posttoday

เครือสหพัฒน์ลุยปั้นเว็บ "ไทยแลนด์เบสต์" ดันยอดอีคอมเมิร์ซ

30 มกราคม 2561

เครือสหพัฒน์วางแผนปรับอี-คอมเมิร์ซใหม่ โดยทำให้เว็บไซต์ไทยแลนด์เบสต์ กลายเป็นช็อปปิ้งมอลล์ออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าไว้อย่างครบครัน

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

เครือสหพัฒน์ ถือเป็นอีกบริษัทหนึ่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจสินค้าแฟชั่นไทย ที่เริ่มขับเคลื่อนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้ยอดขายทางออนไลน์ยังคงเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของรายได้โดยรวม ซึ่งการจับมือร่วมกับลาซาด้า ทำให้สหพัฒน์เรียนรู้ระบบและค่อยๆ ทรานส์ฟอร์มองค์กรจำนวนมาก เพื่อรุกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างจริงจัง

สุรัตน์ วงศ์รัตนภัสสร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า เครือสหพัฒน์วางแผนปรับอี-คอมเมิร์ซใหม่ โดยสร้างเว็บไซต์ไทยแลนด์เบสต์ ช็อปปิ้งมอลล์ (www.thailandbest.in.th) ของเครือสหพัฒน์ ให้กลายเป็นช็อปปิ้งมอลล์ออนไลน์ที่รวบรวมสินค้าไว้อย่างครบครันหลากหลายหมวดหมู่ นอกจากเหนือของสินค้าอุปโภคบริโภค ยังรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์

ทั้งนี้ ในช่วงกลางปีนี้ บริษัทจะโยกสินค้าที่อยู่บนเว็บไซต์ฮีสแอนด์เฮอร์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในเครือ แต่มีจุดเด่นคือมีสินค้าหลากหลายนอกเครือมาจำหน่าย อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์สำหรับรถยนต์ สินค้าไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เดินทางและการท่องเที่ยว มารวมไว้ภายในเว็บไซต์ไทยแลนด์เบสต์ฯ เพื่อนำสินค้าที่ในเครือไม่มีจำหน่ายมารวมไว้และเพื่อเสริมสร้างให้อี-คอมเมิร์ซของเครือให้มีความแข็งแกร่ง

“ที่ผ่านมาในเครือมีเว็บไซต์ถึง 4 เว็บไซต์ ได้แก่ ไทยแลนด์เบสต์ ช็อปปิ้งมอลล์ จำหน่ายสินค้าในเครือสหพัฒน์ทั้งหมด ส่วนไลอ้อน จำหน่ายสินค้าอุปโภค ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำหน่ายสินค้าแฟชั่นทั้งผลิตเองและเป็นตัวแทนจำหน่าย ส่วนฮีสแอนด์เฮอร์ช็อปสมาร์ท จำหน่ายสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์”

ดังนั้น การปรับครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดความซ้ำซ้อนของเว็บไซต์ในเครือ กำหนดเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน และต้องการผลักดันให้ไทยแลนด์เบสต์ฯ เป็นเว็บไซต์เรือธงของเครือ จากขณะนี้มีคนติดตามเว็บไซต์ราว 6 ล้านคน ส่วนฮีสแอนด์เฮอร์ราว 8 หมื่น-1 แสนคน

อย่างไรก็ดี ไทยแลนด์เบสต์ฯ ถือว่าเป็นตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของเครือสหพัฒน์และคนจำนวนมากรู้จักเป็นอย่างดี เพราะที่มาของโครงการไทยแลนด์ เบสต์ (Thailand Best) เริ่มต้นในช่วงปี 2540 จากสถานะการวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งทางภาครัฐและเอกชนมีแนวทางที่จะให้คนไทยร่วมแรงร่วมใจกันหันมาอุปโภคบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เครือสหพัฒน์จึงหันมารณรงค์ให้ใช้สินค้าที่ผลิตในไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย เพื่อเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ภายใต้โครงการ ไทยแลนด์ เบสต์

เครือสหพัฒน์ลุยปั้นเว็บ "ไทยแลนด์เบสต์" ดันยอดอีคอมเมิร์ซ

ขณะที่การดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของเครือสหพัฒน์ จะวางให้ไทยแลนด์เบสต์ฯ คือช็อปปิ้งมอลล์ออนไลน์ ที่รวบรวมสินค้าไว้อย่างครบครัน สามารถซื้อสินค้าสบายตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าคุณภาพดีในราคาที่คุ้มค่า เพราะบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยตรงจากเครือ “สหพัฒน์” และนอกจากอี-คอมเมิร์ซในเครือแล้ว บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับคู่ค้าอย่างมาร์เก็ตเพลส อาทิ ลาซาด้า ลุคสิ เพื่อทำให้สินค้าของเครือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม

สำหรับเป้าหมายรายได้ของเครือสหพัฒน์ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซปีนี้ราว 600 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้เว็บไซต์ในเครือ 200 ล้านบาท จากในปีที่ผ่านมารายได้ราว 100-150 ล้านบาท และจากทีวีช็อปปิ้ง 300-400 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าผลักดันรายได้จากเว็บไซต์ภายในเครือเพิ่มจาก 20% เป็น 50% ส่วนเว็บไซต์คู่ค้าหรือมาร์เก็ตเพลสจาก 80% เป็นเหลือ 50% ซึ่งหลังจากยกเครื่องเว็บไซต์ไทยแลนด์เบสต์ฯ จะผลักดันให้จำนวนผู้ซื้อสินค้าเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย

นอกจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เครือสหพัฒน์ปักธงบุกแล้ว ที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ยังเป็นองค์กรที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น นำหุ่นยนต์นักขายมาบริการร้านแอร์โรว์ สาขาเทอร์มินอล 21 การเปิดตัว ICC App เป็นช่องทางการให้ข้อมูลสินค้าและโปรโมชั่นต่างๆ เชื่อว่าในปีนี้ เครือสหพัฒน์ คงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สำหรับการนำสินค้าจำหน่ายหรือการให้บริการอีกมากมายอย่างแน่นอน