกคาม ระบุร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์คุ้มครอง ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ปลัดดีอี ห่วงภัยไซเบอร์คุกคาม ระบุร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์คุ้มครอง ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็น สมควรประกาศใช้ร่าง "พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ..." และร่าง "พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ..." เป็นกฎหมาย ขั้นตอนต่อจากนี้จะมีการเตรียม นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ความสำคัญของกฎหมาย ทั้งสองฉบับดังกล่าว จะช่วยสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ยุคใหม่ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศและเศรษฐกิจ โดยรวม ตลอดจนถึงการคุ้มครองข้อมูลประชาชนทั่วไป อีกทั้งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

"กฎหมายนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบและไม่ได้ไปคุกคามสิทธิต่อประชาชนโดย ทั่วไปแต่อย่างใด แต่จะสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ได้อย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันเกิด ปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์อยู่เสมอ" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ มี พ.ร.บ.สำคัญเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยอีก 4 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ผ่านการพิจารณารับร่างในวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมนำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 2.ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... 3.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็ก ทรอนิกส์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) และ 4.ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...

"เป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยจะมีความพร้อมไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและสามารถรับมือกับภัยคุกคาม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาชน ระบุว่า มีข้อกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ 8 ด้าน ได้แก่ 1.นิยามภัยคุกคามไซเบอร์ตีความกว้าง ครอบคลุมเนื้อหาบนออนไลน์ 2.เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้ 3.กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยึด ค้น เจาะ ทำสำเนาคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ 4.เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ 5.ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้ไม่ต้องรอหมายศาล 6.การใช้อำนาจนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ยับยั้งได้ 7.เมื่อภัยไซเบอร์ถึงระดับวิกฤต ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ 8.ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับและจำคุก

ภาพประกอบข่าว