posttoday

สมาร์ทโฟนหนุน ฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่ง

23 กุมภาพันธ์ 2561

ข้อมูลจากรายงานของเว็บไซต์ We Are Social ระบุว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถึง 70% และใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 14 นาที/วัน

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ข้อมูลจากรายงานของเว็บไซต์ We Are Social ระบุว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถึง 70% และใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 4 ชั่วโมง 14 นาที/วัน

ทั้งนี้ สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมสำหรับการฟังเพลงที่ 22% รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ที่ 6% และแท็บเล็ต 3% สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนฟังเพลงในยุคนี้ได้เปลี่ยนสู่ยุคสตรีมมิ่งแบบเต็มตัว

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) และ ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย กล่าว ว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการจุ๊คซ์มา 2 ปีเข้าสู่ปีที่ 3 ต้องยอมรับว่าบริการของบริษัทเติบโตขึ้นเร็วมาก อาจเพราะเทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การฟังเพลงสะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา จุ๊คซ์มียอดจำนวนครั้งดาวน์โหลดสูงถึง 50 ล้านครั้งแล้ว เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบ กับปี 2559 และมียอดการฟังแบบ สตรีมมิ่งสูงถึง 2,000 ล้านสตรีม ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าภาพรวมของธุรกิจเพลงได้เปลี่ยนไปแล้ว จากการฟังผ่านเทป หรือซีดี มาเป็นการดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่อง จนถึงการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่อง รวมทั้งเปิดกว้างเรื่องเทรนด์การฟังเพลงใหม่ๆ ทั้งเพลงอินดี้ เพลงต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการที่แตกต่างกัน

ตัวเลขจาก IFPI บอกว่า รายได้ของอุตสาหกรรมการฟังเพลงลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2544 ตัวเลขอยู่ที่ 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2559 อยู่ที่ 5,400 ล้านดอลลาร์ โดยมีตัวเลขจากการฟังเพลงแบบดิจิทัลเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ทำให้ขณะนี้การฟังเพลงแบบดิจิทัลตัวเลขอยู่ที่ 7,800 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าการฟังเพลงแบบเดิม

ทั้งนี้ จุ๊คซ์มั่นใจว่าเป็นแพลตฟอร์มการฟังเพลงเบอร์ 1 ของไทย ที่มีมากที่สุดทั้งจำนวนเพลง ผู้ใช้งานและศิลปินในระบบ ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ถือว่าเป็น ฟันเฟืองที่สำคัญที่ให้ธุรกิจนี้เติบโต และโตกว่าคู่แข่งในตลาดถึง 3 เท่าด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จุ๊คซ์จะเดินหน้าต่อในปีนี้คือ การเข้าถึงผู้ใช้งานให้มากขึ้น ทั้งการหาเพลงเข้าระบบให้มากขึ้น สร้างอีเวนต์ตามมหาวิทยาลัยและร่วมมือกับพาร์ตเนอร์แบบ O2O (ออฟไลน์สู่ออนไลน์) ในการเข้าถึงคนฟังให้มากขึ้น และเชื่อมแพลตฟอร์มที่มีในมือให้เป็นมากกว่าแค่ฟังเพลงเพียงอย่างเดียว

ทางด้านของสปอติฟายผู้ให้บริการด้านการฟังเพลงจากต่างประเทศที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยได้เพียง 1 ปีนั้น ยังคงเดินหน้าหาเพลงไทยยอดนิยม เพื่อให้บริการแก่นักฟังเพลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถึงแม้จะมีเพลงต่างชาติมากถึง 30 ล้านเพลง สมาชิกกว่า 70 ล้านคน ใน 61 ประเทศทั่วโลก แต่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ยังนิยมฟังเพลงจากศิลปินในประเทศตนเองมากกว่า

ทั้งนี้ ด้วยพฤติกรรมของการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป ผู้ให้บริการเพลงก็เปลี่ยนมือจากการผลิตแผ่นมาเป็นผลิตแพลตฟอร์มมากขึ้น สิ่งที่ต้องเร่งสร้างอย่างแน่นอนคือ สร้างจิตสำนึกให้คนเลิกซื้อและฟังเพลงเถื่อนให้ได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงอยู่รอดแล้ว ยังช่วยสร้างคุณภาพของคนให้ดีขึ้นด้วย