posttoday

ITC Cooling Batt Building อาคารแบตหนึ่งเดียวในโลก

23 ธันวาคม 2560

วิศวกรไทยเจ้าของรางวัลระดับโลก จากกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบทำความเย็นถนอมอาหาร เจ้าของรางวัลชนะเลิศ “เทคโนโลยีอะวอร์ด”

โดย กองทรัพย์

 วิศวกรไทยเจ้าของรางวัลระดับโลก จากกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบทำความเย็นถนอมอาหาร เจ้าของรางวัลชนะเลิศ “เทคโนโลยีอะวอร์ด” หมวดอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตจากสมาคมแอชเร่ย์ (ASHRAE) สหรัฐอเมริกา ในปี 2552 จากสมาคมทางวิชาการด้านวิศวกรรมการปรับอากาศและทำความเย็นระดับโลก

 เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานของบริษัท ไอ.ที.ซี. กับสำนักงานประหยัดพลังงานแห่งใหม่ “Cooling Batt Building by ITC” บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 3,000 ตร.ม. ภายใต้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 120 ล้านบาท กับอาคารที่มีแบตเตอรี่กักเก็บความเย็น หรือถังกักเก็บความเย็นหนึ่งเดียวในโลก ที่ติดตั้งระบบทำความเย็น “Cooling Batt” และชุดระบายความร้อน “Fanless Evaporative Condenser”

 นวัตกรรมที่ไม่ต้องใช้พัดลมเป็นครั้งแรกของโลก ต้นแบบรักษ์พลังงาน สำหรับการศึกษาและเรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดการพลังงานเพื่อต่อยอดไปสู่การจัดสรรการใช้พลังงานในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการจุดประกายให้คนไทยคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยในการประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคต

 อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. กล่าวว่า “Cooling Batt by ITC นิยามที่ใช้เรียกอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. เปรียบเสมือนอาคารที่มีแบตเตอรี่กักเก็บความเย็นหรือถังกักเก็บความเย็น

ITC Cooling Batt Building อาคารแบตหนึ่งเดียวในโลก

 

 "อาคาร Cooling Batt แห่งนี้เป็นอาคารหนึ่งเดียวในโลกที่มีความพิเศษเฉพาะตัว 2 ประการ คือ ใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ อาศัยหลักการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีปริมาณมากเกินสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติมาใช้เป็นสารทำความเย็น ช่วยลดปัจจัยอันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน

 รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางวิศวกรรมทำความเย็น 'Fanless Evaporative Condenser' การระบายความร้อนของระบบทำความเย็นโดยไม่ใช้พัดลม แต่ใช้หลักการนำพาความร้อนออกไปจากระบบทำความเย็น โดยภูมิปัญญาของมนุษย์และกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ลมบก ลมทะเล" 

 สำหรับระบบทำความเย็นของอาคาร Cooling Batt  อภิชัย ขยายความรู้ว่ามีการทำงานพื้นฐานไม่ต่างจากระบบทำความเย็นปรับอากาศทั่วไปที่ใช้ฟรีออนเป็นสารทำความเย็น โดยกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. นำคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้ในกระบวนการกักเก็บไว้ใน Cooling Batt เป็นสารทำความเย็นให้แก่น้ำ

 "สะสมความเย็นเปลี่ยนน้ำให้เป็นน้ำแข็งด้วยพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนที่อัตราค่าไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งการสะสมความเย็นในรูปของน้ำแข็งนั้นจะเพียงพอกับการปรับอากาศช่วงเวลากลางวัน เมื่อต้องการทำความเย็นระบบปรับอากาศจะปั๊มหมุนเวียนน้ำเข้า-ออก Cooling Batt ละลายน้ำแข็งเป็นน้ำเย็นไปแจกจ่ายความเย็นตามจุดต่างๆ ภายในอาคาร"         

ITC Cooling Batt Building อาคารแบตหนึ่งเดียวในโลก

                                

 

 อภิชัย ย้ำว่า กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ต้องการสร้างอาคาร Cooling Batt เป็นอาคารต้นแบบ เพื่อตอบโจทย์สังคมว่าแท้จริงแล้วเราสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ปล่อยออกสู่บรรยากาศได้ โดยนำมาเป็นสารทำความเย็นในระบบปิด

 "คาร์บอนไดออกไซด์มีราคาถูกกว่าสารฟรีออน แต่ให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นไม่แตกต่างจากสารอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในระบบปรับอากาศทั่วไป เช่น R22 ซึ่งเป็นสาร Hydrochlorofluorocarbon (HCFC) ที่ส่งผลเสียก่อให้เกิดการทำลายชั้นโอโซน รังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรด ส่องผ่านลงมายังพื้นโลกมากขึ้น และกีดขวางไม่ให้แผ่รังสีออกไปจากชั้นบรรยากาศโลกได้เช่นกัน สารทำความเย็นดังกล่าวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจึงเป็นอีกปัจจัยทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในทางตรงกันข้าม CO2 ส่งผลดีต่อระบบนิเวศของโลก CO2 เป็นสารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่า Ozone Depleting Potential (ODP) และ Global Warming Potential (GWP) ต่ำ

 เมื่อนำสารทำความเย็นคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ควบคู่กับการสะสมพลังงานความเย็นด้วย Cooling Batt ผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่ Fanless Evaporative Condenser  กระบวนการทำความเย็นระบบปรับอากาศจึงมีสมรรถนะสูง Coefficient of Performance (COP) และประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนที่โรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อย และนำความเย็นที่สะสมไว้มาใช้ในช่วงเวลากลางวันโดยใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงระหว่างวันไม่เกิน 25% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบ Split Type หรือ Chiller จึงช่วยลดภาระการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศในช่วง On Peak และช่วยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้งานได้" 

 ทางด้าน ดร.อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. กล่าวเสริมว่า นอกจากการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบปรับอากาศดังกล่าวแล้ว อาคารนี้ยังได้คำนึงถึงการใช้แสงอาทิตย์จากภายนอกมาใช้ส่องสว่างภายในอาคาร

ITC Cooling Batt Building อาคารแบตหนึ่งเดียวในโลก

 

 "โดยพื้นที่ติดตั้ง Cooling Batt บริเวณส่วนกลางอาคารถูกออกแบบเป็นช่องโล่งช่วยให้ความสว่างส่องเข้าภายในอาคารได้อย่างทั่วถึง ลดการใช้หลอดไฟส่องสว่างภายในบริเวณอาคารส่วนสำนักงานทั้งหมด อาคาร Cooling Batt จึงเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการพลังงานของกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ที่นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ยังไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน

 เป็นอาคารต้นแบบที่มีส่วนช่วยให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม มีพลังงานไฟฟ้าสำรองอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการบริหารจัดการพลังงานของอาคาร Cooling Batt  ให้คุณประโยชน์กับทุกภาคส่วนในสังคม ใกล้ตัวที่สุดส่งผลดีทางตรงต่อผู้ใช้อาคาร สามารถคืนทุนได้ภายในระยะสั้น 4-5 ปี"

 ดร.อภิชิต กล่าวอีกว่า อาคาร Cooling Batt  ไม่เพียงแต่ช่วยให้การใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง แต่ยังสนับสนุนให้นำพลังน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้มากที่สุด 

 "เพราะพลังน้ำเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้ประเทศได้ผลดีในเรื่องคาร์บอนเครดิตตามมา ด้วยกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำซึ่งมีอยู่ถึง 3,400 เมกะวัตต์ สามารถใช้ปรับอากาศในอาคาร Cooling Batt ได้ถึง 22,667 อาคาร โดยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดวันละ 23.8 ล้านหน่วย (kW.h) เทียบเท่าปริมาณก๊าซธรรมชาติถึง 218 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่า 61.9 ล้านบาท/วันเลยทีเดียว

 ถ้าคิด 22 วันทำงาน ก็จะคิดเป็นค่าก๊าซธรรมชาติถึง 1,346 ล้านบาท/เดือน นี่คือส่วนต่างที่เราสามารถช่วยประเทศลดค่าพลังงานลงได้"