posttoday

เมื่อโลกไซเบอร์ หลอมรวมโลกกายภาพ

16 มกราคม 2562

ปัจจุบันการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต การสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การจัดเก็บรูปและภาพยนตร์บนระบบ

ปัจจุบันการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การจัดเก็บรูปและภาพยนตร์บนระบบคลาวด์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการออนไลน์ต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ตามการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมบนโลกไซเบอร์เท่านั้น เพราะมนุษย์ยังอาศัยอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกกายภาพ ฉะนั้นข้อมูลต่างๆ จะเกิดคุณค่าอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านั้นเข้ากับสิ่งต่างๆ ในโลกกายภาพเท่านั้น

ชิโระ ไซโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี โตชิบา คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีระบบเซ็นเซอร์และเน็ตเวิร์กมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงาน และจากระบบและบริการทั้งหลาย จากนั้นจึงใช้เอไอหรือเทคโนโลยีอื่นเข้ามาวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลในโลกไซเบอร์ แล้วส่งผลลัพธ์ที่ได้สู่โลกแห่งความเป็นจริง เช่น วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม การคาดการณ์ และแผนงานต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับเทคโนโลยีโลกกายภาพ สินค้า และบริการต่างๆ เราเชื่อว่ากระบวนการทำซ้ำๆ นี้จะส่งผลให้เกิดเทคโนโลยี สินค้า และบริการใหม่ๆ ขึ้น

สำหรับกระบวนการนี้คือ “Cyber-Physical System” หรือ CPS และถือว่าเป็นลักษณะขององค์กรที่โตชิบาต้องการจะเป็น โดยปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าโตชิบาเดินทางมาถึงจุดที่สามารถนำเป้าหมายงานวิจัยมาเป็นเป้าหมายในธุรกิจได้แล้ว เนื่องจากเป้าหมายของ
โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ในอีก 5 ปีจากนี้คือ การมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี Cyber Physical Systems (CPS) ระดับโลก

นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีที่ผสมผสานโลกเสมือนและโลกจริงจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต โดยปัจจุบันเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มีวิวัฒนาการที่โดดเด่นน่าสนใจ จึงเชื่อว่าในเวลาอีกไม่กี่ปี กุญแจสำคัญจะอยู่ที่การหาวิธีบูรณาการเทคโนโลยีไซเบอร์ต่างๆ เหล่านี้เข้ากับเทคโนโลยีในโลกจริง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบเซ็นเซอร์

“ถ้ากลับมามองโตชิบาในวันนี้ เราได้สั่งสมเทคโนโลยีและความรู้มากมายในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการในธุรกิจหลัก อาทิ ธุรกิจพลังงาน ซึ่งรวมถึงโรงงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม โดยเรามีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ตั้งแต่การวางระบบโครงสร้างอาคาร ไปจนถึงระบบทางรถไฟ” ไซโตะ กล่าว

เมื่อโลกไซเบอร์ หลอมรวมโลกกายภาพ

ปัจจุบันโตชิบามีเทคโนโลยีหลายอย่างที่กำลังพัฒนา หนึ่งในนั้นคือโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant : VPP) โดยใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือไอโอที เข้ามาประสานงานระหว่างแหล่งไฟฟ้าแต่ละแหล่ง เช่น แหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์ตใหม่ได้หลายครั้ง เพื่อเชื่อมต่อการปฏิบัติงานราวกับเป็นโรงงานไฟฟ้าแห่งเดียว

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ไอโอทีช่วยในการวิเคราะห์การประหยัดพลังงานและปริมาณพลังงานที่ลดได้ รวมถึงช่วยควบคุมผลการวิเคราะห์ผ่านเอไอและการประมาณการณ์การใช้พลังงาน รวมถึงร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างกลไกควบคุมแหล่งการจ่ายพลังงานและอุปกรณ์ไฟฟ้าในฝั่งของลูกค้าเพื่อจัดการอุปทานพลังงานได้อย่างเหมาะสม

วิทยาการหุ่นยนต์นับเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่โตชิบาผลักดันให้เกิดการบูรณาการทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีระบบเซนเซอร์และระบบควบคุมเข้ามาพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถจัดการระบบโลจิสติกส์ได้อัตโนมัติ และออกแบบเทคโนโลยีเพื่อเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถานะการปฏิบัติงาน รวมถึงสั่งการหุ่นยนต์จำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูเหมือนว่าในวันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งโลกไซเบอร์กับโลกกายภาพกำลังหลอมรวมเข้าด้วยกัน เป็นโลกที่ต้องการนักวิจัยและวิศวกรที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งขีดความสามารถไม่ได้จำกัดเพียงแค่การวิเคราะห์และคาดการณ์สมรรถภาพการทำงานสำหรับอุปกรณ์หรือระบบอย่างแม่นยำ แต่รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านั้นด้วย

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดตามกรอบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างคุณค่าทั้งภายในและภายนอกองค์กร และการพัฒนาองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

เมื่อโลกไซเบอร์ หลอมรวมโลกกายภาพ