posttoday

กวาดสตาร์ทอัพพลัดถิ่น หวังสูซิลิคอนวัลเลย์

01 มกราคม 2561

เมื่อศูนย์กลางเมืองเทกสตาร์ทอัพอย่างซิลิคอนวัลเลย์ไม่ดึงดูดเหมือนในอดีต ไทยก็หวังคนกลุ่มนี้มาหนุนภาพ 4.0

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ถ้าพูดถึงซิลิคอนวัลเลย์คงนึกถึงศูนย์กลางแห่งสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามปั้นซิลิคอนวัลเลย์ในประเทศของตนขึ้นมา เพื่อกวาดสตาร์ทอัพชั้นนำระดับโลกที่ออกมาหาโอกาสนอกประเทศ พร้อมสิ่งดึงดูดใจมากมาย และไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งปลายทางที่สตาร์ทอัพต้องการเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย เล่าว่า สตาร์ทอัพไทยในวันนี้มองเรื่องเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น และบริหารการตลาดดีขึ้น รวมทั้งเจาะอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เฮลท์แคร์ อาหาร แม้ว่ารอบปีที่ผ่านมากลุ่มฟินเทคจะบูมมาก แต่กลุ่มไบโอเมตริกซ์และอาหารก็เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน

ทั้งนี้ กลุ่มสตาร์ทอัพระดับโลกชั้นนำที่เดินทางเข้ามาในไทยนั้น สนใจอยากลงทุนและหาความรู้ในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น เพราะต่างชาติไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของไทยมากพอ ทำให้การปรับตัวหลายอย่างต้องมีผู้ชี้แนะ

ด้าน อมฤต เจริญพันธ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ฮับบ้า เสริมว่า แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการโอกาสและอีโคซิสเต็มส์อีกหลายอย่าง ต้องยอมรับว่าในระยะหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีความพร้อมหลายอย่าง แต่ก็ยังขาดเรื่องความรู้รอบด้านในการทำธุรกิจและโอกาสเข้าถึงลูกค้าในระดับโลก

นอกจากนี้ กลุ่มสตาร์ทอัพไทย ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนมาก ในขณะที่หัวเมืองใหญ่อย่างเช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา กลับมีสตาร์ทอัพจากต่างประเทศย้ายถิ่นฐานมาสร้างโอกาสในการทำธุรกิจที่ไทยมากขึ้น แต่ก็ยังติดในเรื่องวีซ่าในการทำงานและข้อกฎหมายหลายอย่าง ทำให้มีข้อจำกัดในการพำนักและเดินหน้าธุรกิจต่อได้

ปัจจุบันสตาร์ทอัพในไทยที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่อยู่ที่ 5 แสนราย แต่อยู่รอดได้จริงๆ เพียงแค่ 8,000 ราย และยังเดินหน้าธุรกิจอย่างจริงจัง รวมทั้งมีเพียง 100 รายเท่านั้น ที่สามารถระดมทุนได้และเดินหน้าลงทุนโอกาสใหม่ๆ

ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค มองว่า แนวทางการปั้นสตาร์ทอัพของไทยต่างกับในประเทศ อื่นๆ ที่มุ่งเน้นให้คนที่มีประสบการณ์มาทำธุรกิจ แต่ในไทยหวังปั้นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและยังไม่มีอาชีพรองรับ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนรุ่นใหม่นั้นไม่มีประสบการณ์ในปัญหาและความรู้เชิงลึกที่ดีพอ จึงทำให้ส่วนใหญ่เป็นการคิดแอพด้านการตลาด

ในขณะที่ต่างประเทศ คนที่พร้อมเป็นสตาร์ทอัพคือคนที่เข้าใจปัญหา มีความรู้มากพอ รวมทั้งมีการหาช่องทางเงินทุนได้เอง ยกตัวอย่าง แจ็ค หม่า จากอาชีพครูและเจอปัญหา จึงคิดที่จะทำอี-คอมเมิร์ซขึ้นมา ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการสั่งซื้อและจัดส่งในระยะทางไกลได้แบบรวดเร็ว ทำให้มีโอกาสและอี-คอมเมิร์ซในจีนก็บูมมาก

การจะปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดได้นั้น ไม่ใช่แค่มีไอเดีย แต่ต้องมองให้รอบด้าน ต้องคิดและวิเคราะห์ตลาดให้เป็น ถึงจะทำให้นักลงทุนเชื่อถือและลูกค้าอยากซื้อสินค้าได้ ถ้ามีองค์ประกอบครบ ธุรกิจก็เกิดได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กเรียนจบใหม่เป็นสตาร์ทอัพไม่ได้ เพราะมีเด็กไทยหลายคนที่ถูกสร้างมาให้พร้อมทำธุรกิจได้ อาจเป็นคนที่ครอบครัวมีธุรกิจมาก่อน มีการเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจมา เมื่อเจอกับคนที่เก่งด้านเทคโนโลยี การปั้นธุรกิจให้สำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แม้ว่าภาพของสตาร์ทอัพในไทยจะอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือการเงินมากกว่าการเป็นอิสระ แต่ฐนสรณ์มองว่า ธุรกิจโทรคมนาคมต้องให้บริการอินเทอร์เน็ตและตามเทรนด์เทคโนโลยีให้ทัน เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า จึงต้องการเครื่องมือหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ จึงลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพและเดินหน้าเรื่องนี้ก่อน

เช่นเดียวกับธุรกิจการเงินที่มองอนาคต ก็ทราบว่าฟินเทคจะเข้ามาดิสรัปตนเอง จึงต้องปรับตัว มองกลยุทธ์และหาโอกาสก่อน แต่เชื่อว่าภาพของการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพในอนาคตจะเปลี่ยนไป และผู้นำในตลาดนี้ก็จะเข้าถึงทุกอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะทุกธุรกิจต่างก็ต้องการนวัตกรรมและเครื่องมือมาใช้ในธุรกิจให้เดินหน้า

นอกจากนี้ การที่ทรูจับมือกับแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ทำทรูดิจิทัลพาร์คขึ้นมา ก็เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์ให้รองรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ทั้งไทยและต่างชาติสามารถใช้งานพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันได้ รวมทั้งดึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ วีซี สตาร์ทอัพรุ่นพี่ให้เข้ามาอยู่ภายในโครงการ เพื่อช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน กลายเป็นอีโคซิสเต็มส์ที่สมบูรณ์แบบ จะเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2561

การเดินหน้าสตาร์ทอัพในปีหน้าจะร้อนแรงหรือเงียบเหงาต้องจับตายาวๆ เพราะหลายสตาร์ทอัพที่ผ่านเวทีประกวดใช่ว่าจะไปรอดทุกราย และหายไปจากตลาดเพราะทำธุรกิจไม่เป็นก็มีไม่น้อย