posttoday

'ไอทียู'เคาะ ย่านความถี่รุกบริการ5จี

23 มกราคม 2561

ไอทียูเสนอใช้คลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ในบริการ 5จี "ฐากร" ชี้ไม่กระทบบริการในไทย

ไอทียูเสนอใช้คลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ในบริการ 5จี "ฐากร" ชี้ไม่กระทบบริการในไทย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้จัดประชุมในหัวข้อ "รับผิดชอบการหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม สำหรับร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม (ไอเอ็มที) ในอนาคต" ได้มีมติให้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับบริการ 5จี เพื่อรองรับการใช้งานข้อมูล (ดาต้า) ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการและลงสัตยาบันร่วมกันในเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 27000-31000 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการดาวเทียม ซึ่งการประกาศใช้งานคลื่นความถี่ 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับบริการ 5จี ของไอทียู จะไม่กระทบต่อการใช้งานเดิม เนื่องจากในกิจการดาวเทียมยังมีการใช้งานจำนวนไม่มาก สามารถใช้งานคลื่นความถี่ซ้ำได้ ดังนั้นคลื่นความถี่ย่าน 27000- 28000 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทั่วโลกใช้ในกิจการดาวเทียมทั้งหมด จึงไม่มีปัญหาต่อการประกาศใช้ สำหรับบริการ 5จี

ขณะที่ประเทศสมาชิกไอทียู 80% รวมถึงไทยเห็นด้วยกับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับบริการ 5จี ทางด้านคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไทยจัดสรรรองรับกิจการโทรคมนาคม ที่รวมถึงบริการ 5จี ในอนาคต สามารถใช้งานควบคู่กับบริการ 5จี บนคลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ได้ เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น อีกทั้งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไอโอที (อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์) ในด้านการใช้งานดาต้า

"ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้คลื่นความถี่ย่าน 27000-28000 เมกะเฮิรตซ์ ในกิจการดาวเทียม จึงไม่มีปัญหาต่อการประกาศใช้ในบริการ 5จี ครั้งนี้ แต่จะ ยิ่งทำให้การใช้งาน 5จี มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายฐากร กล่าว