posttoday

สื่อโซเชียลพลิกเกม กดหน้าใหม่ทำเงินยาก

20 มกราคม 2561

หลัง “เฟซบุ๊ก” ประกาศยกเครื่องการแสดงคอนเทนต์หน้า “นิวส์ฟีด” ลดการมองเห็นของเพจธุรกิจ แบรนด์ หรือสื่อ ก็ถึงคราว “ยูทูบ” ปรับเงื่อนไขการทำเงินจากวิดีโอที่เผยแพร่บนเว็บ

โดย..ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

หลัง “เฟซบุ๊ก” โซเชียลมีเดียยักษ์ยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก ประกาศยกเครื่องการแสดงคอนเทนต์ในหน้า “นิวส์ฟีด” เพื่อลดการมองเห็นของเพจธุรกิจ แบรนด์ หรือสื่อ ก็ถึงคราว “ยูทูบ” เว็บไซต์แชร์วิดีโอชื่อดังในเครือกูเกิล ปรับเงื่อนไขการทำเงินจากวิดีโอที่เผยแพร่บนเว็บ

การยกเครื่องใหญ่ของ 2 ยักษ์โซเชียลมีเดีย นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อวงการนักทำคอนเทนต์ออนไลน์ เพราะจะทำให้บรรดารายย่อยหาเงินได้ยากขึ้น ขณะที่เหล่าหน้าใหม่ต้องเผชิญแรงกดดันมากกว่าเดิมหากต้องการประสบความสำเร็จบนโลกโซเชียล

สำหรับเฟซบุ๊กนั้น จุดมุ่งหมายหลักในการปรับเปลี่ยนนิวส์ฟีดก่อนหน้านี้คือเพื่อเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น หลังมีเสียงเรียกร้องจากผู้ใช้ว่าเห็นคอนเทนต์จากธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ มากเกินไป

แม้เฟซบุ๊กเพิ่งประกาศนโยบายใหม่เมื่อไม่นานนี้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มลดการเข้าถึงผู้ใช้ของเพจธุรกิจและสื่อต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว โดย ฟราส ดอท แอลวาย บริษัทวิจัยสื่อออนไลน์จากสหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดการคลิกเข้าเว็บไซต์จากเฟซบุ๊ก (Referral Traffic) ของเพจต่างๆ ลดลง 25% จากปีก่อนหน้า ในช่วงเดือน ก.พ.-ต.ค. 2017 โดยยอดคลิกดังกล่าวที่ลดลงย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจลงโฆษณาในเพจ ซึ่งกระทบต่อการทำรายได้จากโฆษณาโดยตรง

ขณะที่ยูทูบนั้นมีท่าทีที่ชัดเจนกว่าเฟซบุ๊ก จากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์สมัครเข้า “โปรแกรมพันธมิตร” (YouTube Partner Program) จากเดิมที่ช่องบนเว็บไซต์ต้องมียอดวิวสะสมทั้งหมด 1 หมื่นวิว มาเป็นต้องมียอดวิวมากกว่า 4,000 ชั่วโมงภายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และต้องมีผู้กดติดตามอย่างน้อย 1,000 คนขึ้นไป หมายความว่า ถ้าช่องไม่สามารถทำได้ครบตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง จะทำเงินจากโฆษณาไม่ได้อีกในอนาคต

เงื่อนไขใหม่ดังกล่าวซึ่งจะเริ่มมีผลนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. เพิ่มแรงกดดันต่อช่องขนาดเล็กและช่องใหม่ๆ บนยูทูบโดยตรง โดยคาดว่าจะกระทบต่อช่องขนาดเล็กถึง 99% ที่ทำเงินได้น้อยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 3,188 บาท) และ 90% ของช่องที่มีรายได้จากโฆษณายูทูบไม่ถึง 2.50 ดอลลาร์ (ราว 80 บาท) เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ไม่เพียงแค่เงื่อนไขการทำเงินจะยากยิ่งขึ้นเท่านั้น นักทำคอนเทนต์ออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้การแข่งขันชิงยอดวิวและยอดผู้ติดตามบนยูทูบยากขึ้นตามไปด้วย โดยเอนเทรอเพรอเนอร์ เว็บนำเสนอข่าวสารธุรกิจ เปิดเผยว่า จำนวนช่องบนยูทูบเพิ่มขึ้นมา 40% จากปี 2016 มาอยู่ที่กว่าหลักหลายแสนช่องแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

รุกขจัดคอนเทนต์ล่อแหลม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สื่อโซเชียลใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและยูทูบลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มมาจากความต้องการปราบปรามคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงหรือรุนแรง โดยตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประสบปัญหา “ข่าวปลอม” แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องจนสร้างเสียงโจมตีจากหลายฝ่าย ขณะที่เนื้อหาปลุกระดมความรุนแรงจากกลุ่มสุดโต่ง และถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech นั้น ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (อียู) กดดันให้เฟซบุ๊กและยูทูบเร่งจัดการประเด็นดังกล่าว

แม้สื่อโซเชียลเริ่มพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยล่าสุดนั้น โลแกน พอล ยูทูบเบอร์ชื่อดังเผยแพร่วิดีโอป่าฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวในประเทศ หรือก่อนหน้านี้ยังเคยมีกรณีพิวดี้พาย (PewDiePie) ยูทูบเบอร์ดังอีกรายโพสต์คลิปเหยียดเชื้อชาติ จนกลายเป็นประเด็นวิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์

นอกเหนือจากแรงกดดันของภาครัฐและคนทั่วไปแล้ว ความไม่พอใจของภาคธุรกิจทำให้สื่อโซเชียลต้องหาทางบรรเทาปัญหาโดยด่วน โดยเฉพาะยูทูบที่เผชิญกรณีแบรนด์กว่า 250 รายแห่ถอดโฆษณาออกจากแพลตฟอร์มเมื่อปีที่ผ่าน เนื่องจากหลายแบรนด์พบว่าโฆษณาไปปรากฏบนวิดีโอของกลุ่มหัวรุนแรงและวิดีโอล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งเหตุครั้งนั้นคาดว่าทำให้รายได้จากโฆษณาของยูทูบหายไป 750 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท)

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยูทูบประกาศว่านับตั้งแต่เดือน มี.ค.จะใช้ทีมงานกว่า 1 หมื่นคนตรวจสอบวิดีโอในโปรแกรม Google Preferred หรือช่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนยูทูบ คิดเป็นสัดส่วน 5% ของคอนเทนต์ทั้งหมด และขายโฆษณาในราคาสูงกว่า

การเดินหน้าปรับกลยุทธ์ใหม่ของสื่อโซเชียลจึงทำให้ทุกฝ่ายที่ต้องการใช้ช่องทางดังกล่าวเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างรายได้ จำเป็นต้องระดมกำลังหาทางปรับตัวอย่างเร่งด่วน