posttoday

ไอทีรุกทุกช่องทาง สร้างโอกาสเข้าถึงลูกค้า

08 พฤษภาคม 2561

การขยายช่องทางการขาย เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกเข้าถึงลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การขยายช่องทางการขาย เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกเข้าถึงลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ทั้งการขยายผ่านทางออฟไลน์ ที่จะเห็นถึงการผนึกความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ Cross industry และที่สำคัญในยุคนี้ผู้ประกอบการต้องมุ่งขยายช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วยภายใต้สูตร O-2-O (Online to Offline)

สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทเดินหน้าสร้างช่องทางการขายสินค้าผ่านทางอี-คอมเมิร์ซในเชิงรุก เดือน มิ.ย. โดยจะเปิดเว็บไซต์แพลตฟอร์มใหม่อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการแข่งขันกับมาร์เก็ตเพลส อาทิ ลาซาด้า ที่เข้ามาเป็นทางเลือกการซื้อสินค้าให้กับลูกค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าช่องทางออฟไลน์ยังมีความสำคัญ เพราะคนไทยยังต้องการสัมผัสสินค้าและมีพนักงานคอยแนะนำ โดยเฉพาะราคาสินค้าตั้งแต่ 7,000-2.5 หมื่นบาทขึ้นไป เนื่องจากผู้ซื้อต้องการความมั่นใจ สำหรับเป้าหมายออนไลน์บริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 2% ให้เป็น 10% ภายในปี 2564 โดยสิ้นปีตั้งเป้ารายได้ 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ กำลังซื้อสินค้าไอทีปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% หรือกว่า 7,800 บาท เนื่องจากสินค้าไอทีมีราคาที่สูงขึ้น จากเมื่อปีที่ผ่านมาการซื้อสินค้าไอทีโดยเฉลี่ย 7,500 บาท ถือเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากนัก โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้าเข้ามาภายในร้าน 2.7 ล้านราย สำหรับไตรมาสแรกรายได้เติบโตตามเป้าหมาย

สุระ กล่าวว่า บริษัทได้จับมือร่วมกับธนาคารกสิกรไทย โดยเปิดโมเดลธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีรูปแบบใหม่ มีพื้นที่ให้บริการทางการเงินครบวงจร ปีนี้เปิดครบ 20 สาขาในตลาดต่างจังหวัด ขณะที่เป้าหมายความร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่ปกติจะมาใช้บริการทางการเงินอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าไอทีให้กับบริษัท รวมถึงช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัท เนื่องจากเป็นความร่วมมือในรูปแบบเช่าพื้นที่

“นับเป็นการเปิดร้านค้าปลีกไอทีรายแรกที่ให้บริการธุรกรรมการเงินในสาขาเดียวกัน หลังจากได้ทดลองเปิดสาขาค้าปลีกไอทีและให้บริการการเงิน จ.ยโสธร ในช่วงเดือน มี.ค.ส่งผลให้ยอดขายสินค้าอุปกรณ์ไอทีเติบโต 20% ขณะที่ปริมาณคนที่เข้ามาหมุนเวียนภายในร้านเพิ่มขึ้น ส่วนการขยายสาขาของบริษัทตั้งเป้าเพิ่มจาก 434 สาขา เป็น 629 สาขา”

สำหรับรายได้ทั้งปีตั้งเป้าเติบโต 15%จากเมื่อที่ผ่านมารายได้ราวกว่า 2.25 หมื่นล้านบาท ส่วนไตรมาสสองคาดว่าจะรักษาการเติบโตไว้ จากการเป็นช่วงไฮซีซั่นของเดือน พ.ค. และกลุ่มโทรศัพท์มือถืออยู่ในโลว์ซีซั่น โดยปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 5% ในตลาดค้าปลีกไอที ซึ่งบริษัทสนใจซื้อกิจการหรือร่วมทุนเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เอไอเอสจับมือร่วมกับเทสโก้ โลตัส เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกค้า ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไปบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสกล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับเทสโก้ โลตัส เปิดโซนดิจิทัลเซอร์วิสในพื้นที่เทสโก้ โลตัส รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 194 สาขา ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเอไอเอสที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าทุกวัน นอกจากนี้ยังร่วมกันทำซีอาร์เอ็มจากการที่เทสโก้ โลตัส มีฐานลูกค้า 15 ล้านราย เอไอเอสกว่า 40 ล้านราย

โมเดลการทำธุรกิจยุคดิจิทัลจะมีการผนึกความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจกับธุรกิจมากขึ้น เช่น กลุ่มค้าปลีกจับมือกับธนาคาร โอเปอเรเตอร์ หรือกระทั่งช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงลูกค้าทุกที่ทุกทาง และขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมถึงการลดต้นทุน