posttoday

คลังเร่งเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ คาดบังคับใช้ปี61

17 ตุลาคม 2560

คลังเดินเครื่อง รีดภาษีโซเชียลดัง คาดมีผลบังคับใช้ปีงบประมาณ 2561

คลังเดินเครื่อง รีดภาษีโซเชียลดัง คาดมีผลบังคับใช้ปีงบประมาณ 2561

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือภาษีอี-คอมเมิร์ซ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและมีผลบังคับใช้ให้ได้ปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรได้เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมาย หลังจากหลายปีที่ผ่านมาเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนมาก

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีอี-คอมเมิร์ซ กำหนดให้เก็บภาษีกับผู้ประกอบการนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ ไลน์ เป็นต้น จะมีการกำหนดอัตราเพดานสูงสุดไว้ในกฎหมาย ให้เสียภาษีหักที่จ่ายไม่เกิน 15% โดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งให้กรม สรรพากร อย่างไรก็ตามจะต้องมีการออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดอัตราที่แท้จริงอีกครั้ง ซึ่งจะมีหลายอัตราตามประเภทการประกอบธุรกิจ

นายสมชัย กล่าวว่า ปลายปีงบ ประมาณ 2560 ที่ผ่านมาทาง 3 กรมภาษีได้ทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งได้สั่งการให้นำมาใช้ในปีงบประมาณ 2561 ด้วย เพื่อให้การเก็บภาษีของ 3 กรมภาษี จะได้ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง จะทำให้การเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังได้สั่งการให้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้ามาในระบบและเสียภาษีจริงมากขึ้น ซึ่งมีการดำเนินมาตรการบัญชีเดียว การส่งเสริมให้บุคคลธรรมดามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษีกว่า 10 ล้านคน แต่มีการเสียภาษีจริงไม่ถึง 6 ล้านคน ส่วนนิติบุคคลมีอยู่ในระบบประมาณ 6 แสนราย และมีการเสียภาษีจริงไม่ถึงครึ่งเช่นกัน

สำหรับการเก็บภาษีของกรมศุลกากรก็ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง ที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งมีการใช้สิทธิภาษีนำเข้า 0% เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้มีการอุดช่องรั่วไหลการเก็บภาษีต่างๆ เพื่อให้การเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กรมสรรพากรมีเป้าหมายเก็บภาษี 1.9 ล้านล้านบาท กรมสรรพสามิต 6 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร 1.1 แสนล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2560 ยอดการเก็บภาษีรอบ 11 เดือนแรก กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 6.77 หมื่นล้านบาท กรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมาย 1.35 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตเก็บได้เกินเป้าหมาย 1.25 หมื่นล้านบาท ทำให้การเก็บภาษีรวมต่ำกว่าเป้าหมาย 6.87 หมื่นล้านบาท