posttoday

'ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง' นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

17 กุมภาพันธ์ 2561

อุบัติเหตุและอุบัติภัย นับเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และพยายามปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

โดย วราภรณ์ 

 อุบัติเหตุและอุบัติภัย นับเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และพยายามปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

 ด้วยเหตุนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดงาน “Enjoy Science : Young Makers Contest ปี 2”

 เชิญชวน “เมกเกอร์” (Makers) หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรมรุ่นใหม่ ในระดับนักเรียน-นักศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา เข้าร่วมการประกวดในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคม

 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประกวดครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างความสนใจให้กับเยาวชนในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็ม อันเป็นรากฐานสำคัญของการผลักดันประเทศไทยสู่ “เมกเกอร์ เนชั่น” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล เพราะเมกเกอร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

'ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง' นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

 สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนักเรียนนักศึกษาสายสามัญ ได้แก่ ผลงาน “BCC E-TM (Bangkok Christian College Electronic Traffic Management)” โดยนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสายอาชีพ ได้แก่ ผลงาน “ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง” โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งนักเรียน-นักศึกษาเจ้าของผลงานชนะเลิศแต่ละประเภท ได้รับทุนการศึกษาและทริปร่วมงาน Maker Faire Bay Area มหกรรมแสดงผลงานของเมกเกอร์ระดับโลกที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท

 ด้าน เตมีย์ เนตรพุกกณะ อายุ 21 ปี และ วีระพล บุญจันทร์ นักนักศึกษาชั้น ปวส.2 แผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ผู้ชนะเลิศสายอาชีวศึกษา กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง เกิดจากด้วยญาติของเขาทำอาชีพประมง ซึ่งเขาก็ไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ เขาและเพื่อนจึงเล็งเห็นว่า ทุ่นทะเลแบบเดิมสามารถใช้ได้เพียงตอนกลางวัน ทำให้บางครั้งเกิดอุบัติเหตุในตอนกลางคืน เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข

 เขากับเพื่อนจึงพัฒนาผลงาน “ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนามาจากงานของรุ่นพี่ กลายเป็นทุ่นที่มีแสงไฟ สามารถใช้คลื่นที่มีอยู่แล้วในทะเลมาทำให้เจเนอเรเตอร์ (มอเตอร์ของเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่) เกิดการหมุนและผลิตเป็นพลังงานสำหรับแสงไฟตอนกลางคืนได้

 “วัสดุอุปกรณ์ที่พวกผมใช้ประกอบขึ้นมา ได้แก่ สเตนเลสแบบบาง เคลือบด้วยไฟเบอร์กลาสทาด้วยสีทาเรือ ข้างในเป็นเจเนอเรเตอร์ เวลาคิดค้นชิ้นงานนี้ประมาณ 3 เดือน เป็นการพัฒนางานของรุ่นพี่ที่คณะคิดไว้แล้วเรามาต่อยอด รุ่นพี่คิดเป็นทรงกลม เล็กกว่านี้และผลิตไฟได้น้อยกว่า หลักการทำงานต่างกัน

'ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง' นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

 เดิมเขาทำงานเหมือนมอเตอร์ปั่นไฟขนาดเล็ก ข้างในใช้สลิงดึงตุ้มถ่วงไว้ในทะเล เวลาที่มีคลื่นรอกจะดึงตุ้มลง จนเกิดการปั่นกลายเป็นพลังงาน แต่ขณะที่รอกดึงกลับพลังงานจะไม่เกิด ผมกับเพื่อนจึงพัฒนาเปลี่ยนกลไกจากใช้รอก มาเป็นปีกพยุงตัวทุ่น ปีกจะมีข้อต่อจากกลไกเรียกว่าฟันเฟืองสเตอร์ทดรอก สเตอร์ทดรอกมี 2 ชุด เอาไปติดกับปีกข้างละชุดเพื่อที่ว่าเวลาคลื่นมากระทบปีก สเตอร์จะไปหมุนเจเนอเรเตอร์ให้หมุนปั่นผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้กำลังไฟฟ้าแรง และทั้งสองข้างแยกการทำงานอย่างอิสระทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้ไม่ว่าข้างใดข้างหนึ่งเกิดการกระทบกับคลื่นก็ตาม 

 ที่สำคัญคือในตัวทุ่นมีระบบจีพีเอสระบุตำแหน่งของทุ่น ช่วยเรือลำใหญ่ๆ เขาจะเห็นทุ่นได้จากจอในเรือ หน้าจอในเรือจะสามารถจับสัญญาณจีพีเอสได้ ทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุ

 นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยการทำงานของยามชายฝั่ง ตรงที่ว่าทุ่นเราติดอัลตราโซนิคตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เข้าใกล้ทุ่น เช่น เรือ ยามชายฝั่งจะรู้ เพราะระบบจะตรวจจับมีวัตถุเข้ามาใกล้ทุ่นมากเกินไป ซึ่งทุ่นจะวางใกล้ๆ กับหินโสโครกยามชายฝั่งจะได้เตือนเรือลำนั้นได้ อาจวิทยุบอกไปว่าให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ หรือไม่ก็อาจส่งหน่วยออกไปสกัดไว้ ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุสำหรับชาวประมงและผู้สัญจรทางน้ำได้” เตมีย์เล่า และบอกต่ออีกว่า เขาคาดหวังว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จะช่วยชาวประมงด้านความปลอดภัยในการใช้เรือสัญจรทางน้ำ เพราะจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้