posttoday

ศึกษาให้ดี ภาษีอี-คอมเมิร์ซ (จบ)

26 กันยายน 2561

วันนี้จะมาอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายภาษีอี-คอมเมิร์ซ

โดย..ศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท คลิกเน็กซ์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง www.MakeWebEasy.com

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนได้กล่าวถึงรูปแบบการเสียภาษีแบบบุคคลไปแล้ว มาในสัปดาห์นี้จะขอกล่าวถึงรูปแบบการเสียภาษีสำหรับนิติบุคคล หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการซื้อของออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนมองเห็นช่องทางการหารายได้เพิ่มเติม และผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์

ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียภาษีว่าต้องจ่ายหรือไม่? หรือต้องจ่ายเท่าไรคำนวณยังไง วันนี้เราจะมาอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายภาษีอี-คอมเมิร์ซ ให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

สำหรับนิติบุคคล รูปแบบธุรกิจแบบนิติบุคคล คือผู้ขายจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ “กำไรสุทธิตามกฎหมายภาษีอากร” โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิหลังจากพอทราบรูปแบบธุรกิจกันไปแล้ว เรามาดูเรื่องรายได้กันต่อครับ

รายได้ นอกจากภาษีเงินได้ที่ต้องเสียกันแล้ว ยังมีภาษีอีกแบบหนึ่งที่การจะต้องเสีย หรือไม่ต้องเสียนั้น ขึ้นอยู่กับรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการ นั่นก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม VAT นั่นเองครับ

ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ต่อเมื่อธุรกิจของเรามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ถ้าไม่เสียภาษี โดนเรียกเก็บย้อนหลังอ่วมแน่นอน!

ผู้ทำธุรกิจออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซรายใดที่มีรายได้จากการขายสินค้า หรือบริการถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษี แต่กลับหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการไม่แจ้ง หรือไม่จ่าย ถือว่า “ผิดกฎหมาย” และต้องเสียค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยที่เรียกว่า “เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม” อีกทั้งยังอาจโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอีกด้วย รับรองว่าไม่คุ้มแน่นอน และการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนี้อาจทำให้ธุรกิจที่กำลังไปได้สวยต้องพังลงในพริบตาก็เป็นได้