posttoday

วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลระดับนานาชาติ

14 เมษายน 2561

ด้วยการใช้ชีวิตทำงานที่เคร่งเครียดของคนในสังคมไทย ส่งผลไปสู่สุขภาพทำให้มีผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต

โดย วราภรณ์

ด้วยการใช้ชีวิตทำงานที่เคร่งเครียดของคนในสังคมไทย ส่งผลไปสู่สุขภาพทำให้มีผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง (จากสาเหตุหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก) เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 จากสถิติโลก และยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการระดับรุนแรง

ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดใหม่ทั่วโลก ราว 10-15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคน เสียชีวิต และอีก 5 ล้านคน กลายเป็นคนพิการถาวร

ปัญหาดังกล่าวทำให้วิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อสุขภาพมีการพัฒนาก้าวไปไกล ก่อนหน้านี้มีผู้สร้างวีลแชร์บังคับด้วยสมอง บังคับด้วยเสียงก็มี โดยล่าสุดคนไทยได้สร้างความฮือฮาด้วยผลงานนวัตกรรมวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair Based on Eye Tracking)

วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลระดับนานาชาติ

ทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยโดยคว้ารางวัล Silver Award จากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก International Contest of Innovation 2017 หรือ iCAN ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งมีผู้เข้าประกวดนวัตกรรมจำนวนกว่า 5,000 คน จาก 20 ประเทศ

 ทีมไทยนับเป็นทีมหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้เข้ารอบและสามารถคว้ารางวัล Silver Award มาครองได้ ประกอบด้วยสมาชิกทีมคือ รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อนิวัฒน์ จูห้อง และ ศุภกร สุวรรณ

รศ.ดร.ชูชาติ ทีมวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวะฯ ลาดกระบัง กล่าวว่า แรงบันดาลใจให้เราคิดค้นวิจัยนวัตกรรมนี้ขึ้นมา เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย และมีผู้พิการเพิ่มมากขึ้น เฉพาะที่ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 2.5 ล้านคน

“ในจำนวนนี้มี 3-5% ต้องทุกข์ทรมานจากอัมพฤกษ์และอัมพาต โดยคาดว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นอัมพาตปีละกว่า 1.5 แสนราย วีลแชร์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้งผู้สูงวัยและผู้พิการอื่นๆ ด้วย วีลแชร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาดมักจะควบคุมการใช้งานด้วยจอยสติ๊ก”

วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลระดับนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ผู้ป่วยอัมพาตชนิด ALS หรือพาร์กินสัน จะใช้วีลแชร์ที่มีอยู่ทั่วไปได้อย่างยากลำบาก จึงมีนักวิจัยได้ออกแบบสร้างวีลแชร์ไฟฟ้าที่บังคับด้วยเสียง (Voiced-Control System) วีลแชร์ที่บังคับด้วยสมอง (Brain-Control System) แต่วีลแชร์ 2 ชนิดนี้มักจะเกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพใช้งาน เมื่อมีสภาพแวดล้อมเสียงดังรบกวน

ทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.จึงได้วิจัยพัฒนาวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair based on Eye Tracking) ที่ปฏิบัติการควบคุมการเคลื่อนไหวของวีลแชร์ด้วยเทคโนโลยี Eye Tracking เพียงสายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที ระบบนี้ยังมีจุดเด่นน้ำหนักเบาและมีวิธีการใช้งานที่ง่ายดาย

ดร.วิบูลย์ หนึ่งในทีมนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวะฯ ลาดกระบัง บอกถึงส่วนประกอบสำคัญและการทำงานของวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา มี 4 ส่วนหลัก คือ 1.Image Processing Module 2.Wheelchair-Controlled Module 3.Appliances-Controlled Module 4.SMS Manager Module

“เมื่อ Image Processing Module ซึ่งมีกล้อง Webcam และ C++customized image processing จับภาพเคลื่อนไหวของดวงตา และส่งสัญญาณไปยัง Rasberry Pi โมโครคอนโทรลเลอร์ เชื่อมต่อประสานกับลูกตา ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเป็น Cursor control ตัวจอของ Rasberry Pi ในการควบคุมระบบ นอกจากความเคลื่อนไหวของสายตาแล้ว การกะพริบตาก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบนี้ได้เพื่อสั่งการเหมือนกับการกดแป้น Enter บนคีย์บอร์ดนั่นเอง

ส่วน Wheelchair-Controlled Module เป็นที่รวมของเซอร์โว 2 ชุด ที่สามารถขับเคลื่อนไหวได้ 2 มิติ และปรับให้เข้ากับจอยสติ๊กได้ด้วย ระบบวีลแชร์นี้ยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในระยะไกล และสื่อสารติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพผ่านการแจ้งข้อความในสมาร์ทโฟนได้ด้วย”

อนิวัฒน์ หนุ่มนักศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมชีวการแพทย์ หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า วิธีการใช้งาน วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะบังคับด้วยสายตา ภายในวีลแชร์อัจฉริยะนี้จะมีเครื่องมือตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตา ที่จะคอยตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ที่ใช้งาน ซึ่งติดตั้งอยู่กับจอแสดงผลโดยจะมีคำสั่งต่างๆ ที่สามารถมองได้อย่างชัดเจน

“บนจอแสดงผลของวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะนี้ จะมีสัญลักษณ์คำสั่งต่างๆ ที่จะให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ ด้วยการมองไปยังสัญลักษณ์นั้น เพื่อสั่งงานตามความต้องการ ทั้งนี้ผู้ใช้ยังสามารถลิงก์เข้ากับระบบบ้านอยู่อาศัยแบบสมาร์ท โฮม โดยจะมีคำสั่งบนหน้าจอที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมา ที่จะสามารถควบคุมระบบไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น เปิด-ปิดประตูบ้าน โคมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลผู้ป่วย ผ่านการส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ดูแลผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ หรือเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้น”