posttoday

"Brain Implant" อนาคตใหม่หยุดการฆ่าตัวตาย?

30 พฤศจิกายน 2560

การปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจและอารมณ์ ช่วยให้ผู้เข้ารับการทดลองสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

นับตั้งแต่ที่ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่างเทสลา ประกาศตั้งบริษัท Neuralink เพื่อคิดค้นวิธีการเชื่อมสมองมนุษย์เข้ากับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการฝังชิปเข้าไปในสมองมนุษย์ที่เรียกว่า “Brain Implant” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมองและสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่ออัพโหลดข้อมูลสำคัญๆ เข้าไปเพิ่มเติมได้ หลายฝ่ายต่างหยิบยกประเด็นการสร้างสมองกลอัจฉริยะ เพื่อยกระดับศักยภาพมนุษย์ให้ทัดเทียมกับเอไอขึ้นมาถกเถียงกันเป็นระยะ

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวกลับมาได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ทดลอง Brain Implant ซึ่งควบคุมและสั่งการโดยเอไอเป็นครั้งแรกกับมนุษย์

ทางหน่วยงานระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาทหารและอดีตทหารผ่านศึกที่ต้องทนทรมานกับโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ PTSD โดยทหารที่มีอาการ PTSD 20% เคยผ่านสมรภูมิรบในอิรักและอัฟกานิสถานมาก่อน และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าคนปกติ

สำหรับการทดลอง Brain Implant นั้น ทีมวิจัยจะใช้ชิปอัจฉริยะสั่งให้อัลกอริทึมเอไอตรวจจับรูปแบบการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเมื่อตรวจพบชิปดังกล่าวจะปล่อยคลื่นไฟฟ้ากระตุ้นให้สมองกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทีมวิจัยพบว่าการปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจและอารมณ์ ช่วยให้ผู้เข้ารับการทดลองสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นมาก

ด้าน เดอะ เนเจอร์ วารสารวิทยาศาสตร์สหรัฐ รายงานว่า ทางหน่วยงานทำการทดลองดังกล่าวกับทหาร 6 ราย ที่มีอาการลมชัก และก่อนหน้านี้ได้รับการฝังขั้วไฟฟ้าในสมองไว้แล้วเพื่อควบคุมการกำเริบของโรค

“ความน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการทดลองครั้งนี้คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำมาใช้กับสมองมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โลกของสมอง ทำให้เราได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง” เอ็ดเวิร์ด ชาง นักประสาทวิทยา หนึ่งในทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลฟอร์เนีย เปิดเผยกับเดอะ เนเจอร์

แม้ว่าการทดลองดังกล่าวจะน่าตื่นเต้นมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็ได้สร้างความวิตกเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมขึ้น จากการที่นักวิจัยสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกของผู้เข้ารับการทดลองได้ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับขอบเขตการนำ Brain Implant ไปใช้จริงในอนาคต 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุว่า การทดลองดังกล่าวอาจยังมีจุดอ่อนอยู่ เนื่องจากการทดลองใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุ้นสมองในช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง โดยดอกเตอร์อดัม เฮนส์ชเกอ นักจริยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากผลการทดลองการปล่อยคลื่นไฟฟ้า ผู้เข้ารับการทดลองมีอาการพูดจาติดขัด มีภาวะหลงลืม โดยบางรายมีอาการซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนมากกว่าเดิม

แม้ทดลองดังกล่าวยังไม่พร้อมใช้สำหรับแก้ไขปัญหา PTSD รวมไปถึงอาการซึมเศร้าที่เกี่ยวข้อง แต่เฮนส์ชเกอ ระบุว่า Brain Implant อาจนำไปใช้รักษาโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน

ภาพ เอเอฟพี